เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 กรมศุลกากรจีนได้ออก “ประกาศข้อกำหนดการกักกันพืชสำหรับการนำเข้ามะพร้าวสดจากกัมพูชา” ที่ตรงตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ โดยตามประกาศดังกล่าวได้มีการเน้นย้ำเกี่ยวกับข้อกำหนดการนำเข้า โดยเฉพาะศัตรูพืชที่จีนกังวล ได้แก่ แมลงดำหนามมะพร้าว ปลวกปากงอ แมลงจำพวกเพลี้ยแป้งสีเทา เพลี้ยแป้งสับปะรดสีเทา เพลี้ยแป้งน้อยหน่า ไรศัตรูมะพร้าว ฯลฯ โดยก่อนถึงฤดูส่งออกทุกปีกัมพูชาต้องจัดเตรียมรายการจดทะเบียนให้จีนหลังจากตรวจสอบและอนุมัติจากจีนแล้ว ทางการจีนจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมศุลกากร และก่อนการส่งออก กัมพูชาต้องทำการตรวจสอบตัวอย่างในอัตราร้อยละ 2 สำหรับมะพร้าวแต่ละชุดที่ส่งออกไปยังประเทศจีน หากไม่พบปัญหาสุขอนามัยพืชเกิดขึ้นภายในสองปี อัตราการสุ่มตัวอย่างจะลดลงเหลือร้อยละ 1

ตามรายงานก่อนหน้านี้ นายซวงน้อย ผู้ก่อตั้งชุมชนปลูกมะพร้าวหอมและรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชามีมะพร้าวไม่เพียงพอสำหรับการส่งออกเนื่องจากอุปทานภายในประเทศยังไม่เพียงพอ อีกทั้งยังต้องนำเข้าจากไทยและเวียดนามเพื่อรองรับตลาดในประเทศอีกด้วย กัมพูชาต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี หรืออีกอย่างน้อย 2 ล้านต้น เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีต้นมะพร้าวเพียงประมาณ 1 ล้านต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สมาชิกของชุมชนมะพร้าวกัมพูชาได้ขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวทุกปีตามสถานการณ์ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ในปี 2563 เกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวอย่างมาก ในปี 2566 จะเริ่มการผลิตมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป กัมพูชาจะส่งออกมะพร้าวไปยังตลาดจีนมากขึ้น

ปัจจุบันพื้นที่ผลิตมะพร้าวหลักในประเทศกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดเซจู จังหวัดกัมปอต และจังหวัดสีหนุวิลล์ และเริ่มขยายไปยังจังหวัดกำปงชนัง จังหวัดโพธิสัต จังหวัดพระตะบอง จังหวัดบันทายเมียนเจย จังหวัดกำปงธม จังหวัดสวายเรียง จังหวัดสยาม จังหวัดลี และจังหวัดอื่นๆ ทางการกัมพูชาสนับสนุนเกษตรกรที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ในการปลูกมะพร้าว เนื่องจากมะพร้าวปลูกและดูแลรักษาง่าย ให้ผลได้ภายใน 4 ปี และมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสูงสุด 30 ปี ตามข้อมูลของ Report Linker การผลิตมะพร้าวของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 0.4              ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือประมาณ 72,030 ตันภายในปี 2569 โดยประเทศกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลกในด้านการผลิตมะพร้าวนับตั้งแต่ปี 2509 โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี จนถึงขณะนี้ กัมพูชาได้รับอนุญาตให้ส่งออกมะพร้าวสด กล้วย มะม่วง ลำไย และผลไม้สดอื่นๆ ไปยังประเทศจีน ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในคู่แข่งของไทยที่ออกผลไม้ไปยังจีน ที่ควรจับตามองต่อไป

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมะพร้าวของจีนเฟื่องฟูอย่างมาก ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมะพร้าวสำเร็จรูปแบบใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กาแฟลาเต้มะพร้าว น้ำมะพร้าวผสมมะม่วง เป็นต้น เบื้องหลังความนิยมของเครื่องดื่มมะพร้าว มาจากการที่ชาวจีนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น เนื่องด้วยมะพร้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปี 2565 จีนนำเข้ามะพร้าวสูงถึง 1.07 ล้านตัน ประมาณ 6 เท่าของสิบปีที่แล้ว โดย “รายงานการวิจัยเกี่ยวกับการวิจัยเชิงลึกและการคาดการณ์แนวโน้มการลงทุนของอุตสาหกรรมน้ำมะพร้าวของจีนระหว่างปี 2563 – 2568” แสดงให้เห็นว่าความต้องการมะพร้าวของจีนสูงถึง 2.6 พันล้านลูกต่อปี ในขณะที่การผลิตมะพร้าวต่อปีของมณฑลไห่หนานมีเพียงประมาณ 250 ล้านลูกต่อปีเท่านั้น  ปัจจุบัน จีนต้องนำเข้ามะพร้าวจากไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความต้องการมะพร้าวในจีนยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอนุญาตให้นำเข้ามะพร้าวจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ส่งออกมะพร้าว ที่จะสามารถขยายการส่งออกได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกมะพร้าว ควรติดตามสถานการณ์ความต้องการมะพร้าวในจีน เพื่อเตรียมพร้อมในการปรับปรุงและขยายการกำลังการผลิต การควบคุมและรักษาคุณภาพเพื่อรักษาตลาด รวมถึงควรศึกษาข้อกำหนดการนำเข้ามะพร้าวของจีน และนำมาปรับใช้กับการส่งออกมะพร้าวของไทย เพื่อให้การส่งออกมะพร้าวของไทยเป็นไปอย่างราบรื่นต่อไป

 

ที่มา:

江楠鲜品B2B平台

https://food.cnr.cn/jdt/20230920/t20230920_526426940.shtml

www.baidu.com

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

thThai