ข้อมูลสาธารณรัฐไซปรัส
1. ข้อมูลทั่วไป
สาธารณรัฐไซปรัส (Republic of Cyprus) เมืองหลวงชื่อนิโคเซีย (Nicosia) พื้นที่ 9,251 ตารางกิโลเมตร (3,572 ตารางไมล์) ประชากร 1,261,393 คน (ณ วันที่ 15/09/2566) มากเป็นอันดับสามในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประกอบด้วยชาวกรีกไซปรัส (58%) ชาวตุรกีไซปรัส (26%) ชาวต่างชาติ (16%) ส่วนใหญ่เป็นชาวกรีก อังกฤษ โรมาเนีย และบัลแกเรีย (มีคนไทยประมาณ 200 คน)ไซปรัสเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ห่างจากซีเรียไปทางตะวันตก 105 กิโลเมตร ห่างจากตุรกีไปทางใต้ 75 กิโลเมตร และห่างจากอียิปต์ทางเหนือ 380 กิโลเมตร จุดที่ใกล้ที่สุดในกรีซคือเกาะโรดส์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก 380 กิโลเมตร ไซปรัสเป็นเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ใหญ่เป็นอันดับสาม (รองจากเกาะซิซิลีและซาร์ดิเนียของอิตาลี)
2. ประวัติประเทศไซปรัส
เชื่อกันว่าชื่อของเกาะไซปรัสมาจากคำว่า Cyprium ซึ่งแปลว่าทองแดง (Copper) การค้าทองแดงเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล กับตะวันออกกลาง และในภูมิภาคอีเจียน (Aegean region) ทั้งหมด
ไซปรัสเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2502 (34 ปี) และได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2503 ตามข้อตกลงซูริกและลอนดอน (Zürich and London Agreement) หลังจากการต่อสู้กับการปลดปล่อยด้วยอาวุธเพื่อต่อต้านการปกครองภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ
ไซปรัสเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 หนังสือเดินทางของสาธารณรัฐไซปรัสถือเป็นพลเมืองยุโรปทุกประการ แต่ไม่ใช้กับดินแดนภายใต้การยึดครองของตุรกี เนื่องจากความขัดแย้งในการแบ่งแยกดินแดนยังไม่ได้รับการแก้ไข และการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความคืบหน้า ในสถานการณ์ที่ยังไม่สงบ รัฐบาลไซปรัสจึงให้บริการเท่าที่จำเป็นแก่ชาวไซปรัสตุรกี รัฐบาลปัจจุบันได้มุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างความไว้วางใจ และเยียวยาจิตวิญญาณของการปรองดองระหว่างสองชุมชน เพื่อส่งเสริมการรวมประเทศไซปรัส ให้เกิดการกลับคืนสู่สังคมและเศรษฐกิจเดียวกันในอนาคต
3. สถานการณ์เศรษฐกิจ
ข้อมูลล่าสุดจากคณะกรรมาธิการยุโรปชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจของไซปรัสที่เติบโตขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ในปีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 และมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ส่งผลให้ GDP ปี 2563 ลดลงอย่างมาก (-4.4%) ในปี 2564 ไซปรัสสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว GDP เติบโต +6.6% ในปี 2565 ไซปรัสเติบโต +5.6% และในปี 2566 จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ +2.1%
ในส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) ในปี 2565 เท่ากับ 31,460 เหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเท่ากับ 31,726 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 34,639 เหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2567 อยู่ที่ 37,323 เหรียญสหรัฐฯ
ในปี 2565 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 6.8% (เทียบกับ 7.5% ในปี 2564) หนี้สาธารณะอยู่ที่ 86.5% (เทียบกับ 101.2% ในปี 2564) อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.6% (เทียบกับ 4.8% ในปี 2564) โดยได้แรงหนุนจากราคาพลังงานและการบริการที่สูงขึ้น ไซปรัสขาดดุลการค้าจากการนำเข้า-ส่งออก ในปี 2565 ประมาณ 5.2 พันล้านยูโร ในขณะที่ ในปี 2564 ขาดดุลการค้า 4.5 พันล้านยูโร
4.การค้าระหว่างประเทศ
4.1 การนำเข้าของไซปรัส
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) ไซปรัสนำเข้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 7,555.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +2.73% เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 7,355.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยประเทศที่ไซปรัสนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรีซ มูลค่า 1,307.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-19.53%) สหราชอาณาจักร มูลค่า 1,245.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+506.64%) อิตาลี มูลค่า 527.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-30.97%) จีน มูลค่า 418.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-8.81%) อิสราเอล มูลค่า 385.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-25.99%)
4.2 การส่งออกของไซปรัส
ข้อมูลจาก Global Trade Atlas แสดงให้เห็นว่าช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) ไซปรัสส่งออกไปทั่วโลกมีมูลค่า 2,417.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -0.23% เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 2,422.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยประเทศที่ไซปรัสส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ลิเบีย มูลค่า 286.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+252.93%) หมู่เกาะมาร์แชลล์ มูลค่า 278.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+126.69%) เลบานอน มูลค่า 204.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-18.57%) กรีซ มูลค่า 147.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-26.54%) และ ไลบีเรีย มูลค่า 144.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (+5.22%)
