สมาคมโรงงานกลั่นน้ำมันพืช (Solvent Extractors Association of India) รายงานตัวเลขการนำเข้าน้ำมันพืชสำหรับบริโภคของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 1.85 ล้านตันในเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่นำเข้า 1.38 ล้านตัน เนื่องจากราคาน้ำมันพืชระหว่างประเทศและราคาในประเทศที่ลดลง และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผลผลิตเมล็ดพืชน้ำมันในประเทศเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ต่ำสุดเมื่อเดือนสิงหาคมในพื้นที่เพาะปลูกซึ่งกระตุ้นความต้องการจากผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก
แม้ว่าปริมาณการบริโภคในประเทศยังมีเพียงพอแต่การปรับฐานราคาจำหน่ายต่ำลงกระตุ้นความต้องการบริโภคอีกครั้งทำให้การนำเข้าเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือนแรกของปีน้ำมัน 2565-2666 (พฤศจิกายน-สิงหาคม) โดยอินเดียนำเข้าน้ำมันพืชบริโภคทั้งหมดในช่วง 10 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 26% เป็น 13.97 ล้านตัน เมื่อเทียบกับ 11.07 ล้านตันในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
การนำเข้าน้ำมันปาล์มดีดตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาปรับลงใกล้เคียงกับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันและน้ำมันถั่วเหลือง โดยนำเข้าน้ำมันปาล์มในช่วง 10 เดือนแรกแล้ว 8.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งนำเข้า 5.86 ล้านตัน ส่วนการนำเข้าน้ำมันพืชชนิดอื่น (เมล็ดดอกทานตะวันและถั่วเหลือง) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเพิ่มขึ้น 10% เป็น 5.73 ล้านตัน เมื่อเทียบกับ 5.21 ล้านตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สัดส่วนการนำเข้าน้ำมันปาล์มบริโภคคิดเป็น 59% ของการนำเข้าน้ำมันพืชบริโภคทั้งหมด
อินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดียในช่วง 10 เดือนแรกของปีน้ำมัน 2565-2666 ในภาพรวมอินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย 4.73 ล้านตันหรือ 57% ของการนำเข้าน้ำมันปาล์มทั้งหมด รองลงมาคือ มาเลเซีย 2.5 ล้านตัน (30%) และไทย 0.7 ล้านตัน (9%) โดยการนำเข้าจากอินโดนีเซียแบ่งเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 1.59 ล้านตัน หรือ 83% ของการนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ทั้งหมด และน้ำมันปาล์มดิบ 3.13 ล้านตันหรือ 50% ของการน้ำมันปาล์มดิบ และการนำเข้าจากมาเลเซียแบ่งเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 0.3 ล้านตัน (15%) และน้ำมันปาล์มดิบ 2.15 ล้านตัน (34%) ส่วนไทยกำลังกลายเป็นแหล่งนำเข้าประจำแหล่งใหม่ของอินเดียโดยนำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 0.01 ล้านตัน (1%) และน้ำมันปาล์มดิบ 0.67 ล้านตัน (11%)
ในขณะที่อาร์เจนตินาและบราซิลเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง ส่วนรัสเซียและยูเครนเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน โดยอินเดียนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองรวม 3.18 ล้านตันลดลง 11% ส่วนการนำเข้าน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันเพิ่มขึ้น 55% เป็น 2.55 ล้านตัน
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของ สคต.กรุงนิวเดลี
1. รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินมาตรการสำคัญการรับมือกับราคาน้ำมันบริโภคที่เพิ่มขึ้นในตลาดภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา เช่น การลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันถั่วเหลืองดิบ และน้ำมันดอกทานตะวันดิบเป็น 0% และภาษีนำเข้าสำหรับน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์และน้ำมันดอกทานตะวันบริสุทธิ์ลดลงจาก เหลือ 12.5% ในขณะที่ภาษีน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ลดลงเหลือ 12.5% ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงเดือนมีนาคม 2567 เพื่อรักษาอุปทานในประเทศที่มั่นคง จึงหนุนให้อินเดียนำเข้าอย่างต่อเนื่องและเป็นโอกาสให้ไทยแทรกตัวเป็นแหล่งนำเข้าใหม่ในตลาดน้ำมันพืชของอินเดีย
2. ความต้องการน้ำมันพืชบริโภคของอินเดียอย่างต่อเนื่องถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกน้ำมันน้ำมันพืชบริโภคไปยังอินเดียโดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) อินเดียเป็นตลาดส่งออกพืชน้ำมันเป็นอันดับหนึ่งและส่งออกไปอินเดียกว่า 80% ของการส่งออกพืชน้ำมันทั้งหมด โดยไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 14% เป็น 6 แสนตันคิดเป็นมูลค่า 569.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ 5.3 แสนตัน และน้ำมันถั่วเหลืองดิบอีก 0.7 แสนตัน
—————————————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
18 กันยายน 2566
ที่มา:
- The Solvent Extractors’ Association of India, 14 September 2023,
- Record Import of Vegetable Oils in August 2023 Nov ’22- Aug ’23; Import Up by 24%, Indian Market Flooded with Palm oil