ท่ามกลางปัญหามากมายในปัจจุบัน จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมาด้วยปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ไปจนถึงวิกฤตพลังงาน และอัตราการบริโภคตกต่ำลง อุตสาหกรรมหนังสือยังต้องพบกับความท้าทายเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างยุคอะนาล็อกและดิจิทัล และเมื่อมองภาพรวมของอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มสินค้าดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงของผู้บริโภคเช่นกัน โดยมูลค่าการค้าในปี 2565 ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ ผลประกอบการในช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมายังมีความไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าอัตราการซื้อขายในทุกช่องทางของครึ่งปีแรกจะสูงขึ้นร้อยละ 4.1 แต่มูลค่าการจำหน่ายหนังสือยังถือว่าน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคยังเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้บริโภคนิยมเข้าร้านหนังสือในท้องถิ่นมากขึ้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติการณ์ฯ รวมไปถึงแรงผลักดันเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เห็นได้ชัดจากการเติบโตของร้านหนังสือออนไลน์ และความนิยมหนังสือเสียงในรูปแบบดิจิทัลที่เพิ่มสูงขึ้น
สมาคมการค้าหนังสือแห่งประเทศเยอรมนี (Börsenverein des Deutschen Buchhandels e. V.) ได้รายงานข้อมูลตลาด สำหรับปี 2565 ชี้ว่าอุตสาหกรรมหนังสือของประเทศเยอรมนีทำรายได้รวมทั้งสิ้น 9.44 พันล้านยูโร (-1.9%) โดยร้านหนังสือยังคงเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่ทำรายได้สูงสุด (3.95 พันล้านยูโร, +5%) มีส่วนแบ่งตลาดรวมร้อยละ 41.9 แต่ยังถือว่าน้อยกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดถึงร้อยละ 7.9 สำหรับยอดจำหน่ายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 12.6 หรือมีมูลค่ารวม 2.61 พันล้านยูโร ถือส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 24.1 อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์จากช่วงก่อนหน้านี้ ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อันเห็นได้จากมูลค่าการค้าผ่านช่องทางจำหน่ายดังกล่าวยังคงมากกว่าช่วงก่อนสถานการณ์โควิดถึงร้อยละ 22.8 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าแยกตามประเภทหนังสือ พบว่าส่วนใหญ่มียอดจำหน่ายลดลง ยกเว้นหนังสือสามกลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มหนังสือนวนิยาย (Fiction) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ถือส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 34 2) กลุ่มหนังสือเรียนและคู่มือการศึกษา ขยายตัวร้อยละ 2.5 3) กลุ่มหนังสือท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงก่อนหน้านี้ ขยายตัวขึ้นร้อยละ 16.5
สำหรับตลาดหนังสือออนไลน์หรือ ebook หดตัวลงร้อย 0.2 ซึ่งหมายถึงมีผู้บริโภคซื้อหนังสือออนไลน์ลดลงถึง 400,000 คน จากปีก่อนหน้า ในทางกลับกัน ตลาดหนังสือเสียงหรือ audiobook เติบโตอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 6.6 โดยการจำหน่ายหนังสือเสียงผ่านช่องทางดิจิตอลเป็นตัวผลักดันมูลค่าตลาดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการดาวน์โหลด ปรับตัวขึ้นร้อยละ 61.1 และช่องทางสตรีมมิ่ง ขยายตัวร้อยละ 154.9 ทั้งนี้ หนังสือเสียงในรูปแบบแผ่นซีดีกลับมียอดจำหน่ายลดลงถึงร้อยละ 53.8 ชี้ให้เห็นว่าช่องทางจำหน่ายแบบดิจิตอลเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากสำหรับตลาด audiobook
ตามข้อมูลสถิติของสมาคมฯ เปิดเผยว่าในปี 2565 มีผู้บริโภคซื้อหนังสืออยู่ที่ประมาณ 25.8 ล้านคน ถือว่าลดลง 1.4 ล้านคน จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ จำนวนผู้ซื้อในกลุ่มอายุระหว่าง 16 – 29 ปี ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายและปริมาณการซื้อหนังสือยังคงเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 กลุ่มอายุระหว่าง 16 – 29 ปี มีการซื้อหนังสือเฉลี่ย 11.7 เล่มต่อคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 24 และมีการใช้จ่ายสำหรับหนังสือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2560 เช่นกัน ทั้งนี้ สื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างแรงจูงใจในการซื้อหนังสือของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้บริโภคในช่วงอายุ 16 – 19 ปี และกลุ่มช่วงอายุ 20 – 24 ปี
ที่มา: Börsenverein des Deutschen Buchhandels e. V.