ภาวะสงครามในอิสราเอลปลุกกระแสการชุมนุมประท้วงเพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์ ในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ รวมทั้งอียิปต์

 

หลังจากอิสราเอลได้ประกาศภาวะสงครามกับกลุ่มฮามาสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดกระแสการชุมนุมประท้วงอิสราเอลและสนับสนุนปาเลสไตน์ในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคแอฟริกาเหนือ รวมทั้งอียิปต์[1] โดยบางส่วนได้ใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นมูลสำคัญเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของปาเลสไตน์และต่อต้านนโยบายการพัฒนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลไปสู่ภาวะปกติ (Normalization) ซึ่งเป็นทิศทางนโยบายที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้นำมาใช้ในช่วงที่ผ่านมา

ประเทศ การชุมนุมประท้วง ระหว่างวันที่ 7-16 ตุลาคม 2566
อียิปต์ – เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 66 นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอเมริกันในไคโร (American University in Cairo : AUC) กว่าหลาย 10 คน ได้รวมตัวกันที่วิทยาเขตนิวไคโร เพื่อสนับปาเลสไตน์

– เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 กลุ่มผู้สื่อข่าวชาวอียิปต์ กว่าหลาย 10 คน ได้รวมตัวกันที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมผู้สื่อข่าวอียิปต์ (Egyptian Journalists Syndicate) ณ กรุงไคโร เพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์ และประท้วงอิสราเอลและสหรัฐอเมริกา

– เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ชาวอียิปต์กว่าหลาย 100 คน ได้รวมตัวกันที่ Al-Azhar Mosque ในกรุงไคโร เพื่อประท้วงการถล่มฉนวนกาซ่าของอิสราเอล

โมร็อกโก – เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 66 กลุ่มผู้ต่อต้านการพัฒนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลไปสู่ภาวะปกติ (Moroccan Front Against Normalization) ได้รวมตัวกันตามเมืองสำคัญของโมร็อกโก (ไม่มีรายงานจำนวน) เพื่อสนับสนุนกลุ่มปาเลสไตน์

– เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ชาวโมร็อกโก (ไม่มีรายงานจำนวน) ได้รวมตัวที่หน้าสุเหร่าตามเมืองสำคัญของโมร็อกโก (เช่น เฟซ คาซาบลังกา และแทนเจีย) เพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์และประท้วงอิสราเอล

– เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 66 ชาวโมร็อกโกกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกัน ณ กรุงราบัต เพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์และต่อต้านนโยบายการพัฒนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลไปสู่ภาวะปกติ (Normalization) โดยการรวมตัวครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่การประท้วงนโยบาย Normalization เมื่อปี ค.ศ. 2020

ลิเบีย – เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 สถานทูตปาเลสไตน์ได้เรียกร้องให้มีการเดินขบวน ณ กรุงตริโปลี เพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์และประท้วงการกระทำของอิสราเอล อีกทั้งยังมีการย้อมสีอาคาร El-Emad ด้วยแสงไฟเป็นสีธงชาติปาเลสไตน์อีกด้วย

– เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 66 ชาวลิเบียกว่า 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ใจกลางกรุงตริโปลี เพื่อประท้วงอิสราเอลและแสดงจุดยืนร่วมกับชาวปาเลสไตน์

แอลจีเรีย

ตูนีเซีย

และจิบูตี

– การชุมนุมในกรุงแอลเจียร์ (แอลจีเรีย) เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 การชุมนุมในกรุงตูนิส (ตูนีเซีย) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 และการชุมนุมในนครจิบูตี (จิบูตี) เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่พบการรายงานในรายละเอียดของการชุมนุมดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น

  1. ความสัมพันธ์อียิปต์อิสราเอล อียิปต์-อิสราเอลเริ่มความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งอียิปต์ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพในอิสราเอลอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ อียิปต์-อิสราเอลมีพรมแดนติดกันยาวประมาณ 240 กิโลเมตร มีจุดข้ามพรมแดน 2 จุด ที่เมือง Taba และเมือง Nitzana
  2. มูลค่าการค้าอียิปต์อิสราเอล คิดเป็นเพียงร้อยละ1-2 ของมูลค่าการค้าอียิปต์-โลก โดยในปี 2565 มีมูลค่า 1,368 ล้านดอลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.93 ของมูลค่าการค้าอียิปต์-โลก และปี 2566 (..-มิ.. 2566) มีมูลค่า 1,185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 1.95 ของมูลค่าการค้าอียิปต์-โลก
  3. สำหรับกรณีอิสราเอลประกาศภาวะสงคราม ประธานาธิบดีอียิปต์ นายอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิสซี ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่า หากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเรียกร้องให้ “ทั้งฝ่ายปาเลสไตน์และอิสราเอลใช้ความยับยั้งชั่งใจในระดับสูงสุด”
  4. ผลกระทบต่อการค้าไทยอียิปต์ ในระยะสั้น ภาวะสงครามในอิสราเอลอาจส่งผลกระต่อการค้าไทย-อียิปต์อย่างจำกัด เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าโดยตรงไปยังอิสราเอลโดยไม่ผ่านอียิปต์ อีกทั้งพรมแดนอียิปต์-อิสราเอลยังเป็นพรมแดนที่มีการควบคุมทางทหารเข้มงวด ไม่ใช่พรมแดนด้านการค้า อย่างไรก็ดี หากภาวะสงครามทวีความรุนแรง ลุกลามขยายวง และยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจในภูมิภาคในภาพรวม อียิปต์ ในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกับอิสราเอล จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุดของอียิปต์ จนอาจทำให้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของอียิปต์ในปัจจุบันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
  5. ภาวะสงครามในอิสราเอล หากภาวะสงครามทวีความรุนแรง ลุกลามขยายวง และยืดเยื้อ ผู้ส่งออกไทยอาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้

5.1 พิจารณาเส้นทางที่เหมาะสมในการส่งสินค้ามายังภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเส้นทางที่อาจได้รับผลกระทบจากสงคราม ทั้งทางบก ทะเล และอากาศ

5.2 ประเมินความเชื่อมั่นของตลาดและผู้บริโภคท้องถิ่นเป็นระยะๆ เนื่องจากภาวะสงครามอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคท้องถิ่น และประเภทของสินค้าที่อาจมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าจำเป็น สินค้าพื้นฐาน และสินค้าเพื่อความมั่นคงปลอดภัย มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย

5.3 ประเมินผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานรอบด้าน เนื่องจากภาวะสงครามอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ผู้ส่งออกจึงอาจต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ไว้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

5.4 ประเมินผลกระทบต่อนโยบายภาครัฐและการเมืองท้องถิ่นควบคู่ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่อาจลุกลามกลายเป็นชนวนนำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศต่อไปได้  อีกทั้ง รัฐบาลบางประเทศอาจมีการนำมาใช้ซึ่งมาตรการจำกัดทางการค้าหรือมาตรการคว่ำบาตรเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง

5.5 ประเมินผลกระทบจากการหดตัวของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

 

____________________________________

 

[1] เป็นการรวบรวมข้อมูลการชุมนุมประท้วงที่เกี่ยวข้องกับภาวะสงครามในอิสราเอล ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-16 ตุลาคม 2566 ในอียิปต์และประเทศอื่นๆ ภายใต้เขตความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร

 

thThai