ข้อมูลสาธารณรัฐแอลเบเนีย
1. ข้อมูลทั่วไป
1.1 สาธารณรัฐแอลเบเนียเป็นประเทศมีขนาดเล็ก (28,748 ตารางกิโลเมตร) มีประชากร (2,761,785 คน) ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ทางทิศตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่าน ทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับเซอร์เบียและมอนเตเนโกร ทิศตะวันออกติดกับมาซิโดเนียเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับกรีซ ทิศตะวันตกติดกับทะเลเอเดรียติกและทะลไอโอเนียน มากกว่าสามในสี่เป็นภูเขาและเนินเขา พื้นที่ชายฝั่งทะเลคือเป็นที่ราบและมีความยาว 362 กิโลเมตร แอลเบเนียมีภูมิอากาศโดยทั่วไปแบบเมดิเตอร์เรเนียน
1.2 แอลบาเนียมีตำแหน่งเชิงภูมิประเทศในใจกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอยู่ใกล้กับตลาดของประเทศทางคาบสมุทรบอลข่าน จึงมีความสำคัญในมุมมองทางเศรษฐกิจและการค้า มีท่าเรือ Durres และ Vlora เป็นท่าเรือเมดิเตอร์เรเนียนที่สำคัญและเป็นประตูสู่คาบสมุทรบอลข่าน และทางหลวง Corridor VIII ระหว่างทะเลเอเดรียติกและทะเลดำ ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ความรู้ที่แพร่หลายด้านภาษาอิตาลี และความผูกพันทางวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อิตาลี ในปี 2565 เป็นคู่ค้าอันดับแรกของแอลเบเนีย และเป็นประเทศที่ไปตั้งบริษัทและการลงทุนในแอลเบเนียมากที่สุดในบรรดาบริษัทต่างชาติ
1.3 แอลเบเนียเป็นประเทศเป้าหมายที่น่าสนใจแก่การลงทุน เนื่องจากมีกำลังคนที่มีคุณสมบัติดี มีความรู้ภาษาอิตาลี ภาษีและค่าครองชีพต่ำ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลแอลเบเนียได้ริเริ่มการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจหลายครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นตลาดการค้าเสรี การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การแทรกแซงหลายครั้งในด้านการเงินและด้านกฎหมายเพื่อดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติ (ปัจจุบัน แอลเบเนียอยู่ระหว่างการสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป)
1.4 แอลเบเนียไม่เพียงแต่เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ด้วยแรงจูงใจของกฎหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุน แอลเบเนียรับประกันการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบัน แอบเบเนียมีการลงทุนแล้วร่วมกันกับ 34 ประเทศ
1.5 มีอัตราค่าจ้างแรงงานที่แข่งขันได้มากที่สุดในยุโรปประเทศหนึ่ง โดยมีค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000 ALL (ประมาณ 245 ยูโร) ภาคการผลิตในประเทศแอลเบเนีย มีค่าจ้างขั้นต้นต่อเดือนเฉลี่ยที่ประมาณ 350 ยูโร
1.6 มีการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจของแอลเบเนีย ทั้งในแง่ของการลงทุนและการจ้างงาน ในปี 2564 การท่องเที่ยวสร้างรายได้โดยตรง 321.3 พันล้านเลก (ALL) คิดเป็น 17.4% ของเศรษฐกิจทั้งหมด สร้างงานเพิ่ม 226,100 ตำแหน่งงาน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของการจ้างงานทั้งหมดในแอลเบเนีย ส่งผลให้เกิดการพัฒนาธุรกิจต่างๆตามมา เช่น โรงแรมและโครงสร้างที่พักอื่นๆ ตัวแทนการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการทัวร์ สายการบิน ร้านอาหาร และการขนส่งผู้โดยสารในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ปี 2566 รัฐบาลแอลเบเนียคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จะเพิ่มขึ้น 2.6% โดยได้รับแรงหนุนจากภาคบริการซึ่งควรเป็นตัวสร้างความเติบโตหลักที่มีส่วนสนับสนุน 1.3 pp หรือครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ กระทรวงการคลังของแอลเบเนียระบุว่า การบริโภคขั้นสุดท้ายในปี 2566 คาดว่าจะเติบโต +1.3% การลงทุน +4.5% และการส่งออกสุทธิ +3.6% การเติบโตของ GDP จะกระจายไปทั่วภาคอุปทานทั้งหมด เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การก่อสร้าง และภาคการบริการ
2.2 ภาคอุตสาหกรรมในแอลเบเนียคิดเป็น 14.9% ของ GDP ภาคการเกษตรและภาคบริการคิดเป็น 21.6% และ 63.5% ตามลำดับ ภาคส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของแอลเบเนีย ได้แก่ การถลุงแร่เหล็ก พลังงาน(น้ำ) การท่องเที่ยว เกษตรกรรม และสิ่งทอ แอลเบเนียมีแหล่งน้ำมันบนบกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นแหล่งสำรองน้ำมันที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน
2.3 เศรษฐกิจเชิงบวกมาจากการประมาณการของธนาคารแห่งชาติแอลเบเนียว่าด้วยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investments) ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเชิงบวก ไม่เพียงแต่ในมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระจายความหลากหลายของประเทศต้นทางด้วย การลงทุนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันอัตราส่วนต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 8.1% ได้แก่ ภาคเหมืองแร่ การผลิตพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ การเติบโตของการลงทุนจากต่างประเทศ ยังส่งผลต่อการเติบโตของความสามารถในการส่งออกของประเทศและความเชื่อมโยงกับโครงการขนาดใหญ่ (เช่น ท่อส่งก๊าซทรานส์เอเดรียติก) ในเวลาเดียวกัน การลงทุนจากต่างประเทศได้ขยายไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา และประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากพันธมิตรดั้งเดิมอย่างประเทศอิตาลี กรีซ และตุรกี
3. การค้าระหว่างประเทศ
3.1 การนำเข้าของแอลเบเนีย
