เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 ซึ่ง มากกว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษคาดไว้ที่ร้อยละ 0.1 และเป็นอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2565 ส่งผลให้ช่วยลดความกังวลว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ระยะถดถอยตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยการขยายตัวในไตรมาสนี้เป็นผลมาจากการใช้จ่ายและลงทุนของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการขาดดุลการค้าที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรยังคงเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม G7 ที่เศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 (ประมาณร้อยละ 0.2) และนักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจ สหราชอาณาจักรมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่ยังเพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานที่ตึงตัว และ ผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ จากข้อมูลของ Office for National Statistics : UK Trade : May 2023 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มีนาคม – พฤษภาคม 2566) สหราชอาณาจักรมียอดส่งออกรวมทั้งสิ้น 202.7 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการส่งออกสินค้า 93.5 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 0.6 ส่งออกบริการ 109.2 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 2.8 นำเข้ารวม 220.9 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 1.7 แบ่งเป็นการนำเข้าสินค้า 148.2 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 4.4 นำเข้าบริการ 72.7 พันล้านปอนด์ ลดลงร้อยละ 4.5 ส่งผลให้สหราชอาณาจักรขาดดุลการค้า 18.2 พันล้านปอนด์ แบ่งเป็นขาดดุลสินค้า 54.7 พันล้านปอนด์ ได้ดุลการบริการ 36.5 พันล้านปอนด์
ตลาดส่งออกสินค้าหลักของสหราชอาณาจักรได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ตามลำดับ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักร เชื้อเพลิง โลหะมีค่า ยานพาหนะ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า
ตลาดนำเข้าสินค้าหลักของสหราชอาณาจักรได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา จีน เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ สินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของสหราชอาณาจักร ได้แก่ เครื่องจักร เชื้อเพลิง ยานพาหนะ โลหะมีค่า และเครื่องมือไฟฟ้า
สำหรับสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กรกฎาคม 2566 สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 142,405 ล้านบาท ไทยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรมูลค่ารวม 85,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ร้อยละ 12.4 สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอากาศยาน อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าจากสหราชอาณาจักรรวมทั้งสิ้น 56,790.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.4 สินค้านำเข้ามายังไทยที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม น้ำแร่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม ยานพาหนะ และเครื่องมือการแพทย์ ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าจำนวน 28,823.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.5 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
ธนาคารกลางของอังกฤษยังคงนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงยาวนาน ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ธนาคารกลางอังกฤษได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 5.25 นับการเป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 14 ติดต่อกัน และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ปัญหาค่าครองชีพกำลังส่งผลกระทบมีต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนทั่วไป ยังคงเป็นประเด็นหลักที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังดำเนินมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป
การส่งออกของไทยไปยังสหราชอาณาจักรในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 12.4 โดยสินค้าอาหาร เช่น ไก่แปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และเครื่องปรุงอาหารไทย และสินค้ากลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ได้แก่ อาหารที่ทำจากพืช (Plant Based Food ) ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์ และเครื่องปรับอากาศ ยังคงเป็นสินค้าที่มียอดส่งออกขยายตัวได้ดี