- การจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาชุดใหม่ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จะนำมาซึ่งการลงทุน (FDI) ใหม่ๆ เข้าในประเทศมากขึ้น พร้อมกับการสร้างงานให้ประชาชนมากขึ้น และมีส่วนช่วยในการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย
- นาย Heng Sokkung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดเผยว่า สันติภาพ เสถียรภาพทางการเมือง และข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ทำให้ประเทศมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารราชการของรัฐบาลใหม่ จะมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม เพิ่มมากขึ้น
- ปัจจัยหลักๆ คือ ข้อตกลง RCEP และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปี 2565 และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลีใต้ มีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม ปี 2565 นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่ได้ประกาศใช้แล้ว ทำให้กัมพูชาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้น โดยกัมพูชายินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ จากทุกๆ ประเทศตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมปี 2558 – 2568 ของรัฐบาลกัมพูชา
- นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา เปิดเผยว่า ข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคีและข้อตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้ารายใหญ่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ได้ช่วยดึงดูดการลงทุน ทั้งนี้ ภาคเอกชนเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลใหม่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อระบบการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมายของประเทศกัมพูชา
- ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุว่า กัมพูชาได้ดึงดูดการลงทุนโครงการลงทุนสินทรัพย์จำนวน 113 โครงการ มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งได้สร้างงานใหม่ให้ประชาชนถึง 122,000 ตำแหน่ง
ความเห็นของสำนักงานฯ
- หลังจากพรรค CPP ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7 ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ เอกอุดมกิตติเทศาภิบาลบัณฑิต ฮุน มาแณต เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ภายใต้รัฐบาลกัมพูชาหลายคน โดยการแทนคนรุ่นเก่าเป็นคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่า รัฐบาลกัมพูชายังคงมีนโยบาย เศรษฐกิจ การเมือง และการค้าระหว่างประเทศ เหมือนกับรัฐบาลชุดเดิม ที่มุ่งเน้นเปิดเสรีการค้าการลงทุน และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจาก นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐมนตรีที่เป็นคนรุ่นใหม่ ต่างเป็นลูก หลานคนใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดเดิม ซึ่งผูกพันในแนวทางการทำงานเดิม
- จากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์กัมพูชา คาดว่า การปกครองจากคนรุ่นใหม่จะทำให้เศรษฐกิจของกัมพูชามีการเติบโต และมีนโยบาย 3 ด้านหลัก ดังนี้
2.1 ด้านเกษตรกรรม: พัฒนาการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ เนื่องจากในช่วงเวลานี้โลกกำลังประสบกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของกัมพูชาในการเสริมสร้างผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เพื่อรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
2.2 ด้านอุตสาหกรรม: พัฒนาภาค SME ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตร โดยภาคที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การผลิตชิป การผลิตยานยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ที่สามารถทดแทนหรือเสริมผลกำไรนอกจาก ภาคเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเสื้อผ้า ในขณะที่กัมพูชาได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ มากมาย รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่ง
2.3 ด้านการท่องเที่ยว: พัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเพื่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้ง ครั้งหลังวิกฤติโควิด 19 คลี่คลายลง
ทั้งนี้ เมื่อ 3 ด้านข้างต้นดำเนินไปอย่างราบรื่น คาดว่า ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเงิน การธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตตามมา ซึ่งจะทำให้ประชาชนกัมพูชามีรายได้ที่สูงขึ้น มีงานทำ แม้แต่การจ่ายภาษีให้รัฐก็ดีขึ้นด้วย กำลังซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจการค้าการลงทุน และการขยายธุรกิจมายังกัมพูชา สามารถพิจารณาติดตามสถานการณ์ การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของประเทศกัมพูชา ภายใต้รัฐบาลคนรุ่นใหม่ของกัมพูชา เพื่อพิจารณาเข้ามาลงทุนในประเทศกัมพูชา ต่อไป
—————————
ที่มา: Khmer Times
สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ, กัมพูชา