สถานการณ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป (convenience food) ในสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป (convenience food) ในสหรัฐอเมริกา

 

ในปี 2565 ตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือ Convenience food ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 623.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในช่วงระหว่างปี 2566-2573 จะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยการเติบโตหลักของอาหารกึ่งสำเร็จรูปมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องการความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารมากขึ้น โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือมีสัดส่วนมากที่สุดในตลาดโลก เนื่องจากเป็นตลาดที่มีฐานผู้ผลิตรายใหญ่หลายราย อาทิ Nomad Foods Ltd Mondelez International และ Tyson Foods, Inc. เป็นต้น ซึ่งตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในภูมิภาคอเมริกาเหนือนี้ได้รับแรงหนุนจากความต้องการอาหารพร้อมรับประทาน(ready to eat) ที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สำหรับภูมิภาคที่มีสัดส่วนรองลงมา ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก ยุโรป อเมริกาใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยความต้องการอาหารกึ่งสำเร็จรูปในตลาดเอเชียแปซิฟิกมีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันนี้ ตลาดสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูปในสหรัฐอเมริกา ได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ถูกจํากัดในเรื่องของเวลาที่ต้องอุทิศไปกับการ

 

ทํางาน ทำให้ถูกจำกัดเวลาในการเตรียม การปรุงและการบริโภคอาหารมากขึ้น รวมทั้ง อัตราการเติบโตของประชากรวัยทำงานชาวอเมริกันที่เพิ่มมากขึ้น และรายได้ของครัวเรือนหลังหักภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้เอื้อต่อการเลือกซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น อีกทั้งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ที่ในปี 2565 สหรัฐฯ มีประชากรในเมืองอยู่ที่ร้อยละ 83.1 ของประชากรทั้งหมด 339.9 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวอเมริกันนิยมซื้ออาหารว่างพร้อมรับประทานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

           ตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือ Convenience food แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) Ready to eat foods (RTE): อาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงสำเร็จ โดยใช้กรรมวิธีถนอมอาหารเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมรับประทานได้สะดวก 2) Ready to use foods (RTU): อาหารที่ต้องมีการเตรียมการบางอย่าง เช่น การปรุงอาหาร การทอด และการปรับสภาพก่อนบริโภค และ 3) เครื่องดื่ม (Beverages) โดยอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat) มีส่วนแบ่งมากที่สุดในตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูป  ผู้บริโภคกลุ่มวัยทำงานหรือกลุ่มมิลเลนเนียลชาวอเมริกันส่วนใหญ่นิยมซื้ออาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat) ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายของชำ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทยักษ์ใหญ่

อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat) ในสหรัฐอเมริกา

สำหรับอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat) ในสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า จะเติบโตอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากอาหารเหล่านี้ปรุงง่ายและรวดเร็ว มีคุณภาพและมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งจำนวนประชากรในเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วมีผลต่ออุตสาหกรรมอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนร้านขายอาหารสะดวกเพิ่มมากขึ้น ทั้งตามท้องถนน ปั๊มน้ำมัน และในทำเลย่านพาณิชย์

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม แต่ในภาคอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานนั้น กลับส่งผลดีและได้รับความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากประเทศต่างๆ อยู่ในช่วงล็อกดาวน์และคนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน

อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat) แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) อาหารพร้อมทานแบบแห้งและแบบจัดวางบนชั้น (Dried and Shelf Stable Ready-to-eat Food) 2) อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง (Chilled and Frozen Ready-to-eat Food) โดยอาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง สามารถผลิตได้หลากหลายเมนูมากกว่าอาหารพร้อมทานประเภทอื่น จึงได้รับความนิยมมากกว่า เป็นอาหารที่สะดวกในการรับประทาน ราคาจำหน่ายไม่แตกต่างจากอาหารปรุงสดใหม่มากนัก และสามารถหาซื้อได้ง่าย

ในสหรัฐฯ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (ready to eat) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ พิซซ่าแช่แข็ง (Frozen Pizza) และอาหารเช้าแบบที่สามารถถือรับประทานได้เลย (handheld breakfast) อาทิ มัฟฟิน แพนเค้ก แซนด์วิช เบอริโต้แช่แข็ง คุกกี้ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่สูงมาก มีคุณภาพดีและความสดใหม่

 

 

ช่องทางจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน

ช่องทางการจัดจำหน่าย แบ่งออกเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซ ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำและร้านสะดวกซื้อ และช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ

บริษัทผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในตลาดสหรัฐอเมริกา         

บริษัทยักษ์ใหญ่ TOP 4 ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บริษัท 1) McCain Foods Ltd 2) บริษัท Conagra Brands Inc. 3) บริษัท Nestle S.A 4) บริษัท General Mills

การนำเข้าอาหารสำเร็จรูป (ready to eat) ของสหรัฐฯ จากทั่วโลก (HS 190420)

ในปี 2565 สหรัฐอเมริกานำเข้าอาหารสำเร็จรูป (ready to eat) จากทั่วโลกเป็นมูลค่า 67.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากประเทศแคนาดาอันดับที่ 1 มูลค่าการนำเข้า 52.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นลำดับที่ 2 มูลค่าการนำเข้า 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากประเทศกัวเตมาลาเป็นลำดับที่ 3 มูลค่าการนำเข้า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศเยอรมนีเป็นลำดับที่ 4 มูลค่าการนำเข้า 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากประเทศเม็กซิโกเป็นลำดับที่ 5 มูลค่าการนำเข้า 1.2 เหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 13 มีมูลค่า 130,355 เหรียญสหรัฐฯ

 

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

การแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลให้กลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเป็นที่นิยมมากขึ้น และอาหารกลุ่มนี้ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวและเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ผู้ผลิตและผู้ประกอบการอาหารพร้อมรับประทานต่างเลือกผลิตสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไปพร้อมกับความสะดวกสบาย เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพ ผู้ประกอบการไทยและอาหารไทยมีความได้เปรียบในเรื่องชื่อเสียงที่ดีในตลาดสหรัฐอยู่แล้ว หากศึกษานําข้อมูลแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันไปปรับปรุงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น จะให้ทำอาหารตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือ Convenience food และอาหารสำเร็จรูป (ready to eat) ของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลอ้างอิงจาก:

  1. https://www.datamintelligence.com/research-report/convenience-food-market
  2. https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/north-america-ready-to-eat-food-market
  3. http://ecoursesonline.iasri.res.in/mod/page/view.php?id=19096

 

สคต. นิวยอร์ก สิงหาคม 2566

thThai