สินค้าเพื่อทารก แรงไม่ตกในตลาดอินเดีย

1. ภาพรวมของตลาด
สินค้าสำหรับทารกครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของเด็กอายุระหว่าง 0-2 ปี ได้แก่ ของใช้เพื่อการทำความสะอาด การแต่งกาย การนอน อุปกรณ์และของใช้ในการรับประทานอาหาร กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และนันทนาการ และการเดินทางสำหรับทารก ซึ่งมีพ่อและแม่เป็นผู้บริโภคที่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้
นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา อินเดียมีทารกเกิดขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน สะท้อนถึงความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับแม่และเด็กทารกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของทุกปี ข้อมูลจากสมาคมวิชาชีพพยาบาลแห่งอินเดีย (Trained Nurses’ Association of India) ระบุว่าการตั้งท้องจะมีสูงในช่วงปลายปีของทุกปี สืบจากพฤติกรรมการแต่งงานจะจัดกันตั้งแต่ปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูร้อน หรือระหว่างเดือนกันยายน – มีนาคม และหลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน จะมีการตั้งท้องบุตรคนแรก ดังนั้น สถิติของ Health Management Information System ของรัฐบาลอินเดียพบว่าใน 4 เดือนสุดท้ายของปีปฏิทินจะมีการตั้งท้องมากที่สุดคือประมาณ 40% ของจำนวนทารกทั้งหมด และลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในรัฐต่างๆ ของอินเดียเช่นกัน
การศึกษาตลาดในสินค้าแม่และทารกโดย Technavio บ่งชี้ว่าขนาดของตลาดในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 26.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2563 – 2568 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 11% ต่อปี สอดคล้องกับ Expert Market Research Group คาดการณ์ว่าตลาดในช่วงปี 2564 – 2569 จะขยายตัวเฉลี่ย 14.8% ต่อปี ในขณะที่ Data Bridge Market Research คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ยถึง 17.4% ต่อปี และในปี 2572 ตลาดสินค้าสำหรับทารกในอินเดียจะมีมูลค่าสูงถึง 39.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2. แนวโน้มความต้องการ (Demand)
 ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มี
ความจำเป็นและมีทารกแรกเกิดเกิดขึ้นทุกขณะ ทำให้มีความต้องการสินค้าต่างๆ ตามมา รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับการฆ่าเชื้อด้วย ในขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าสำหรับทารกมีการปรับตัวมาใช้ช่องทางจำหน่ายออนไลน์และจัดส่งถึงบ้าน ทำให้ยอดขายสินค้าประเภทนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่กลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเนื่องจากการซื้อเพื่อกักตุนไว้ใช้ในช่วงล็อคดาวน์
 ข้อมูลจาก Population Foundation of India (PFI) ระบุว่าอัตราการเกิดของทารกในอินเดีย
ลดลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการเกิด 51 คนต่อนาทีหรือประมาณปีละ 25 ล้านคน โดยมีอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility Rates หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีวัยเจริญพันธุ์คนหนึ่งจะมีได้ตลอดวัยเจริญพันธุ์) อยู่ที่ 2.2 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเกิดของคนอินเดียคือการที่คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (อายุ15-44 ปี) โดย 65% ของประชากรยังมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ยังอยู่ในช่วงของการสร้างครอบครัว ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าสำหรับทารกที่เติบโตต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปอีกหลายปี โดยเฉพาะในรัฐพิหาร อุตระประเทศ มัธยประเทศ และ คุชราต ในขณะที่ รัฐตอนใต้จะมีแนวโน้มจำนวนทารกเกิดใหม่น้อยกว่า ได้แก่ รัฐมหาราชฏระ เกรละ อานฑรประเทศ และ ทมิฬนาฑู

 ครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอินเดียจะมีวิถีชีวิตแบบคนเมือง โดยมีแนวโน้มที่มารดาจะออกไป
ทำงานนอกบ้านมากขึ้น และรับรู้ข่าวสารต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์เป็นหลัก รวมถึงมีค่านิยมที่พร้อมจะจ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัย นอกจากนั้น จะมักซื้อสินค้าในจำนวนมากเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นรายเดือน โดยมีพฤติกรรมซื้อซ้ำในสัดส่วนมากกว่า 50% ของผู้ซื้อทั้งหมด

 ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการเลี้ยงดูทารก/เด็กอ่อน (New Born, Infant and Toddler) ในอินเดียอยู่ที่
ประมาณ 6,886 เหรียญสหรัฐต่อคน โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าเด็กมีสัดส่วนมากที่สุด ด้วยมูลค่าประมาณ 483 เหรียญสหรัฐ ผ้าอ้อมประมาณ 365 เหรียญสหรัฐ ของใช้ต่างๆ อาทิ เครื่องนอน เก้าอี้ และ รถเข็นรวมกันประมาณ 124 เหรียญสหรัฐ และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับของขวัญ/ของเล่นสำหรับวันเกิดของทารกอีกประมาณ 345 เหรียญสหรัฐ

