สถาบันการศึกษาด้านเศรษฐกิจของสเปน เปิดเผยบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของสเปนในช่วงครึ่งปีหลัง และได้ปรับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ของสเปนเพิ่มขึ้นเป็น 2.2% และ 1.5% ในปีหน้า
แม้การคาดการณ์เศรษฐกิจของสเปนจะได้รับการปรับดีขึ้นตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก แต่นาย Iñigo Fernández de Mesa ประธานสถาบันฯ ก็กล่าวเตือนว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจของสเปนจะถูกคุกคามจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้เกิดการสั่นสะเทือนทางด้านการเงินจากความเข้มงวดของการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและอัตราเงินเฟ้อที่สูง
สเปนมีการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและตั้งข้อสังเกตวิวัฒนาการที่ดีของ GDP มาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างโดดเด่นและการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การดีดกลับของการส่งออกและตลาดแรงงาน และการที่สเปนเป็นประเทศหนึ่งที่เปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากที่สุดใน EU สเปนจึงอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์ระหว่างประเทศซึ่งจนถึงขณะนี้แนวทางก็เป็นไปในเชิงบวกอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อถือเป็นตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคที่จะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดมากที่สุด โดยสถาบันฯ คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (General CPI) อาจจะลดลงต่ำกว่า 4% ในปีนี้ และแตะ 3% ในปีหน้า ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานนั้น อาจสูงกว่า 6% ในปีนี้ ส่วนตลาดแรงงานนั้น สถาบันฯ ได้คาดการณ์ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นราว 2% ในปีนี้ และ 1.1% ในปีหน้า ส่วนอัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ราว 12.3% และ 12.2% ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับตามทิศทางประชากรและการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน
ความเห็นของ สคต.
แม้วิวัฒนาการจากการลดลงของราคาเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และอาหารในขณะนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราเงินเฟ้อของสเปนลดระดับความร้อนแรงลง ประกอบกับการขยายระยะเวลาการลด VAT ในกลุ่มอาหารพื้นฐานไปจนถึงสิ้นปีนี้ของภาครัฐบาล รวมทั้งแรงหนุนจากภาคบริการและการท่องเที่ยว จะส่งผลเชิงบวกต่อการบริโภคครัวเรือนและภาคเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดก็ยังเป็นแรงฉุดต่อการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการลงทุน
อนึ่ง ล่าสุด IMF ได้ปรับอัตราการขยายตัวของ GDP ของสเปนในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% (จากเดิมที่ 1.5%) ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มยุโรปตะวันตก และแม้ IMF จะยังคงตัวเลขคาดการณ์เดิมของอัตราการขยายตัวของ GDP ของสเปนที่ 2% ในปีหน้า แต่ก็ยังถือว่าสูงเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มยูโรโซน โดยปัจจัยสำคัญมาจากความแข็งแกร่งของภาคบริการและการท่องเที่ยว ขณะที่ การปรับตัวเลขการคาดการณ์ของอัตราการขยายตัวของ GDP ของสเปนที่สูงขึ้นของ IMF ครั้งนี้ถือว่ามากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมโดยภาครัฐ (2.1%) คณะกรรมาธิการยุโรป (1.9%) OECD (2.1%) และธนาคารแห่งชาติของสเปน (2.3%)
——————————
ที่มา : Cinco Dias
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์จาก สคต.มาดริด ระหว่างวันที่ 24-30 กรกฎาคม 2566