IMF คาดเศรษฐกิจภาคที่ไม่ใช่น้ำมันของคูเวต ปี 2566 จะเติบโต 3.8%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ได้คาดการณ์การเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil) ของประเทศคูเวตว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 3.8 ในปี 2566 โดยได้รับแรงส่งจากการทำธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นทางการเงิน และการฟื้นตัวบางส่วนในการจ้างงานชาวต่างชาติ

รายงานระบุว่าคูเวตแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อจากราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกที่สูงขึ้น แต่รัฐบาลสามารถรับมือและควบคุมได้  โดยจัดการควบคุมราคาและใช้เงินงบประมาณอุดหนุนราคา ตลอดจนการคุมเข้มนโยบายการเงิน

ดุลการคลังของคูเวตพัฒนาขึ้น เนื่องจากการเกินดุลการคลังโดยรวมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ของ GDP ในปี 2565 จากเดิมร้อยละ 6.4 ในปี 2564

ในขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ของ GDP ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.6 ในปี 2564 ดังนั้นเสถียรภาพทางการเงินของประเทศยังมีความมั่นคง เนื่องจากภาคธนาคารยังคงรักษาระดับเงินทุนและสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ ฐานะเศรษฐกิจเเละการเงินระหว่างประเทศอยู่ในดุลยภาพ

 

ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของคูเวตอาจมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและการชะลอตัวของการเติบโตทั่วโลก เนื่องจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นของหลายประเทศซึ่งจะยังกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแรงกดดันในภาคการธนาคารของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา รายงานยังตั้งข้อสังเกตว่าบางประเทศมีความอ่อนไหวต่อความล่าช้าในการดําเนินการปฏิรูปทางการเงินและโครงสร้างที่จําเป็น ซึ่งอาจทําลายความไว้วางใจของนักลงทุน จํากัดความคืบหน้าในการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องชะลอแผนการลงทุนออกไป

รัฐบาลคูเวตกำหนดวิสัยทัศน์ชาติ 2030 (Vision 2035)  วางนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ  นโยบายแปรรูปกิจการของรัฐ (Privatization) นโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรี  เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในสาขานอกเหนือจากภาคพลังงาน การลดการครอบงําของน้ำมันในระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับแนวโน้มการลดคาร์บอนทั่วโลก จึงจําเป็นต้องมีการปฏิรูปการคลังเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืน และการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการเติบโตที่นําโดยภาคเอกชนที่ไม่ใช่น้ำมัน

รายงานกล่าวเสริมว่า รัฐบาลคูเวตต้องหาทางฝ่าวิกฤติ การปิดกั้นทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและรัฐสภาที่ขัดขวางความคืบหน้าในการปฏิรูปเนื่องจากคูเวตไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติของประเทศมีขอบเขตอำนาจกว้างขวางกว่าอีกหลายประเทศรอบอ่าวอาหรับที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ เช่น อำนาจผ่านและขัดขวางกฎหมาย อำนาจซักถามรัฐมนตรี และการขอลงมติไม่ไว้วางใจ

 

การค้ากับประเทศไทย

คูเวตเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมันดิบ (2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และก๊าซธรรมชาติ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีนโยบายการค้าเสรี และพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศกว่า 95% ปัจจุบันคูเวตประสบความท้าทายจากการต้องนำเข้าอาหารเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ เนื่องจากสามารถผลิตอาหารและสินค้าเกษตรภายในประเทศได้เพียงร้อยละ 0.5 ของ GDP

จากสถิติการค้าระหว่างไทยและคูเวตล่าสุดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 มีการค้าขายระหว่างกันมูลค่ารวม 14.2 พันล้านบาท (-21.8%) แบ่งออกเป็น

– ภาคการส่งออกสินค้า เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ปลากระป๋อง น้ำตาลทราย และเครื่องประดับอัญมณี ฯลฯ มูลค่ารวม 3.9 พันล้านบาท (-2.6%)  ทั้งนี้มีสินค้าอาหารอยู่ในกลุ่ม 20 สินค้าแรกที่อัตราการขยายตัวเพิ่ม เช่น ข้าว ผลไม้กระป๋อง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีแปรรูป

– ภาคการนำเข้าสินค้า มูลค่า 10.3 พันล้านบาท (-26.6%) สินค้าร้อยละ 99 คือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และ เคมีภัณฑ์

 

*****************************

ที่มา : Arab News

thThai