ในปี 2022 ตลาด plant-based food สหรัฐฯมีมูลค่าประมาณ 10 พันล้านเหรียญฯ ในจำนวนนี้ร้อยละ 10 หรือประมาณ 1.15 พันล้านเหรียญฯเป็นมูลค่าตลาด plant-based meat ซึ่งเคยมีการคาดการณ์ว่าในระยะ 7 ปีนับจากปี 2022 ตลาด plant-based meat จะเติบโตสูงถึงร้อยละ 23.9
เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2023 ตลาด plant-based meat เริ่มตกต่ำ ปริมาณและยอดขายสินค้าลดลง การวิเคราะห์ตลาดพบว่า
- ราคาขายต่อปอนด์ของ plant-based meat เพิ่มสูงขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2022
- จำนวนบริษัทที่เข้าสู่ตลาดมีเป็นจำนวนมากและในสัดส่วนที่สูงกว่าจำนวนผู้บริโภคที่เข้าสู่การบริโภค plant-based meat ทำให้เกิดสภาวะ “สินค้าล้นตลาด”
- ผู้บริโภคมองว่าเป็นสินค้าอาหารที่มาจากกระบวนการผลิตซับซ้อน (highly processed) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสหรัฐฯไม่ต้องการเพราะเชื่อว่าไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
- เนื้อสัมผัส (texture) และรสชาติของ plant-based meat ที่วางจำหน่ายอยู่ในตลาดในปัจจุบันไม่ดึงดูดใจผู้บริโภค
แม้ว่าตลาด plant-based meat จะตกต่ำ แต่เชื่อกันว่าโอกาสในตลาดยังคงมีอยู่ ผู้บริโภคยังคงต้องการอาหารทางเลือกอื่นของเนื้อสัตว์ มีรายงานว่าร้อยละ 3 ของคนอเมริกันระบุตนเองว่าเป็น “vegan” และร้อยละ 5 ระบุว่าเป็น “vegetarian” พฤติกรรมหันไปบริโภคอาหารประเภทผักในสหรัฐฯแสดงการเติบโต คาดว่าร้อยละ 70 ของประชากรสหรัฐฯบริโภค plant-based food จากการสำรวจพบว่า ตัวขับเคลื่อนการเติบโตของการบริโภคไม่ใช่เหตุผลเรื่องการต่อต้านการทารุณสัตว์เสมอไป หากแต่เป็นเรื่องความเชื่อเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีรายงานว่า Millennials และ Gen-Z เป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริโภคอาหารประเภทผัก เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และจะติดต่อสื่อสารเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของตน ถึงกันและกันอย่างรวดเร็วผ่านทาง social media
ที่มา: The American Genius: “Plant-based meat sales decline-are consumers less impressed?”, by Dawn Brotherton, August 22,2023
ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็น สคต ลอสแอนเจลิส
1. ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของสินค้า plant-based meat คือราคาต่อปอนด์สูงกว่าสินค้าเนื้อสัตว์จริง โดยราคาเฉลี่ยของเนื้อวัวเทียมสูงกว่าเนื้อวัวจริงสองเท่าตัว ราคาเฉลี่ยเนื้อไก่เทียมสูงกว่าเนื้อไก่จริงสี่เท่าตัว และราคาเนื้อหมูเทียมสูงกว่าเนื้อหมูจริงสามเท่าตัว ความตกต่ำของตลาด plant-based meat เห็นได้ชัดเจนในช่วงที่สหรัฐฯเกิดสภาวะเงินฟ้อรุนแรง สินค้าต่างๆมีราคาพุ่งสูงในรอบหลายสิบปี ผู้บริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้จ่ายเงิน ราคาและความจำเป็นต้องบริโภคกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญสูงสุดในการตัดสินใจซื้อสินค้า
หมายเหตุ: การเปรียบเทียบราคาโดยคร่าวๆ ราคาสินค้าจะแตกต่างกันไปตามชนิดและคุณภาพของเนื้อสัตว์ และร้านค้าและสถานที่ตั้งร้านค้าที่วางจำหน่าย
2. ตลาด plant-based meat สหรัฐฯยังคงมีโอกาส ผู้บริโภคสหรัฐฯจำนวนมากมีความเชื่อเรื่องประโยชน์ของการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ช่วยเรื่องสุขภาพและลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆที่จะนำไปสู่การรักษาพยาบาลที่มีราคาแพงมาก และคนอเมริกันรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันมีความวิตกกังวลสูงมากกับสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศรอบตัวที่ถูกทำลาย ที่เชื่อว่าตนจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของตนในอนาคตมากที่สุด
3. เนื่องจากเป็นตลาดที่กำลังมีปัญหาการบริโภคชะลอตัว ขณะที่การแข่งขันยังคงสูงมากผู้ประกอบการอาจพิจารณาเข้าแข่งขันในตลาด เช่น
3.1 การค้นคิดผลิตสินค้าที่มีเนื้อ (texture) และรสชาติที่ดีมากยิ่งขึ้นกว่าสินค้าปัจจุบัน ที่หลายรายการถูกวิจารณ์ว่ามีเนื้อสัมผัส (texture) หยาบเหมือนกระดาษหรือเหมือนเศษไม้และไม่มีรสมีชาติ เป็นต้น
3.2 เน้นผลิตสินค้าจากวัตถุดิบธรรมชาติคือ พืชผักผลไม้ต่างๆ และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
3.3 หลีกเลี่ยงการระบุสินค้าว่าเป็น “vegan” หรือ “vegetarian” ซึ่งจะเป็นการจำกัดตลาดผู้บริโภค เพราะผู้บริโภค plant-based food ในสหรัฐฯ ไม่ได้หมายถึงผู้ที่ต้องการ “เลิก”บริโภคเนื้อสัตว์และหันมาบริโภคอาหารเนื้อสัตว์เทียมแทนที่ แต่หมายถึงผู้ที่ต้องการ “ลด” บริโภคเนื้อสัตว์และบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจใช้ประโยชน์ของความนิยมสนใจบริโภคอาหารไทยและอาหารชาติต่างๆของกลุ่มคนหนุ่มสาวอเมริกันและความต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็ว นำมาผลิตอาหารประเภทมื้ออาหารสำเร็จรูป มาใช้ผลิต ready-to-eat plant-based Thai food ทั้งที่มีและที่ไม่มีเนื้อสัตว์เทียมผสม และใช้การปรุงแต่งรสชาติเข้าไปสร้างแรงดึงดูดใจและลดภาพลักษณ์การเป็นอาหาร “เนื้อสัตว์เทียม” เข้าไปวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบันอาหาร ready-to-eat plant-based food ที่เป็นผัดไทยมีวางจำหน่ายในตลาดเป็นจำนวนมากหลากหลายแบรนด์
3.4 ผู้ผลิตสินค้าอาจจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความโดดเด่นของแบรนด์ออกมาจากคู่แข่ง กระตุ้นการขายและการบริโภคสินค้าของตนในตลาดสหรัฐฯด้วยการใช้ social media เป็นช่องทางสื่อสารแบรนด์ของตนตรงเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย สร้างเรื่องราวที่เป็นการตอบสนองความสนใจของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย เช่น เรื่องความเป็นมาของสินค้า ประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดแก่สุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส
หมายเหตุ: ข่าวข้างบนนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป และบางส่วนเป็นความเห็นส่วนบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส นำมารวบรวมเผยแพร่เพื่อแก่ผู้สนใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลและความเห็นจากบุคคลที่สาม การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้