รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนกรกฎาคม 2566
1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีโดยรวม
ในการสำรวจตลาดและพฤติกรรมการบริโภคของครอบครัวชาวอิตาลีโดยบริษัทวิจัยตลาด NielsenIQ (NIQ) ได้วิเคราะห์แนวโน้มการบริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ผ่านช่องทางการค้าปลีกขนาดใหญ่ และเปิดเผยข้อมูลดังนี้
ในเดือนกรกฎาคม 2566 มูลค่าการค้าผ่านหลากหลายช่องทาง (Omnichannel) ในอิตาลี มีมูลค่าการค้ารวมกันทั้งสิ้น 9.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้น +8.8% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565
ดัชนีเงินเฟ้อทางทฤษฎีของสินค้าอุปโภคบริโภค (The index of theoretical inflation in FMCG) ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ +11.3% ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำกว่าในเดือนมิถุนายน (+12.7%) ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวมสูงขึ้นอีก +10.1% จึงไม่ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่กลับลดการจับจ่ายสินค้าลง (-1.2%)
การสำรวจของ NielsenIQ ยังแสดงให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งหมดมีแนวโน้มเชิงบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเติบโตของร้านค้าสะดวกซื้อ (Discount) เพิ่มขึ้น +12.5% ตามมาด้วย ร้านขายสินค้าเฉพาะด้าน (Specialisti Drug) เพิ่มขึ้น +10.8% ซูเปอร์สโตร์ (Superstore) เพิ่มขึ้น +10.4% ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) เพิ่มขึ้น +7.6% ร้านค้าบริการอิสระ (Free Services store) เพิ่มขึ้น +6.8% และสุดท้าย ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) ที่มีพื้นที่มากกว่า 4,500 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น +5.5%
ในส่วนของผลิตภัณฑ์ฉลากส่วนตัว (Private label) ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22.1% ของสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด สำหรับช่องทางการค้าของ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าบริการอิสระ ในขณะที่ หากรวมช่องทางการค้าร้านค้าสะดวกซื้อด้วย ส่วนแบ่งตลาดจะอยู่ที่ 31.5%
แนวโน้มสินค้าที่ผู้บริโภคชาวอิตาลีเลือกซื้อเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง (+14.8%) และอาหารสำเร็จรูป (+12.8%) ในขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆทั้งหมดมีแนวโน้มเชิงลบ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม (-4.1%) และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (-2.9%)
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างมูลค่าและปริมาณ ในเดือนกรกฎาคม 2566 มูลค่ามีแนวโน้มเป็นบวก (+8.9%) ในขณะที่ในแง่ของปริมาณหดตัวเล็กน้อย (-1.2%) เมื่อเทียบกับปี 2565
สินค้าอาหารสด (ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตายตัวหรือน้ำหนักตามชั่ง) เติบโตในทุกช่องทางการจำหน่าย ร้านค้าสะดวกซื้อมีแนวโน้มดีที่สุด (+13.5%) ในขณะที่ ร้านค้าบริการอิสระมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน (+6.7%)
ในส่วนของหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ (+13.4%) เป็นหมวดที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด ตามมาด้วยสินค้าขนมปัง ขนมหวานและพาสต้า (+12.9%) และเนยแข็ง (+11.4%) ในทางกลับกันสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป (+2.5%) เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มการเติบโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่นๆ
2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Consumer and business confidence)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนสิงหาคม 2566 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงจาก 106.7 จุด มาอยู่ที่ 106.5 จุด ส่วนความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจาก 108.9 มาอยู่ที่ 106.8 จุด
2.2 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือนกรกฎาคม 2566 ว่าเพิ่มขึ้น +6.4% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 และเพิ่มขึ้น +5.9% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565
2.3 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Producers Price)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมว่า ในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลง -0.3% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 และลดลง -5.5% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565
2.4 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2566 ว่าเพิ่มขึ้น +0.5% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566 ในขณะที่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมช่วงสามเดือน (เมษายน-มิถุนายน) ลดลง -1.2% เมื่อเทียบกับสามเดือนก่อนหน้า
2.5 การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป (Trade exchange with extra EU)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ว่าในเดือนมิถุนายน 2566 การนำเข้าลดลง -14.6% และการส่งออกเพิ่มขึ้น +0.4% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566
2.6 การค้าปลีก (Retail Trade)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานการค้าปลีกว่า ในเดือนมิถุนายน 2566 ว่าตลาดการค้าปลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.2% และปริมาณเพิ่มขึ้น +0.7%) โดยการค้าปลีกสินค้าอุปโภค (มูลค่าลดลง -0.7% และปริมาณลดลง -0.9%) ส่วนการค้าปลีกสินค้าบริโภค (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.3% ส่วนปริมาณลดลง -0.2%) เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2566
