การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนียังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยจากรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF – International Monetary Fund) เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลประเทศต่าง ๆ กว่า 22 ประเทศ มีเพียงเยอรมนีที่เดียวที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2023 ลดลง โดย IMF ยังได้ให้ข้อมูลอีกว่า GDP ของเยอรมนีในปี 2023 จริง ๆ น่าจะอยู่ที่ -0.3% ซึ่งนาย Pierre-Olivier Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ให้ข้อมูลว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีช้าลงมาก และในบางส่วนอยู่ในช่วงหดตัวด้วยซ้ำ” ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะใช้ GDP ของปี 2024 มาชดเชยได้ และ IMF คาดการณ์ว่า GDP ของเยอรมนี ในปี 2024 น่าจะขยายตัวได้เพียง 1.3% เท่านั้น
สำหรับ ในช่วงฤดูหนาวของปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเยอรมนีหดตัวลงเป็น 2 ไตรมาสติดต่อกัน ในตอนนั้นนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งได้คาดการณ์กันว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรฐกิจของเยอรมนีจะกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย โดยนาง Petya Koeva Brooks ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของ IMF ได้ให้ข้อมูลว่า “เราคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 เศรษฐกิจของเยอรมนีจะกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย แต่จะมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ และน่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ด้วย” และในสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีในไตรมาสที่ 2 ไม่ขยายตัวขึ้นเลย ในขณะที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงไม่มีเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ซึ่งนาย Cyrus de la Rubia หัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Hamburg Commercial Bank (HCOB) ให้ข้อมูลว่า “มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของเยอมนีในช่วงครึ่งปีหลัง จะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูงขึ้นไปอีก”
ที่ผ่านมา IMF เห็นว่า ปัญหาหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนี คือ ภาคอุตสาหกรรม เพราะยอดการสั่งสินค้าในเดือนพฤษภาคม 2023 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสำนักงานสถิติฯ ได้ให้ข้อมูลอีกว่า “ยอดการสั่งสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods หรือสินค้าที่นำไปประกอบ หรือเป็นชิ้นส่วนเพื่อผลิต สินค้าสำเร็จรูปอีก หรือเรียกในภาษาเยอรมันว่า Verarbeitenden Gewerbe) ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า” ด้านนาง Fritzi Köhler-Geib ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจของธนาคารแห่งรัฐ KfW-Bank เปิดเผยว่า “เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าปัญหาขาดแคลนสินค้าในห่วงโซ่อุปทานจะจบลงไปแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ยังไม่มีการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น” ทั้งนี้ IMF ได้ชี้แจงสาเหตุว่า เป็นเพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ไม่ขยายตัว และเยอรนนีต้องเจอปัญหาเพิ่มเติมจากปัญหาอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันราคาค่าสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า น้ำมัน และแก๊ส ของเยอรมนีอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ แม้จะได้มีการปรับลดลงไปบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี Ifo หรือดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจมหาวิทยาลัยมิว (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) ที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี Ifo ได้ปรับตัวลงเหลือ 87.3 จุด ในเดือนกรกฎาคม จากที่เคยอยู่ที่ 88.6 จุด ในเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นการลดลงของค่าดัชนีตัวนี้ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งดัชนี Ifo นี้ได้มาจากการสอบถามภาคเอกชนกว่า 9,000 รายอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะให้ความเห็นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ภาคธุรกิจไม่พอใจกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และมีความหวังลดน้อยลง ซึ่งนาย Clemens Fuest ประธานสถาบัน Ifo กล่าวว่า “สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนียังคงดูมืดมน” และพบว่า มีการใช้งานเครื่องจักรและกำลังการผลิตของโรงงานลดลง 1.4% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากยอดการสั่งซื้อที่ลดลง ดัชนีก่อสร้างก็ต่ำสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2010 เป็นต้นมา
ในขณะที่บริษัทผู้ให้บริการด้านธุรกิจการเงิน S&P นอกจากที่บริษัทฯ จะออกมารวบรวมข้อมูลโดยการสอบถามผู้บริหารของตัวเองแล้ว บริษัทฯ ได้ทำการสอบถามผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเพราะคนกลุ่มนี้จะรู้และเห็นภาพ/ทิศทางการปรับตัวด้านราคาและการจัดเก็บสินค้าได้ดีกว่าผู้บริหาร ซึ่งค่าดัชนีที่ S&P ประเมินออกมา ได้รวมทุกภาคเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยดัชนีดังกล่าวของเดือนกรกฎาคมลดลง 2.3 จุด มาอยู่ที่ 48.3 จุด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มกราคม 2023 ที่ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด และนี่ไม่ใช่เฉพาะการลดลงต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง เพียงอย่างเดียว แต่ถือเป็นตัวเลขที่แย่ที่สุดในรอบ 8 เดือนด้วย โดยนาย de la Rubia จาก HCOB กล่าวว่า “เป็นการเริ่มต้นด้านเศรษฐกิจของเยอรมนี ที่แย่มาก ในไตรมาสที่ 3”
IMF ได้ออกมาเตือนให้รัฐบาลพยายามเข็นมาตรการผลักดันทางเศรษฐกิจของประเทศออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านค่าพลังงาน อย่างไรก็ดีนาง Petya Koeva Brooks ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของ IMF กล่าวว่า “โดยปกติแล้วเราเชื่อกันว่า เมื่อวิกฤตการณ์พลังงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ควรที่จะทยอยยุติลง แต่พอมาย้อนดูสถานการณ์ทางการเงินของประเทศ ณ ขณะนี้ ก็น่าจะทยอยเริ่มประหยัดได้แล้ว” นอกจากนี้ IMF ยังเห็นว่า เยอรมนีเป็นเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจถดถอย ซึ่ง IMF เห็นว่า เศรษฐกิจของโลกกำลังขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยนาย Gourinchas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าวว่า “ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจะกลับมาดำเนินไปอย่างปกติ อีกทั้งธุรกิจบริการก็มีความมั่นคงมากขึ้น โดยรวมแล้วเศรษฐกิจโลกในปี 2023 น่าจะขยายตัวได้ 3.5% ซึ่งจะขยายตัวได้อย่างช้า ๆ และจะลดลงเหลือ 3.0% ในปี 2024 ในขณะที่กลุ่มประเทศใช้เงินยูโร (Euro Zone) ในปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวขึ้น 0.9% และขยายตัวได้ 1.5% ในปีหน้า อย่างไรก็ดี ทุกประเทศจะยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาวิกฤติอัตราเงินเฟ้อต่อไป”
จาก Handelsblatt 11 สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)