รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับอิตาลี ประจำเดือนสิงหาคม 2566
1. สถานการณ์เศรษฐกิจอิตาลีโดยรวม
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้ว่าจะมีตัวเร่งน้อยลงก็ตาม การเติบโตของ GDP ในสหภาพยุโรปช่วงฤดูร้อนเมื่อเทียบกับฤดูใบไม้ผลิ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.0% จะลดลงมาอยู่ที่ 0.8% สำหรับปี 2566 และจาก 1.7% มาอยู่ที่ 1.4% ในปี 2567 ส่วนการเติบโตของสหภาพยุโรปที่คาดการณ์ไว้ตลอดปีอยู่ที่ 1.1% ลดลงเป็น 0.8% สำหรับปี 2566 และจาก 1.6% เป็น 1.3% สำหรับปี 2567
อัตราเงินเฟ้อจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อ IPCA (harmonized index of consumer prices) ในสหภาพยุโรป ที่คาดการณ์ไว้สำหรับช่วงฤดูใบไม้ผลิจะอยู่ที่ 6.5% ในปี 2566 (เทียบกับ 6.7% ที่เคยคาดการณ์ไว้) และอยู่ที่ 3.2% ในปี 2567 (เทียบกับ 3.1% ที่เคยคาดการณ์ไว้) ส่วนอัตราเงินเฟ้อของสหภาพยุโรปจะอยู่ที่ 5.6% ในปี 2566 (เทียบกับ 5.8% ที่เคยคาดการณไว้) และ 2.9% ในปี 2567 (เทียบกับ 2.8% ที่เคยคาดการณไว้)
การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและอิตาลีในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยหลักต่างๆ ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริโภค แสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องมายาวนานข้ามปี และยังคงเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่องกับสินค้าและบริการพื้นฐานที่จำเป็นบางรายการ กำลังส่งผลกระทบหนักกว่าที่คาดไว้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แม้ว่าราคาพลังงานจะลดลงแต่ก็มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากเป็นตลาดเสรี ที่การขึ้นราคาของผู้ประกอบการมักเป็นไปตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลก และการค้ากำไรที่รัฐบาลก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้มากนัก ตลาดแรงงานมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการว่างงานต่ำ การขยายการจ้างงานมีอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ การชะลอตัวอย่างรวดเร็วในการขอสินเชื่อธนาคารเพื่อสร้างสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปอย่างต่อเนื่อง กำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงฤดูร้อนและเดือนต่อๆไป ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ แม้ว่าช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาจะได้รับอานิสงค์อย่างมากจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติในหลายประเทศของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลี ที่มีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน และมีโบราณสถานมากมาย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในอิตาลีเพิ่มขึ้น (+3.6%) นักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกามากที่สุด (+17.3%) ดุลการค้าด้านการท่องเที่ยวของอิตาลีเกินดุล 2.9 พันล้านยูโร การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่า 5.7 พันล้าน (+8%) ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,760 ยูโรต่อคน ชาวอเมริกันที่ใช้จ่ายระหว่าง 2000- 5000 ยูโร มีจำนวน 32.3%
โดยรวมแล้ว การชะลอตัวของการเติบโตในสหภาพยุโรปและอิตาลีคาดว่าจะยังคงมีอยู่ในปี 2567 และผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวดคาดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตจะฟื้นตัวเล็กน้อยในปีหน้า อัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง รายได้ที่แท้จริงจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น และราคาวัตถุดิบที่ลดลงจะฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานให้เป็นปกติ
สงครามที่ดำเนินอยู่ระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังก่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ก่อให้เกิดบรรยากาศของความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในทุกภาคส่วน นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นอาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้ แต่ในทางกลับกันน่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความวิตกกังวลต่อสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น แผ่นดินไหว อัคคีภัย อุทกภัย โคลนถล่ม ที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งที่คาดการณ์อย่างแม่นยำได้ยาก สร้างความเสียหายต่อผู้คน อสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
2. ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
2.1 ดัชนีการบริโภค (Consumption index)
ข้อมูลของสมาพันธ์การค้าอิตาลี (Confcommercio) แสดงให้เห็นว่าในเดือนสิงหาคม 2566 ดัชนีการบริโภคโดยรวมลดลง -0.2% โดยดัชนีการบริโภคด้านบริการเพิ่มขึ้น +1.3% ส่วนดัชนีการบริโภคด้านสินค้าปรับตัวลดลง -1.1% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565