 ครอบครัวที่มีกำลังซื้อมักจะให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย
อาทิ เบาะสำหรับเด็กทารกในรถยนต์ รถเข็นและเป้สำหรับอุ้มทารก และเครื่องแต่งกาย/แฟชั่น นอกจากนี้ พ่อแม่ที่มีกำลังซื้อจะคำนึงถึงส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย อาทิ ผ้าอ้อมที่ทำจากเยื่อไผ่และไร้กลิ่น แป้ง ทาตัวเด็กที่ทำจากข้าว กระดาษทิชชูเปียกที่ไม่มีสารเคมี รวมทั้งจะมีความมั่นใจในการซื้อหามีสัญลักษณ์รับรองว่าไม่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง นอกจากนี้ ในครอบครัวที่มีรายได้ดี คุณพ่อจะมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกและตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับทารกมากขึ้น ในขณะที่ อัตราส่วนเพศชาย-หญิงของเด็กที่เกิดใหม่ (Sex Ratio at Birth) ของอินเดียอยู่ที่ 1,000 : 910 คน ซึ่งเพศของเด็กและผู้เลี้ยงดูจะมีผลต่อค่านิยมต่อสินค้าด้วยเช่นกัน

3. ภาวะการแข่งขันในตลาด (Supply)
 ตลาดสินค้าสำหรับทารกในอินเดียมีการแข่งขันค่อนข้างสูงทั้งจากผู้ผลิตท้องถิ่นและผู้ผลิตต่างชาติที่
เข้ามาลงทุนในอินเดีย โดยสินค้าอาหารจะมี Nestle เป็นผู้นำตลาด ในขณะที่สินค้าที่ไม่ใช้อาหารนั้น Johnson & Johnson ครองตลาดอยู่ที่สัดส่วน 54.3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผมและผิว โดยมีอัตราเติบโตลดลงจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ บริษัทต่างชาติหลายแห่งมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น อาทิ Artsana India (แบรนด์ Chicco) จากอิตาลี มีสัดส่วนตลาด 1.9%, Kimberly-Clark Lever (Huggies Baby) จากสหรัฐฯ สัดส่วน 0.5%, Unicharm (Mamy Poko) จากญี่ปุ่น สัดส่วน 0.2% และ Pigeon India (Pegion) จากญี่ปุ่น สัดส่วน 0.2% สะท้อนถึงแนวโน้มการยอมรับของตลาดที่ตอบรับสินค้าคุณภาพตามมาตรฐานจากต่างประเทศ

 ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่าช่องทางการจำหน่ายส่วนใหญ่ยังคงเป็นการซื้อผ่านร้านค้าเฉพาะทาง
(Specialty Store) โดยเฉพาะร้านขายยาและร้านเครื่องสำอาง/เครื่องประทินผิว ตามด้วยร้านค้าปลีกทั่วไปร้านในไฮเปอร์มาเก็ต และ ซุปเปอร์มาเก็ต ตามลำดับ ในขณะที่ ช่องทางจำหน่ายผ่าน e-Commerce & delivery กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากสถานการณ์ภาวะโควิด-19

 รายงานของ ASSOCHAM ระบุว่าช่องทางการจำหน่ายออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้า
สำหรับทารกมานานแล้ว โดยมีเว็บไซต์ชื่อ FirstCry.com และ BabyOye.com ซึ่ง FirstCry.com เป็นร้านค้าปลีกเฉพาะทางสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ในขณะที่ BabyOye.com จะเน้นขายทั้งสินค้าสำหรับทารกและสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกออนไลน์รายอื่น ได้แก่ Mothercare.in / Chicco.in และ Hopscotch.in ซึ่งเป็นช่องทางการขายในส่วนของสินค้านำเข้าและแฟชั่น นอกเหนือจากหน้าร้านออนไลน์ของผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Himalaya, Dabur, Patanjali และ Hindustan Uniliver
 สำหรับช่องทางการขายผ่านตลาดกลางออนไลน์ พบว่ามี MyBabyCart.com จะเป็นแพลตฟอร์ม
ที่ได้รับความนิยมในการซื้อขายสินค้า โดยมีผู้ประกอบการผู้หญิงจำนวนมากนำสินค้ามาวางขาย นอกจากนั้นแพลตฟอร์มตลาดกลางทั่วไป เช่น Amazon, Flipkart, Snapdeal และ Browntape ทั้งนี้ พบว่าผลิตภัณฑ์ดูแลเด็ก/ทารกเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตราขยายตัว รองจากเสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อนึ่ง แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์รายเล็กในอินเดีย ได้แก่ BabysJoy.com, LittleShop.in / NewBabyClothes.com, Hoopos.com และ Bonsaii.in
แนวโน้มการนำเข้าและประเทศคู่แข่ง
 ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับทารก (HSN 9619) มีมูลค่านำเข้าในปี 2565 อยู่ที่ 107.07 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักในสัดส่วน 32.55% ของการนำเข้าทั้งหมด ตามด้วยอินโดนีเซีย 26.42% รัสเซีย 10.94% และ ไทย 10.68% ทั้งนี้ การนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 11.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า -34.48% โดยมีรัสเซียก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญที่ชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสามปีที่ผ่านมา

