ท่าทีของตุรกีและผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบปาเลสไตน์-อิสราเอล

เป็นที่ทราบกันดีตามรายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบระหว่างปาเลสไตน์ (กลุ่มการเมืองติดอาวุธฮามาส) และอิสราเอลในขณะนี้ว่า ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มการเมืองติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์ได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศต่ออิสราเอล พร้อมทั้งส่งกองกำลังขนาดเล็กเข้าทำลายกำแพงและจุดผ่านแดนต่างๆ เข้าไปในพื้นที่อิสราเอล และได้ทำการบุกเข้าสังหารทหารและประชาชนอิสราเอล และจับตัวประกันซึ่งมีทั้งทหาร ประชาชนอิสราเอล รวมถึงชาวต่างชาติ เป็นจำนวนมาก และภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการอิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีกลับอย่างหนัก โดยเป็นการโจมตีทางอากาศเข้าไปยังฝั่งของบริเวณฉนวนกาซา และมีการเรียกกำลังพลเพิ่มเพื่อส่งเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ของปาเลสไตน์ ซึ่งจนกระทั่งถึงขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะรุนแรงและยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด

 

ในขณะที่หลายฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลของหลายๆ ประเทศได้ออกมาโจมตีและประณามการบุกโจมตีดังกล่าวของกลุ่มฮามาส พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็ว นายเรเยป ทายยิป แอรโดก์อาน ประธานาธิบดีของตุรกี ได้กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ระหว่างร่วมพิธีเปิดโบสถ์ออร์โธดอกส์ในนครอิสตันบูลว่า “การรับรองความเป็นรัฐปาเลสไตน์ โดยอ้างอิงตามหลังภูมิศาสตร์ ตามเขตพรมแดนเมื่อปี 1967 โดยมีกรุงเยรูซาเล็ม (ตะวันออก) เป็นเมืองหลวงนั้น ไม่อาจจะรอให้ล่าช้าไปมากกว่านี้ได้แล้ว”

 

“สันติภาพในตะวันออกกลางจะสามารถเกิดขึ้นได้ หากเราสามารถหยุดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ได้ ปัญหาปาเลสไตน์เป็นต้นตอของปัญหาในภูมิภาคนี้ ภูมิภาคนี้จะยังคงโหยหาสันติภาพ เว้นแต่จะได้ข้อตกลงที่ยุติธรรม” นายแอรโดก์อาน กล่าวเสริม พร้อมทั้งยังเน้นย้ำอีกว่า “เราควรเลี่ยงสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดความบาดหมาง ปัญหาที่หนักขึ้น ไปจนถึงการนองเลือด นอกจากนี้ ตุรกียังสนับสนุนการใช้วิธีทางการทูตในการเจรจาสันติภาพ” ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของตุรกี นายฮาคาน ฟิดาน ได้ต่อสายตรงพูดคุยกับรัฐมนตรีของชาติต่างๆ เช่น กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ ปาเลสไตน์ และอิหร่าน เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว โดยตุรกีแสดงท่าทีสนับสนุนการแก้ปัญหาของทั้งสองรัฐ รวมถึงแนวทางการสถาปนารัฐปาเลสไตน์

 

และต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายแอรโดก์อาน ได้แสดงท่าทีเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในระหว่างต้อนรับการเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรีออสเตรีย โดยได้กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินรบเข้ามาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อสนับสนุนฝ่ายอิสราเอลว่า “การที่สหรัฐฯ เข้ามาวุ่นวายในภูมิภาคนี้ สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นซีเรียหรือที่ใดๆ ก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็กลายเป็นทะเลเลือดอยู่ดี”

 

จากการตรวจสอบข้อมูลในขณะนี้ ยังไม่ปรากฏผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจหรือการค้าโดยตรงที่ชัดเจนต่อตุรกีจากสถานการณ์สู้รบดังกล่าว แต่จะเป็นผลกระทบทางอ้อมซึ่งอ้างอิงจากตลาดโลกเป็นส่วนใหญ่ อาทิ ดัชนีตลาดหุ้นตุรกีที่ปิดตัวลบ ราคาน้ำมันและราคาทองคำที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูทิศทางและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์ต่อไป ประกอบกับท่าทีของตุรกีหลังจากนี้ว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด โดยมีนักวิเคราะห์บางรายได้แสดงความเห็นว่า ผลกระทบทางเศรษกิจที่อาจเกิดขึ้นกับตุรกีจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะชัดเจนขึ้นหากมีประเทศที่สาม เช่น อิหร่าน เข้าไปมีส่วนร่วม

 

ตามข้อมูลสถิติการค้าในปี 2022 ตุรกีเป็นประเทศคู่ค้ากับอิสราเอลที่ได้ดุลการค้ามาโดยตลอด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2022 ตุรกีส่งออกสินค้าไปยังอิสราเอลคิดเป็นมูลค่ามากถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึงร้อยละ 11 ในขณะที่นำเข้าสินค้าจากอิสราเอลเพียง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ตุรกีส่งออกไปยังอิสราเอลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ยานพาหนะทางบก พลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ตุรกีนำเข้าจากอิสราเอลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชื้อเพลิง/น้ำมัน เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก อุปกรณ์เครื่องจักรกล และสารเคมีอินทรีย์

 

อนึ่ง ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอิสราเอลนั้น แม้จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1950 แต่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองฝ่ายมีทั้งขึ้นและลงอยู่เป็นระยะ โดยครั้งล่าสุดที่มีการลดระดับสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันคือเมื่อปี 2018 อันเนื่องมาจากการโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์ของฝ่ายอิสราเอลทำให้มีการเรียกผู้แทนทางการทูตของตุรกีกลับ และกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลอีกครั้งในปี 2022 โดยมีการส่งผู้แทนอุปทูตเข้าประจำการที่อิสราเอลอีกครั้ง

 

ข้อคิดเห็นจากสำนักงานฯ

 

จะเห็นได้ว่าทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตุรกีกับอสิราเอลที่ผ่านมาในอดีต และจากท่าทีแบบไม่เป็นทางการของผู้นำตุรกี แสดงให้เห็นว่าตุรกีค่อนข้างที่จะเอนเอียงไปทางฝั่งปาเลสไตน์ แต่อาจพิจารณาได้ว่าตุรกียังคงรักษาท่าทีต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซาอยู่ในขณะนี้เพราะประสงค์จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ทั้งสองฝ่าย ทั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและการค้า ซึ่งอิสราเอลก็นับเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญของตุรกี และยังอาจคาดหวังว่าตุรกีจะได้รับประโยชน์ทางการค้าเช่นเดียวกับในสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ตุรกีสามารถค้าขายได้เพิ่มขึ้นกับทั้งสองฝ่ายด้วยการสงวนท่าทีที่ชัดเจนเอาไว้ จึงเห็นได้ว่าตุรกียังไม่ออกมาแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการใดๆ มากนักแม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบสัปดาห์แล้วก็ตาม

 

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดตุรกีและตลาดตะวันออกกลางสมควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอยางต่อเนื่องในทุกแง่มุม เพราะถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องทางการเมืองและการสู้รบเป็นหลัก แต่ที่สุดแล้วคงจะต้องมีผลกระทบในทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในภูมิภาคอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอังการา

thThai