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าช่วง 2 ไตรมาสแรก ปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน) แอลเบเนียนำเข้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 4,212.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +4.94% เมื่อเทียบกับช่วง 2 ไตรมาสแรก ปี 2565 (ที่มีมูลค่า 4,014.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยประเทศที่แอลเบเนียนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี มูลค่า 962.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+2.69%) จีน มูลค่า 450.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+49.32%) ตุรกี มูลค่า 430.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-13.16%) เยอรมนี มูลค่า 290.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+16.28%) กรีซ มูลค่า 282.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-5.92%)
3.2 การส่งออกของแอลเบเนีย
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าช่วง 2 ไตรมาสแรก ปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนมิถุนายน) แอลเบเนียส่งออกไปทั่วโลกมีมูลค่า 2,243.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -1.55% เมื่อเทียบกับช่วง 2 ไตรมาสแรก ปี 2565 (ที่มีมูลค่า 2,278.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยประเทศที่แอลเบเนียส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี มูลค่า 991.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-4.89%) โคโซโว มูลค่า 203.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+16.39%) กรีซ มูลค่า 162.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+30.01%) มอนเตเนโกร มูลค่า 106.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+192.16%) และ มาซิโดเนียเหนือ มูลค่า 96.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+18.19%)
3.3 การค้าระหว่างไทย – แอลเบเนีย
ปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) มูลค่าการค้าระหว่างไทย – แอลเบเนีย มีมูลค่า 6.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.18% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 5.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +22.11% และการนำเข้ามูลค่า 0.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -55.57% ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับแอลเบเนียเป็นมูลค่า 4.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ +63.05% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยแอลเบเนียเป็นคู่ค้าของไทยในอันดับที่ 164 และเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 151
4. ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
4.1 ประเทศแอลเบเนียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าไปท่องเที่ยวมากที่สุดในยุโรป โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ได้แก่ ทะเลและภูเขา ด้วยภูมิอากาศทะเลที่ค่อนข้างอุ่น ทิวทัศน์งดงาม และค่าครองชีพที่ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตก รัฐบาลแอลเบเนียสนับสนุนและต้องการลงทุนจากต่างประเทศอีกมากเพื่อมาพัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยที่ค่าแรงของแอลเบเนียก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากประเทศไทยก็มีศักยภาพในการท่องเที่ยว และมีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างงานบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม รีสอร์ท เป็นต้น ภาคส่วนนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หนีภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างมาก นักท่องเที่ยวอิตาลีก็หลั่งไหลมาเที่ยวที่แอลเบเนียจำนวนมากในช่วงฤดูพักร้อนที่ผ่านมาเช่นกัน
4.2 ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจ เนื่องจากมาพร้อมกับธุรกิจท่องเที่ยว การเปิดร้านอาหารไทยในแอลเบเนียจึงยังเปิดกว้างและน่าจะมีแนวโน้มดี เพราะนักท่องเที่ยวหลักของแอลเบเนียจากยุโรปตะวันตกรู้จักอาหารไทยดีอยู่แล้ว และการมีบริการอาหารไทยน่าจะมีแนวโน้มดีมาก นักลงทุนด้านร้านอาหารจากไทยจึงควรลองศึกษาโอกาสในการมาเปิดร้านอาหารไทย
4.3 ความต้องการสินค้าอาหารทั่วไปยังมีมาก เนื่องจากตลาดยังเติบโตไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ สด แห้ง แช่แข็ง กระป๋อง ฯลฯ และอื่นๆ เนื่องจากแอลเบเนียเป็นประเทศที่เล็ก สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาทอดยาวทำให้มีข้อจำกัดมากในการทำเกษตร สินค้าที่แอลเบเนียนำเข้าโดยตรงจากไทยเพิ่มมากที่สุด คือ ข้าว โดยในปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) มีมูลค่า 130,388 เหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวถึง 944.79%) หากสามารถผลักดันให้มีการเปิดธุรกิจร้านอาหาร ก็จะช่วยให้การส่งออกสินค้าอาหารทั้งของสดแห้ง และสำเร็จรูปมารองรับความต้องการของธุรกิจร้านอาหาร นอกจากนี้ อาหารฮาลาลเป็นกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพ เนื่องจากประชากรกว่าร้อยละ 50 เป็นชาวมุสลิม
4.4 อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในแอลเบเนียกำลังขยายตัว เนื่องจากมีค่าแรงงานราคาถูก แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความต้องการอุปกรณ์และส่วนประกอบสำหรับป้อนอุตสาหกรรมยังมีมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาตลาดและข้อมูลสำหรับการหาลู่ทางในการลงทุน
————————————————————————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
จัดทำโดย Business Support Center
กันยายน 2566

thThai