ปัจจุบันชาวออสเตรเลียกำลังเผชิญกับความกดดันจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคออสเตรเลียยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7 ธนาคารกลางออสเตรเลียมีแผนจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.85) เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (ในระดับที่ร้อยละ 2-3) ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงราคาค่าเช่าที่พักอาศัยและดอกเบี้ยสินเชื่อ (บ้านและรถ) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผลให้เงินออมภาคครัวเรือนที่สะสมในช่วง COVID-19 ลดลงที่ร้อยละ 4.5 ประกอบกับภาคธุรกิจออสเตรเลียประสบปัญหาต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น (ค่าเช่า ค่า Suppliers และค่าจ้างแรงงาน) ท่ามกลางการบริโภคสินค้าแบบรัดเข็มขัด มีผลให้ภาคธุรกิจบางส่วนต้องปิดตัวลงหรือตัดลดแรงงานที่ไม่จำเป็นเพื่อใช้ระบบอัตโนมัติแทน ทำให้อัตราการว่างงานในออสเตรเลียเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.7 รวมถึงภาคธุรกิจค้าปลีกที่กำลังประสบปัญหายอดขายซบเซา เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาสินค้าเพียงร้อยละ 1 ส่งผลต่อความต้องการซื้อสินค้านั้นๆในร้านค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างชัดเจน ทำให้สินค้าไม่คงทนเน่าเสีย และต้องจำหน่ายในราคาถูกอย่างไม่มีทางเลือก เนื่องจากการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังที่เพิ่มมากขึ้น มีผลให้ผู้บริโภคออสเตรเลียจะซื้อสินค้าที่ทำโปรโมชั่นลดราคาเป็นหลัก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ผลสำรวจการใช้จ่ายของชาวออสเตรเลียโดยธนาคาร Commonwealth Bank พบว่า ผู้บริโภคกลุ่ม Millennials เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความกดดันของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดและมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากที่สุด (การใช้จ่ายลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปี 2565) รองลงมาคือ กลุ่ม Gen X และ Gen Z อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Baby Boomers เป็นกลุ่มที่ยังมีการใช้จ่ายคงที่แต่ก็ได้รับผลกระทบจากรายรับซึ่งเป็นเงินสวัสดิการที่จำกัด แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นตอนปลายและกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน (นักศึกษาจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์และมีอัตราการเติบโตของรายได้เป็นศูนย์)
ผลสำรวจ Living Cost Indexes (ค่าอาหาร ที่พักอาศัย คมนาคมขนส่ง ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายเอนกประสงค์และค่าภาษี ฯลฯ) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียไตรมาสเดือนมีนาคม พบว่า ค่าครองชีพของชาวออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นระหว่างร้อยละ 7.1-9.6 สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 7 โดยเฉพาะค่าครองชีพของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางเป็นกลุ่มที่มีค่าครองชีพสูงถึงร้อยละ 9.6 (ร้อยละ 30.8 ของรายได้ต้องใช้จ่ายไปกับค่าเช่าที่พักอาศัยที่ปรับเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม อัตราค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่ที่ครัวเรือนพักอาศัย
ล่าสุด Australian Energy Regulator ลงมติปรับเพิ่มค่าพลังงานไฟฟ้าสูงสุดถึงร้อยละ 25 โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ภาคครัวเรือนที่อาศัยในรัฐ New South Wales (NSW) South-east Queensland และ South Australia (SA) ต้องเผชิญกับบิลค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6-24.9 ในขณะที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะต้องเผชิญกับบิลค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 14.7-28.9 ทั้งนี้ อัตราการปรับเพิ่มขึ้นจะขึ้นอยู่กับแต่ละภูมิภาค
……………………………………………………………………..
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา :
Australia Financial Review
www.9news.com.au