 สินค้าถัดมาคือเสื้อผ้าสำหรับทารก (ที่มีการถักแบบนิตหรือแบบโครเชต) (HSN 6111) ในปี 2565
อินเดียนำเข้าเป็นมูลค่า 27.19 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักในสัดส่วน 54.48% ของการนำเข้าทั้งหมด ตามด้วยบังกลาเทศ 12.38% สหราชอาณาจักร 6.34% ฮ่องกง 5.32% และ ไทย 4.84% โดยการนำเข้าจากไทย มีมูลค่า 1.31 แสนเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 56.25% จากปีก่อนหน้า และเติบโตต่อเนื่องสามปี

 สำหรับเสื้อผ้าทารก (ที่ไม่ได้ถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์) (HSN 6209) มีมูลค่านำเข้า 7.63
ล้านเหรียญสหรัฐ มีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักในสัดส่วน 42.23% ตามด้วยบังกลาเทศ 20.22% ฮ่องกง 16.60% สเปน 6.7% และ สหราชอาณาจักร 5.81% โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 8 ในสัดส่วนเพียง 0.85% ด้วยมูลค่า 6.50 หมื่นเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 41.97% ทำให้ไทยยังตามหลังเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ขยายตัวถึง 574% จากปีก่อนหน้า และเติบโตต่อเนื่องสามปี
 สำหรับสินค้าที่ใช้ในกิจกรรมเรียนรู้และนันทนาการ ได้แก่ ตุ๊กตา (HSN 9503) ในปี 2565 อินเดียมีการนำเข้าเป็นมูลค่า 60.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 50% มีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักในสัดส่วน 84.53% ตามด้วยศรีลังกา 13.56% ในขณะที่ การนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 8 มีสัดส่วนเพียง 0.68% ขยายตัวที่ 94.29% จากปีก่อนหน้า ด้วยมูลค่า 5.26 หมื่นเหรียญสหรัฐ ตามหลังเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างมาเลเซียและเวียดนามที่ครองตลาดในสัดส่วน 2.38% และ 1.38% ตามลำดับ
 สำหรับสินค้าที่เคยมีการนำเข้าจากไทยแต่ขาดช่วงไป คือรถเข็นทารกและเด็กเล็ก (HSN 8715)
โดยปัจจุบันมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลักในสัดส่วน 94.06% ของการนำเข้าทั้งหมด ตามด้วยฮ่องกง 5.8% ทั้งนี้ อินเดียเริ่มนำเข้าจากญี่ปุ่นและไต้หวันด้วย จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าไทยจะสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดตลาดได้หรือไม่
 นอกจากนี้ สินค้าสำหรับทารกที่อินเดียนำเข้ายังรวมถึงเบาะหรือที่นอนทารก (HSN 9404.29)
แป้งสำหรับทารก (HSN 3304.99) ขวดนม (HSN 3923.30) กระดาษเปียกสำหรับทารก (HSN 4818.40) รองเท้าสำหรับทารก (HSN 6404.11) น้ำยาทำความสะอาดสำหรับทารก (HSN 3402.20) จาน/ชาม ภาชนะ (HSN 3924.90) มุ้งสำหรับทารก (HSN 6304.92) เครื่องอุ่นอาหารสำหรับทารก (HSN 8516.79) เครื่องชั่งน้ำหนักทารก (HSN 8423.10) และตู้อบทารก (HSN 9018.90.92) โดยมีจีนเป็นแหล่งนำเข้าหลัก ทั้งนี้ อินเดียมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าและจะผลิตเองให้ได้มากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่อาจมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นในระยะนี้แต่อาจต้องพิจารณาเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในอินเดียในบางสินค้าด้วย

