GDP ต่อหัวของเกาหลีใต้ ในปี 2565 ลดลงสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ

(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Herald และ Yonhap News ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2566)

 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) ของเกาหลีใต้ ในปี 2565 ลดลงสูงเป็นอันดับ 3 ในบรรดากลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญ รองจากญี่ปุ่นและสวีเดนท่ามกลางสภาวะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น

 

ธนาคารแห่งประเทศเกาหลี (BOK) ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา และธนาคารโลก แถลงว่า ในปี 2565 GDP ต่อหัวของเกาหลีใต้ลดลง 8.2% คิดเป็น 32,142 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 34,998 ดอลลาร์สหรัฐ

 

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยตัวแทนพรรคฝ่ายค้านพรรคหลัก GDP ต่อหัวของเกาหลีใต้ลดสูงเป็นอันดับ 3 ในรายชื่อ 47 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศเศรษฐกิจสำคัญ 30 อันดับแรกของโลกและประเทศสมาชิก OECD โดยเป็นการลดลงรองจากญี่ปุ่น และสวีเดน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ ลดลงที่ 15.1% และ 8.5% ตามลำดับ

 

BOK ระบุว่า GDP ต่อหัวของเกาหลีใต้ที่ลดลงอย่างมาก เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งตัวขึ้น และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ BOK กล่าวว่า “ปัจจัยหลักที่สุดที่เป็นสาเหตุของการลดลงคือ ค่าเงินวอนที่อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.9% เทียบกับค่าเงินวอน”

 

เมื่อคำนวณเป็นเงินวอน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ของเกาหลีใต้ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ 2,161.8 ล้านล้านวอน แต่หากคำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลง 7.9% อยู่ที่ 1.68 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การลดลงในกรณีที่คำนวณเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว เป็นการร่วงลงที่อย่างมีนัยยะสำคัญที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากประเทศญี่ปุ่น ในบรรดา 42 ประเทศที่มีข้อมูล

 

อัตราแลกเปลี่ยนเงินวอนต่อดอลล่าร์สหรัฐ เฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 1,291.75 วอน/ดอลล่าร์สหรัฐ สูงกว่าปี 2564 ที่ 1,144.32 วอน/ดอลล่าร์สหรัฐ

 

nominal GDP ของเกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 13 ของโลก ลดลงสามอันดับจากปีที่แล้ว นาย ลี ชางยง เจ้าหน้าที่ BOK ชี้แจงว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้เงินวอนอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และประเทศที่พบว่าอันดับสูงขึ้น เช่น บราซิล รัสเซีย และออสเตรเลีย ได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงาน

 

จากข้อมูลของ BOK ในปี 2565 GDP เกาหลีใต้ขยายตัว 2.6% ซึ่งขยายตัวลดลงจากปี 2564 ที่ขยายตัวถึง 4.1% และเป็นการขยายตัวที่น้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดน้อยลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายทางการเงินที่เข้มข้นทั้งในเกาหลีและต่างประเทศ

 

ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกขึ้น 0.2 จุดร้อยละ เป็น 3% ในปี 2566 แต่กลับลดตัวเลขคาดการณ์ของเกาหลีใต้ลง 0.1 จุดร้อยละ เหลือ 1.4% เท่ากับที่รัฐบาลเกาหลีใต้ และ BOK คาดการณ์ เนื่องจากความท้าทายที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในเศรษฐกิจโลก โดยเป็นครั้งที่ห้าติดต่อกันที่ IMF ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลี

 

          สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เศรษฐกิจเกาหลีอยู่ในสภาวะชะลอตัว จากค่าเงินวอนที่อ่อนตัวต่อเนื่อง และตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัว ทำให้ได้รับผลกระทบในการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน รายได้ผู้ประกอบการ และความสามารถในการใช้จ่ายของประชากร ซึ่งเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการปรับตัว และเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดนเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมซอฟพาวเวอร์ของเกาหลีใต้ ให้มีอำนาจในการจูงใจผู้บริโภคทั่วโลกให้สนใจตลาดเกาหลีใต้

 

ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นที่จะศึกษากระแสความต้องการของบริโภคเกาหลี ให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคเกาหลี ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นปัจจุบัน โดยควรเน้นการพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับความต้องการตลาด เช่น สินค้าที่ใส่ใจโลก สินค้าที่มีดีไซน์ สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น พร้อมกับความพยายามในการลดต้นทุนในการผลิตและส่งออกสินค้า เพื่อผู้บริโภคจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า หรืออาจจะทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการเกาหลี ในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าต่อไป

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
จัดทำโดย นางสาวศีดา สมานมิตร
ตรวจทานโดย นางสาวชนัญญา พรรณรักษา
ผอ. สคต. ณ กรุงโซล

thThai