2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Consumer and business confidence)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในเดือนกันยายน 2566 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงจาก 106.5 จุด มาอยู่ที่ 105.4 จุด ส่วนความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงจาก 106.7 มาอยู่ที่ 104.9 จุด
2.3 ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือนสิงหาคม 2566 ว่าเพิ่มขึ้น +0.3% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 และเพิ่มขึ้น +5.4% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565
2.4 ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Producers Price)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมว่า ในเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้น +0.5% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 (ที่ลดลง -10.2%) และลดลง -12.2% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565
2.5 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขคาดการณ์ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2566 ว่าลดลง -0.7% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ในขณะที่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมช่วงสามเดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม) เพิ่มขึ้น +0.2% เมื่อเทียบกับสามเดือนก่อนหน้า
2.6 การค้ากับประเทศนอกสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) (Trade exchange with extra EU)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) แสดงตัวเลขการค้าระหว่างกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) ว่าในเดือนสิงหาคม 2566 การนำเข้าเพิ่มขึ้น +3.8% และการส่งออกเพิ่มขึ้น +7.1% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566
2.7 การค้าปลีก (Retail Trade)
สำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (Istat) รายงานการค้าปลีกว่า ในเดือนกรกฎาคม 2566 ว่าตลาดการค้าปลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.4% แต่ปริมาณลดลง -0.2%) โดยการค้าปลีกสินค้าอุปโภค (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.1% และปริมาณลดลง -0.4%) ส่วนการค้าปลีกสินค้าบริโภค (มูลค่าเพิ่มขึ้น +0.8% ส่วนปริมาณลดลง -0.2%) เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566
3. สถานการณ์การค้าไทย – อิตาลี
3.1 การค้าไทย – อิตาลี

ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนสิงหาคม) การค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่า 3,531.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น +5.21% แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,446.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น +3.97% และการนำเข้ามูลค่า 2,084.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น +6.09% ไทยขาดดุลการค้ากับอิตาลี คิดเป็นมูลค่า 638.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเท่ากับ -11.24% เมื่อเทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2565
3.2 การส่งออกของไทยไปอิตาลี
ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนสิงหาคม) การส่งออกของไทยไปอิตาลีมีมูลค่า 1,446.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.97% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,391.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
3.3 การนำเข้าของไทยจากอิตาลี
ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม-เดือนสิงหาคม) ไทยนำเข้าจากอิตาลีมีมูลค่า 2,084.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.09% เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 (ที่มีมูลค่า 1,965.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
4. ข้อคิดเห็นของ สคต.มิลาน
4.1 ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยังคงมีต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ผู้บริโภคอิตาลีหันมาใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเลือกซื้อเท่าที่จำเป็น ราคาถูกลง หรือที่มีโปรโมชั่น สินค้าที่สามารถแข่งขันได้จึงต้องมีนวัตกรรม คุณภาพสูง ราคาเข้าถึงได้ และต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาพฤติกรรมตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าให้ตรงตามสถานการณ์