4.3 การค้าระหว่างไทย – ไซปรัส
ปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) มูลค่าการค้าระหว่างไทย – ไซปรัส มีมูลค่า 24.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +11.99% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 20.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +8.94% และการนำเข้ามูลค่า 4.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +27.61% ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับไซปรัสเป็นมูลค่า 15.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ +4.40% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564
5. ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
5.1 ประเทศไซปรัสเป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าไปท่องเที่ยวมากที่สุดในยุโรป เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เป็นเกาะ มีฝั่งทะเลที่สวยงามและอากาศอบอุ่นกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป อีกทั้งค่าครองชีพที่ยังไม่สูงนัก รัฐบาลไซปรัสสนับสนุนและต้องการลงทุนจากต่างประเทศอีกมากเพื่อมาพัฒนาภาคสาธารณูปโภคและการท่องเที่ยว การสร้างรีสอร์ทขนาดใหญ่ สนามกอล์ฟทันสมัย ท่าจอดเรือยอชท์และเรือสำราญ จะทำให้ไซปรัสกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักกอล์ฟชั้นนำและนักท่องเที่ยวระดับพรีเมียม ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากประเทศไทยก็มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และมีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างงานบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท เป็นต้น ภาคส่วนเหล่านี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวยุโรปที่หลีกเลี่ยงราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ
5.2 ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสามารถดำเนินการพร้อมกับธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารไทยในไซปรัสยังมีจำนวนไม่มากนัก และน่าจะมีแนวโน้มดีในการขยับขยายให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น และส่งเสริมด้านคุณภาพด้วยการสนับสนุนการใช้วัตถุดิบของไทยอย่างแท้จริง นักลงทุนด้านร้านอาหารจากไทยจึงควรลองศึกษาโอกาสในการมาเปิดร้านอาหารไทยในไซปรัส ทั้งการร่วมทุนเปิดในโรงแรมขนาดใหญ่ หรือการเปิดตามสถานที่ท่องเที่ยว ที่ยังมีโอกาสอีกมาก
5.3 ความต้องการสินค้าอาหารทั่วไปยังมีมาก เนื่องจากตลาดยังเติบโตไม่มากนัก และเพื่อตอบสนองความเติบโตของร้านอาหาร จึงน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ สด แห้ง แช่แข็ง กระป๋อง ฯลฯ และอื่นๆ เนื่องจากไซปรัสเนียเป็นเกาะ สภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาทอดยาวทำให้มีข้อจำกัดมากในการทำเกษตร และต้องพึ่งพาการนำเข้าอีกมาก
5.4 ในปี 2566 (เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) สินค้าที่ไซปรัสนำเข้าโดยตรงจากไทยอันดับต้นๆมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (+27.86%) เครื่องจักกลและส่วนประกอบ (+270.49%) ปลาหมึกมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (+19.83%) เครื่องดื่ม (+14.31%) อัญมณีและเครื่องประดับ (+24.07%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (+361.32%) เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสามารถผลักดันให้มีการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหาร ก็จะช่วยให้การส่งออกสินค้าอาหารทั้งของสดแห้ง และสำเร็จรูป มารองรับความต้องการของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันสินค้าอาหารไทยหลายประเภทก็ส่งออกไปไซปรัสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
5.5 ตลาดไซปรัสเป็นตลาดที่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางการเงิน การธนาคาร และเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปแล้ว ทำให้กลายเป็นประเทศที่นักลงทุนชาวยุโรปให้ความสนใจ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาตลาดและข้อมูลสำหรับการหาลู่ทางในการลงทุน เนื่องจากสามารถใช้เป็นทางผ่านในการเข้าสู่ตลาดยุโรปอื่นๆอีกด้วย และยังมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ยังเอื้อประโยชน์หลายด้าน แต่ควรต้องเฝ้าระวังด้านการเมือง ที่มีรัฐบาลแบ่งแยกถึงสองส่วน กฎระเบียบต่างๆก็ย่อมซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
5.6 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรัฐบาลไซปรัสได้ให้ใบอนุญาตผู้พำนักถาวร การย้ายไปพำนักและทำงานในไซปรัส สามารถขอสัญชาติและถือครองพาสปอร์ตไซปรัส ที่มีขั้นตอนยุ่งยากและค่าใช้จ่ายน้อยกว่าประเทศอื่นๆในสหภาพยุโรป และจะได้รับสิทธิเหมือนเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป
——————————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
จัดทำโดย Business Support Center
กันยายน 2566
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 4 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 6318901 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