4. ช่องว่างและแนวทางเจาะตลาดของผู้ส่งออกไทย
4.1 สินค้ากลุ่มแรกที่น่าสนใจคือตู้อบสำหรับทารกที่เกิดก่อนกำหนด โดยจากการสำรวจของทางการอินเดียพบว่ามีทารกที่เกิดก่อนกำหนด (Pre-term Birth) ประมาณ 13.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของทารกเกิดใหม่ในอินเดีย นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ตามด้วยปากีสถาน และไนจีเรีย โดยในจำนวนนี้ มีเด็กทารกประมาณ 1 ล้านคนที่ต้องเสียชีวิต สินค้าที่สามารถป้องกันปัญหานี้ได้จึงมีโอกาสที่จะเติมเต็มตลาดในอินเดียได้
4.2 สินค้าในกลุ่มถัดมาคืออาหารสำหรับทารก การสำรวจจากสมาชิกในเฟซบุ๊คของ Breastfeeding Support for Indian Mother จำนวน 950 คน รายงานว่ามีเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ให้นมจากตนเอง โดยแม่ลูกอ่อนในอินเดียจำนวนมากเลือกจึงให้นมลูกโดยการใช้นมสังเคราะห์ (Artificial Milk) ซึ่งผลิตโดยบริษัทต่างชาติหลายรายที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย ด้วยระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล และมีการวิจัยและพัฒนา
4.3 สำหรับสินค้าที่ SMEs สามารถเข้าไปแข่งขันได้คือสินค้าประเภทของใช้ อาทิ กระดาษชำระ ผ้าอ้อม ยาสระผม และ เสื้อผ้า สำหรับแม่และทารกอายุ 6 เดือน – 3 ปี ซึ่งในปัจจุบันมี Jonnson & Johnson ครองตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับผมและผิว Kimberly Clark (Huggies) และ P&G (Pampers) ครองตลาดสินค้ากลุ่มผ้าอ้อมและกระดาษชำระ ในขณะที่เสื้อผ้าทารกและเด็กเล็กนั้นมีผู้ผลิตรายเล็กและรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ โดยแนวโน้มหรือเทรนด์คือการใช้เสื้อผ้าที่เป็นธรรมชาติและไม่มีสารเคมีเจือปนในกระบวนการ โดยผ่านการทดสอบที่น่าเชื่อถือมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตในอินเดียเริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้นเป็นลำดับ อาทิ Amul, Dabur, Himalaya, Mothercare เป็นต้น ซึ่งแบรนด์เหล่านี้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคอินเดียได้ทางสื่อออนไลน์ และการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ที่กำลังขยายตัว อาทิ Firstcry และ Babyoye นอกเหนือจากการเข้าตลาดออนไลน์ทั่วไป เช่น Amazon และ Flipkart ทำให้สินค้าแบรนด์ใหม่ๆ สามารถเจาะตลาดระดับบนได้ เช่น สินค้านำเข้าจากเยอรมนี ชื่อ Sanosan ที่ขายสินค้าระดับพรีเมียม เน้นส่วนประกอบที่มาจากธรรมชาติ ดูแลผิวและผมของเด็กทารก ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าประมาณ 1 แสนราย ทั้งนี้ Sanosan ใช้วิธีการเข้าตลาดโดยร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทยาในเมืองมุมไบ
นอกจากนี้ แนวทางการเข้าสู่ตลาดของต่างชาติสามารถทำได้โดยการเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม/สตาร์ทอัพในอินเดีย ยกตัวอย่างเช่น SoftBank ของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนใน FirstCry และ BabyChakra ที่ได้รับการลงทุนจาก The Good Glamm Group รวมถึง AllThingsBaby และ HunyHuny ซึ่งมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับแม่และทารก อาทิ อุปกรณ์เคลื่อนย้ายทารกยี่ห้อ Little Charlie และรองเท้าสำหรับทารกยี่ห้อ Oui Oui เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษารูปแบบและราคาจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตและตลาดออนไลน์อาทิ MyBabyCart.com, BabysJoy.com, LittleShop.in, NewBabyClothes.com, Hoopos.com และ Bonsaii.in เพื่อวางแผนการผลิตให้มีความแตกต่างและมีราคาที่แข่งขันได้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมควรพิจารณาเข้าไปลงทุนในอินเดีย เพื่อทำธุรกิจผลิตสินค้าหรือร้านค้าปลีกสินค้าในกลุ่มแม่และเด็กทารก โดยรัฐบาลอินเดียเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วน 100% สำหรับร้านค้าที่ขายสินค้าแบบแบรนด์เดียว ทั้งนี้ เพื่อจำหน่ายสินค้าในอินเดียได้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งขยายสาขาด้วยกลไกแฟรนไชส์ไปสู่เมืองรองที่กำลังเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งเป็น ช่องทางการแนะนำสินค้าใหม่และสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงลดจำนวนผู้ค้าในห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงมากเกินไปด้วย

—————————————————————
สคต.ณ เมืองมุมไบ Email: thaitrademumbai@gmail.com

thThai