ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามปรับปรุงคุณภาพเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

การปรากฏตัวของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในภาคการค้าปลีกของเวียดนามได้เพิ่มการแข่งขันระหว่างธุรกิจต่างๆ โดยร่วมกันควบคุมอุปสงค์และอุปทานของตลาดภายในประเทศ

แรงกดดันด้านการแข่งขันที่สูงขึ้นช่วยให้องค์กรภายในประเทศเวียดนามมีประสบการณ์
และแรงจูงใจมากขึ้นในการปรับปรุงขีดความสามารถทางธุรกิจ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ คุณภาพการบริการและความสามารถในการจับตลาด

เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพสูงและมีแนวโน้มจะเติบโตมากถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 การค้าปลีกจะมีสัดส่วนร้อยละ 59 ของยอดขายผลิตภัณฑ์ในประเทศทั้งหมดเมื่อบริษัทต่างชาติลงทุนในเวียดนาม บริษัทเหล่านี้จะเข้ามาพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและเพื่อการส่งออก

ช่องทางการค้าปลีกรายใหญ่ เช่น เครือห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ต AEONห้างสรรพสินค้า Big C และ ห้างค้าปลีก MM Mega Market ไม่เพียงแต่ขายสินค้าเวียดนามในซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งออกสินค้าเหล่านั้นด้วย

เนื่องจากเวียดนามมีประชากรมากถึง 100 ล้านคน คิดเป็นประชากรวัยหนุ่มสาวร้อยละ 50 ผู้ประกอบการค้าปลีกจึงมองเห็นโอกาสที่ดีในการลงทุนกับธุรกิจการค้าแบบดั้งเดิมและอีคอมเมิร์ซ จากข้อมูลของนาง Nguyen Thị Phuong รองผู้อำนวยการทั่วไปของ WinCommerce ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของเวียดนาม ในปี 2566ห้างค้าปลีก WinCommerce มีสาขามากกว่า 3,400 แห่งทั่วประเทศ โดยมีลูกค้าประจำมากกว่าสองล้านรายเครือห้างค้าปลีก WinCommerce วางแผนที่จะเปิดจุดขายใหม่มากกว่า 1,000 สาขา และเพิ่มรายได้ของแต่ละสาขาขึ้นร้อยละ 25 แทนที่จะขยายรูปแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นไปในรูปแบบร้านสะดวกซื้อและมินิซุปเปอร์มาร์เก็ตในเขตเมืองและชนบทเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายร้านค้าปลีก

ผลประกอบการในปีที่แล้วช่วยให้ Saigon Co.op ก้าวขึ้นเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกอันดับ 1 ด้วยรายได้เกือบ 31 ล้านล้านด่อง ซึ่งเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรวมมูลค่า 1.2 ล้านล้านด่องจากส่วนอีคอมเมิร์ซ ซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการบริการและขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2566

นาย Nguyen Anh Duc ผู้อำนวยการทั่วไปของเครือซุปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกSaigon Co.op กล่าวในปี 2566 ว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต Saigon Co.op จะเพิ่มความแข็งแกร่งและส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตลาด จะมีการสร้างประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีเพื่อทราบพฤติกรรมของลูกค้าอย่างชัดเจน จึงสามารถเชื่อมโยงผู้ใช้และซัพพลายเออร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นธุรกิจค้าปลีกในประเทศจำเป็นต้องสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน และปฏิบัติตามกฎระเบียบในการผลิตและธุรกิจอย่างเคร่งครัด นาย Vu Vinh Phu ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดค้าปลีก กล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าปลีกจำเป็นต้องรับผิดชอบในการสนับสนุนการพัฒนาองค์กร

ตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศเวียดนามกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว บริษัทค้าปลีกต่างชาติมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในด้านต่างๆ เช่น การเงิน ทรัพยากรบุคคล ศักยภาพทางธุรกิจ และเทคโนโลยีการจัดการและนอกจากนี้พวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่หรือรัฐบาลผ่านโครงการเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาเครือข่ายการกระจายสินค้าด้วยระบบปิดที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค

ถึงแม้ว่าในขณะนี้สถานการณ์ของการแข่งขันในเวียดนามจะรุนแรงมากขึ้น แต่ภาคการค้าปลีกในเวียดนามก็ยังคงถูกควบคุมโดยบริษัทภายในประเทศเป็นหลัก สำหรับการค้าปลีกที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ ผู้ประกอบการชั้นนำ 6 ใน 10 รายในตลาดท้องถิ่นเป็นผู้ประกอบการในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 42 ของส่วนแบ่งตลาด โดยมี WinCommerce (เดิมชื่อ VinCommerce) เป็นเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในวียดนาม ครองส่วนแบ่งร้อยละ 15.2 ส่วนเครือซุปเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีก Saigon Co.op และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต Bach Hoa Xanh มีส่วนแบ่งในตลาดรวมกันร้อยละ 10.5

