สถานการณ์อุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 Singapore Green Building Council (SGBC) ประกาศในงาน International Green Building Conference ว่า สิงคโปร์มีความคิดริเริ่มในการลดคาร์บอนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการใช้เครื่องมือคำนวณคาร์บอน และการปรับปรุงโครงการรับรองการบริการคาร์บอน ซึ่งได้ถูกนำไปใช้งานในภาคอาคารและการก่อสร้างในสิงคโปร์ เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ของรัฐบาลสิงคโปร์
การปล่อยก๊าซ Embodied Carbon หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นผลมาจากการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต หรือ การขนส่งวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนการสร้างอาคาร การปล่อยก๊าซ Embodied Carbon ในอุตสาหกรรมก่อสร้างคิดเป็น 11% ของอัตราการปล่อยมลพิษทั่วโลก และคิดเป็น 30% ของอัตราการปล่อยมลพิษสำหรับอาคาร การปล่อย Embodied Carbon ในประเทศสิงคโปร์สามารถสูงถึง 40% ของปริมาณการปล่อยมลพิษตลอดอายุการใช้งานของอาคาร เนื่องจากอายุการใช้งานของอาคารนั้นมีแนวโน้มที่จะสั้นลง เนื่องจากการต่อเติมหรือการพัฒนาของเมือง
ในงานได้มีการเปิดตัวเครื่องมือคำนวณคาร์บอนของสิงคโปร์ ที่วิศวกรและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ได้ฟรีในเว็บไซต์ โดยจากเดิมที่ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้เครื่องมือคำนวณที่คล้ายกันของสหรัฐฯ และยุโรป แต่ในปัจจุบัน เครื่องคำนวณได้รับการพัฒนาต่อให้เหมาะกับสิงคโปร์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนที่เกิดจากวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต และเหล็ก การก่อสร้างอาคาร และโครงสร้างต่างๆ โดยใช้เครื่องที่เรียกว่า the Concrete Environmental Product Declaration (EDP) Generator ในการกำหนดมาตรฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกันเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบได้ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าที่จะลดเวลาในการคำนวณลง 30% และหวังว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณคาร์บอนในอากาศให้ได้อย่างน้อย 50%
นาง Melissa Lok หัวหน้าและนักยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของบริษัท Building System and Diagnostics ระบุว่า โดยปกติ แก้วและเหล็กเป็นวัสดุที่ปล่อยคาร์บอน
ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ใหญ่ที่สุดของโครงการก่อสร้าง ถ้าต้องการลดจำนวนคาร์บอน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่ปรึกษาอาจจะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือ คอนกรีตที่ผลิตมาจากการจับตัวกันของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จับจากชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้นั้นสามารถลดความร้อนและชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ สำหรับอาคารอุตสาหกรรม ค่ามาตรฐานของคาร์บอนอยู่ที่ 2,500 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขระบบการรับรองคุณสมบัติสำหรับการบริการด้านความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและการบริการสัญญาพลังงานให้กับอาคารที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยการแก้ไขในครั้งนี้จะแบ่งการบริการออกเป็น 4 ระดับตามความสามารถ ซึ่งการรับรองคุณภาพบริการสำหรับอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์ ภายใต้ SGBC เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2555 เป็นการรับรองคุณภาพที่ช่วยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถระบุความเชี่ยวชาญในการนำโครงการต่าง ๆ ไปสู่การได้รับการรับรองอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง นาย Lee Ang Seng ประธาน SGBC รายงานว่า สาเหตุที่ต้องแก้ไขการรับรองนั้นเป็นเพราะ 10 ปีที่ผ่านมา อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังเป็นแนวทางการพัฒนาการออกแบบที่ค่อนข้างใหม่และพึ่งเกิดขึ้น แต่ในปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งได้พัฒนาความสามารถเฉพาะทางเชิงลึก และมีบันทึกการทำงานที่เข้มงวดในการดำเนินโครงการ Green Mark และการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า ในปี 2023 ประมาณ 80% ของการพัฒนาโครงการใหม่จะต้องมี มาตรฐาน Super Low Energy (SLE) ระดับสูง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีปัจจุบันถึง 20%
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
เทรนด์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของโลก เป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ รวมถึงสิงคโปร์ที่มีแนวความคิดริเริ่มต่างๆ ในสิงคโปร์ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการมองหาวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ คอนกรีตคาร์บอนต่ำมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) ที่ถูกประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติของไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยผู้ประกอบการอาจจะนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยให้การออกแบบผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ จากพลังงานหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อตอบรับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่สิงคโปร์ และหลายๆ ประเทศที่ได้ให้ความสำคัญกับสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น และเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกและมูลค่าให้กับสินค้ามากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาภาพ/ข้อมูล : StraitsTimes :- www.straitstimes.com/singapore/decarbonising-initiatives-for-s-pore-s-built-environment-sector-in-move-towards-net-zero-by-2050