4.2 ปัญหาเงินเฟ้อ ที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการพุ่งขึ้นสูงเมื่อปีที่ผ่านมา แม้ในปีนี้ความพยายามของธนาคารกลางสหภาพยุโรปในการใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ ก็สามารถทำให้เงินเฟ้อลดลงอย่างช้าๆ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่น่าพอใจของธนาคารกลางสหภาพยุโรป ราคาที่พุ่งขึ้นสูงก็ยังไม่สามารถลดลงมากนักแม้เงินเฟ้อเริ่มปรับลดลงก็ตาม ยังบั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และชะลอการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม
4.3 ปัญหาภาคการธนาคารและการลงทุน การประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหภาพยุโรป ซึ่งการขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็น 4.25% มีผลต่อการชะลอตัวของการค้าและการลงทุน ทำให้อิตาลีเริ่มหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และหาซัพพลายเออร์ภายในสหภาพยุโรป ที่มีค่าแรงถูกกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการนำเข้าข้ามทวีป ที่มีค่าใช้จ่ายด้านขนส่ง ภาษีนำเข้า และระยะเวลารอสินค้าที่นานกว่า ผู้ประกอบการควรศึกษาผลกระทบทางการเงิน เพื่อระมัดระวังการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้นำเข้า
4.4 รัฐบาลอิตาลีมุ่งส่งเสริมการส่งออกสินค้า Made in Italy และเริ่มหาซัพพลายเออร์และพันธมิตรทางการค้าในประเทศที่เล็กลง ที่ไม่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในระดับที่รุนแรง ประเทศไทยก็ประเทศเป้าหมายที่นักลงทุนอิตาลีให้ความสนใจ
4.5 ปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูง และไม่มีทีท่าจะลดลงมากนัก เนื่องจากอิตาลียังต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ความพยายามเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ที่ยังต้องใช้เวลาและการลงทุนที่สูง เพื่อสร้างความปลอดภัยในด้านพลังงาน แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนจะยังมีราคาสูงอยู่ แต่เป็นพลังงานในอนาคตที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การลงทุนติดตั้งแผงโซล่าเซล์เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นการลงทุนที่มหาศาล และจะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้มากที่สุด
4.6 ปัญหาผู้อพยพลี้ภัยสงครามและความยากจน ที่หลบหนีเข้ามาทางทะเล ที่นับวันจะไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีจำนวนมากและหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย แม้ว่าจะมีการเจรจาหลายรอบจากประเทศต้นทางอพยพที่ทวีปอาฟริกาก็ตาม หรือความพยายามผลักดันให้เป็นการแก้ปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับอิตาลีต่างเริ่มเข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมืองตามด่านต่างๆ เป็นปัญหาที่กำลังกระทบต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องรับภาระให้ที่อยู่อาศัยและเลี้ยงดู ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมจากผู้อพยพที่หลบหนีไปได้
4.7 ปัญหาสงครามระหว่างรัฐเซียและยูเครน ซึ่งยืดเยื้อและไม่มีมีท่าว่าจะสิ้นสุดในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลต่อการรับดูแลผู้ลี้ภัยสงครามชาวยูเครน การจัดงบประมาณด้านการทหาร และความช่วยเหลือต่างๆแก่ยูเครน เนื่องจากอิตาลีเป็นฝ่ายสนับสนุนประเทศยูเครน ผู้ส่งออกไทยควรติดตามข่าวความเคลื่อนไหวนโยบายด้านสงคราม การเมือง และการค้าระหว่างประเทศของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด
4.8 ภัยธรรมชาติที่รุนแรงเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ แผ่นดินไหว น้ำท่วมและโคลนถล่ม ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และอาคารเชิงพาณิชย์ หน่วยงานราชการก็ไม่สามารถรับมือได้ทันท่วงที เศรษฐกิจของหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง ผู้ประกอบการควรศึกษาความต้องการของสินค้าที่ถูกทำลายเสียหายจากภัยธรรมชาติ และกำลังเป็นที่ต้องการเพื่อนำมาซ่อมแซมและชดเชย
4.9 สินค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ยังสามารถทำตลาดได้ดี เช่น แผงโซล่าร์พลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บอยเล่อร์ เครื่องปรับอากาศ (ชนิดปรับได้ทั้งความร้อนและเย็น) เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษากฎระเบียบสหภาพยุโรปอย่างละเอียด เนื่องจากมีข้อกำหนดของสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ในตลาดอิตาลีและยุโรปมีการปรับปรุงอยู่เสมอ
4.10 สินค้าอาหารที่แนวโน้มตลาดยังดี ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส อาหารแห้ง เครื่องดื่มและน้ำผลไม้ที่เพิ่มความสดชื่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังความผันผวนของปัจจัยการส่งออกเสมอ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ราคาและระยะเวลาการขนส่ง ภาษีนำเข้า ฯลฯ รวมถึงควรวางแผนการค้ากับคู่ค้าและผู้นำเข้าในอิตาลีล่วงหน้าเป็นเวลานานและทำการค้าอย่างรอบคอบ
———————————————————-
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
กันยายน 2566

thThai