3. สถานการณ์การค้าไทย – อิตาลี
ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนกรกฎาคม) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 3,116.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +5.77% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,295.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +4.65% และการนำเข้ามูลค่า 1,821.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +6.58% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 525.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ -11.66% เมื่อเทียบกับ 7 เดือนแรกของปี 2565
4. ข้อคิดเห็นของ สคต.มิลาน
4.1 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่ชาวอิตาลีส่วนมากจะเดินทางไปพักร้อน ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน คนจำนวนไม่น้อยต้องยกเลิกแผนการพักผ่อน หรือเลือกลดระยะเวลาและจุดหมายปลายทางที่ถูกลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากราคาสินค้าและบริการพุ่งขึ้นสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันรถยนต์ ที่หลายบริษัทผู้ค้าน้ำมันได้แสวงหาผลประโยชน์เกินควรด้วยการขึ้นราคา เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเดินทางท่องเที่ยวมาก และความวิตกกังวลต่อความเป็นอยู่ เนื่องจากสภาพแลดล้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ล้วนแต่มีความระส่ำระสาย ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาพฤติกรรมตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าให้ตรงตามสถานการณ์
4.2 บริษัทจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหภาพยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอยู่ ทำให้ต้องแบกรับภาระการชำระหนี้ และลดการกู้ธนาคารเพื่อการลงทุน การขาดสภาพคล่องทางการเงินจะดึงให้เศรษฐกิจไม่เติบโต ผู้ประกอบการควรศึกษาผลกระทบทางการเงิน เพื่อระมัดระวังการทำธุรกรรมทางกับธนาคารของผู้นำเข้า
4.3 ภัยธรรมชาติที่รุนแรงเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ แผ่นดินไหว น้ำท่วมและโคลนถล่ม ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และอาคารเชิงพาณิชย์ หน่วยงานราชการก็ไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงที เศรษฐกิจของหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของสินค้าที่ถูกทำลายเสียหายจากภัยธรรมชาติ และกำลังเป็นที่ต้องการเพื่อนำมาซ่อมแซมและชดเชย
4.4 ปัญหาผู้ลี้ภัยทางทะเลที่พยายามหลบหนีเข้ามาทางเรืออย่างไม่ขาดสาย จากประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกา ที่มีจำนวนการหลั่งไหลเข้ามาอิตาลีแทบทุกวัน มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จนอิตาลีไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป และยังเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันในระดับสหภาพยุโรป แต่ก็หาวิธีแก้ปัญหาและข้อยุติไม่ได้โดยเด็ดขาด ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการที่ยูเครนถูกปิดทางออกทางทะเล ไม่สามารถส่งธัญพืชให้ประเทศทางแอฟริกาได้โดยสะดวก และสงครามภายในประเทศของหลายประเทศในแอฟริกาที่ยิ่งทำให้ความยากจนเพิ่มทวีขึ้น และผลักดันให้เกิดการลี้ภัยครั้งใหญ่
4.5 สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความยืดเยื้อ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของอิตาลีไม่น้อย เนื่องจากอิตาลีเป็นฝ่ายสนับสนุนประเทศยูเครน และต้องส่งความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการแบกรับปัญหาและภาระผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครน การติดตามข่าวความเคลื่อนไหวนโยบายด้านสงคราม การเมือง และการค้าระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด จึงสำคัญสำหรับผู้ส่งออกไทย
4.6 ผู้บริโภคอิตาลีหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ที่ราคาถูกลง หรือที่มีโปรโมชั่น สินค้านำเข้าที่ราคาสูงกว่าสินค้าท้องถิ่นจะตีตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากความวิตกกังวลในการใช้จ่าย สินค้าที่สามารถแข่งขันได้จึงต้องมีนวัตกรรม คุณภาพสูง ราคาเข้าถึงได้ และต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4.7 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ยังสามารถทำตลาดได้ดี เช่น แผงโซล่าร์พลังงานแสงอาทิตย์ (ที่ได้รับความเสียหายจำนวนมากจากลูกเห็บขนาดใหญ่ตก และลมพายุหมุน) รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บอยเล่อร์ เครื่องปรับอากาศ (ชนิดปรับได้ทั้งความร้อนและเย็น) เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษากฎระเบียบสหภาพยุโรปอย่างละเอียด เนื่องจากมีข้อกำหนดของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดอิตาลีและยุโรปมีการปรับปรุงอยู่เสมอ
4.8 สินค้าอาหารที่แนวโน้มตลาดยังดี ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส อาหารแห้ง เครื่องดื่มและน้ำผลไม้ที่เพิ่มความสดชื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังความผันผวนของปัจจัยการส่งออกเสมอ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาและระยะเวลาการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ รวมถึงควรวางแผนการค้ากับคู่ค้าและผู้นำเข้าในอิตาลีล่วงหน้าเป็นเวลานานและทำการค้าอย่างรอบคอบ
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
สิงหาคม 2566
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 2 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 5928668 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