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามได้ออกระบบนโยบายที่ค่อนข้างครอบคลุมในการดึงดูดและจัดการเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาแนวทางสำหรับตลาดค้าปลีกในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2564 นายกรัฐมนตรีของเวียดนามได้อนุมัติยุทธศาสตร์การพัฒนาการค้าภายในประเทศถึงปี 2573 โดยมีการวางแนวทางไว้ไปจนถึงปี 2588 อีกด้วยดังนั้นในช่วงปี 2563-2573 คาดว่าผู้ค้าปลีกในประเทศจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของการขายปลีกสินค้าทั้งหมดและผู้ค้าปลีกต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 15

ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ในเดือนมกราคม 2566 เวียดนามยังมีนโยบายที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์อย่างไรก็ตาม มีความคิดเห็นว่าหากไม่มีกลยุทธ์การพัฒนาที่เหมาะสม บริษัทท้องถิ่นอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด เป็นเหตุผลที่องค์กรในท้องถิ่นจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานการค้าปลีกแบบปิดตั้งแต่การผลิต การแปรรูป และการขนส่งไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าสิ่งนี้ช่วยให้มั่นใจได้ถึงการเชื่อมต่อที่แน่นแฟ้นและยืดหยุ่นตลอดห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์และปรับปรุงคุณภาพของสินค้า การขายและบริการหลังการขาย และที่สำคัญที่สุดคือการแข่งขันด้านราคา ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนจากรูปแบบการซื้อขายแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในร้านค้าแบบเครือข่ายและซุปเปอร์มาร์เก็ต และความร่วมมือเพื่อพัฒนารูปแบบการค้าปลีกใหม่ๆ

เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจค้าปลีก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นอกจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว การสร้างช่องทางค้าปลีกของเวียดนามโดยชาวเวียดนามก็มีความสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีนโยบายในการพัฒนาการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและฉลากเขียว

ธุรกิจเวียดนามจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้กับร้านค้าปลีกเวียดนามด้วยการใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย เช่น การทักทาย นโยบายหลังการขาย และการดูแลลูกค้า

ธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามควรแข่งขันและร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีการค้าปลีกขั้นสูง จำเป็นต้องส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิตและการกระจายสินค้าภายในประเทศ และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ประกอบการเวียดนาม

จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

วิเคราะห์ผลกระทบ

ตลาดค้าปลีกในประเทศเวียดนามมีศักยภาพสูงและสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากร 100 ล้านคนและอยู่ในวัยหนุ่มสาวมากถึงร้อยละ 50 ผู้ครองตลาดหลักคือกลุ่มบริษัทภายในประเทศ และมีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดค้าปลีกเวียดนามเป็นบางส่วน คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ15 ส่งผลให้มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งการแข่งขันกันทางด้านบริการ การเข้าถึงลูกค้าและราคา โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะในปัจจุบันต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการค้าแบบดั้งเดิมไปสู่การค้าที่ทันสมัย สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคมากขึ้น มีการลงทุนกับการซื้อขายแบบอีคอมเมิร์ช รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกับธุรกิจค้าปลีกมากขึ้นเพราะบริษัทค้าปลีกต่างชาติมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในหลายด้านทั้งด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล ศักยภาพทางธุรกิจ และเทคโนโลยีการจัดการ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นในประเทศเวียดนามจึงต้องการเรียนรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพด้านการค้าการบริการและแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างเครือข่ายของตนเองให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุน

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนกับธุรกิจค้าปลีกมากขึ้น เพื่อดึงดูดเงินทุน ทรัพยากรบุคคล ศักยภาพทางธุรกิจและเทคโนโลยีการจัดการ เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการจากไทยจะเข้ามาแข่งขันในตลาดที่กำลังเติบโตและมีศักยภาพสูง ถึงแม้การแข่งขันจะดุเดือดแต่ก็ยังมีพื้นที่ให้เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งจากตลาดค้าปลีกนี้ได้ทั้งในรูปแบบการค้าทั่วไปและอีคอมเมิร์ช การจะเข้ามาในตลาดค้าปลีกนี้ต้องมีความพร้อมพอสมควรไม่ว่าจะเป็นความพร้อมเงินทุน เทคโนโลยี ศักยภาพทางธุรกิจ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวเวียดนามที่อาจจะมีความนิยมแตกต่างจากผู้บริโภคชาวไทย รวมถึงการบริการที่ดีในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการซื้อขาย นโยบายหลังการขาย การดูแลลูกค้าเพื่อสร้างแบรนด์ที่น่าประทับใจให้ผู้บริโภคจดจำและบอกต่อ

thThai