“กระแสความนิยมเกาหลี ขยายไปถึงกลุ่มสินค้าเครื่องเขียน”
หลังจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กระแสความนิยมเกาหลีได้ทวีความแรงขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นกระแสซีรีส์ หนัง เพลง K-pop ความสวยความงาม และวัฒนธรรมต่างๆของเกาหลีใต้นั้น ได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น และกระแสความนิยมเกาหลีนี้ ได้ขยายไปถึงอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าเครื่องเขียน
เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ร้าน LOFT ได้จัดกิจกรรมพิเศษ “FUN! FUN! SEOUL” เป็นเวลา 1 เดือน โดยวางจำหน่ายสินค้าแบรนด์เกาหลีไม่ว่าจะเป็นเครื่องเขียนและสินค้าไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้ ร้าน LOFT สาขากินซ่าที่เพิ่งเปิดทำการอีกครั้งในเดือนกันยายนหลังจากปิดปรับปรุง ยังมีมุมจำหน่ายแบรนด์เครื่องเขียนจากประเทศเกาหลี “KOREAN STATIONERY” ตอกย้ำความนิยมเครื่องเขียนจากเกาหลีในประเทศญี่ปุ่น
ความโดดเด่นของเครื่องเขียนจากประเทศเกาหลีใต้อยู่ที่การใช้สีที่เรียกว่าสี “NUANCE COLOR” ซึ่งเป็นสีกลางๆ ดูมีความสงบแต่ก็ไม่ขรึมจนเกินไป มีการออกแบบอย่างพิถีพิถันทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคหญิงช่วงอายุ 20 – 39 ปี ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสินค้าเครื่องเขียนหลากหลายประเภทที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยาทำให้กลุ่มสินค้าเครื่องเขียนในญี่ปุ่นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใหญ่ ปัจจุบัน มีบริษัทผู้ผลิตเครื่องเขียนญี่ปุ่นได้เริ่มนำ “ดีไซน์แนวเกาหลี” เข้ามาใช้ออกแบบเครื่องเขียนตามเทรนด์ความนิยม
ญี่ปุ่นได้เริ่มให้ความสนใจเครื่องเขียนจากประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี 2561 โดยบริษัท Iroha Publishing ได้วางจำหน่าย “STUDY PLANER” ของ &STUDIUM เครื่องเขียนแบรนด์เกาหลี ซึ่งกลายเป็นสินค้ายอดฮิต ด้วยดีไซน์ที่น่ารักและรูปแบบที่ใช้ง่าย ทำให้สินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมจากนักศึกษาและคนทำงานผู้หญิงที่กำลังมุ่งสอบใบประกาศนียบัตรต่างๆ สินค้านี้จำหน่ายได้ 100,000 เล่มในระยะเวลา 6 เดือน เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในประเทศเกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่มีการแข่งขันด้านการศึกษาสูง และนำมาปรับให้เหมาะกับการใช้งานในญี่ปุ่น
“กระแสความนิยมเกาหลี ขยายไปถึงกลุ่มสินค้าเครื่องเขียน”บริษัท MARK’S Inc. ผู้ผลิตและขายส่งสินค้าเครื่องเขียนของแบรนด์ทั้งในและต่างประเทศ กำลังให้ความสำคัญกับแบรนด์เครื่องเขียนจากประเทศเกาหลีใต้เช่นกัน นอกจากการนำเข้าแบรนด์เครื่องเขียนและสินค้าไลฟ์สไตล์ของ 6 บริษัทจากประเทศเกาหลีใต้แล้ว ยังมีการทำสัญญาด้านลิขสิทธิ์เพื่อผลิตเครื่องเขียนที่ออกแบบโดยบริษัทฯ ภายใต้แบรนด์เกาหลีอีกด้วย ซึ่งมียอดจำหน่ายเป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ ให้ความเห็นว่า ลักษณะเฉพาะของอุตสาหกรรมเครื่องเขียนของประเทศเกาหลีใต้ คือ มีความรวดเร็วในการออกสินค้าใหม่และเทรนด์สินค้าเปลี่ยนแปลงเร็ว และเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น การผลิตสินค้าประเภทกระดาษนั้น เกาหลีมีจำนวนล็อตการผลิตน้อยกว่า ทำให้คล่องตัวและสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ได้อย่างรวดเร็ว
ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวนการสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกลดลง แบรนด์เกาหลีใต้ที่สามารถสั่งซื้อขั้นต่ำได้ในจำนวนน้อย (small lot) จึงกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ของบริษัทฯ นอกจากนี้ จำนวนผู้ชมแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นได้มีโอกาสสัมผัสกับวัฒนธรรมเกาหลีใต้มากขึ้น เกิดเป็นแรงผลักดันกระแสนิยมเกาหลีและขยายไปถึงสินค้ากลุ่มเครื่องเขียน
อีกด้านหนึ่ง ที่ประเทศเกาหลีใต้ก็นิยมปากกาของผู้ผลิตญี่ปุ่นและสมุดแบรนด์ “Campus” ของบริษัท KOKUYO Co.,Ltd. เช่นกัน โดยให้ความเห็นว่า คุณภาพปากกาที่ดีเมื่อคู่กับคุณภาพกระดาษที่ดีก็ไม่สามารถหาอะไรมาแทนได้ เมื่อเทียบแล้ว บริษัทผู้ผลิตเครื่องเขียนญี่ปุ่นอาจไม่คล่องตัวเท่าบริษัทเกาหลีใต้ แต่ด้วยคุณภาพสินค้าที่ดีจึงสามารถครองใจผู้บริโภคในต่างประเทศได้ และในอนาคต ผู้ผลิตเครื่องเขียนญี่ปุ่นที่นำดีไซน์แนวเกาหลีใต้เข้ามาผสมผสานจนเกิดเป็นเครื่องเขียนคุณภาพญี่ปุ่นดีไซน์แนวเกาหลี อาจกลายเป็นแนวเครื่องเขียนประเภทใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคก็เป็นได้

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
จากรายงานของสถาบันวิจัย Yano Research Institute Ltd. พบว่า ปี 2564 มูลค่าโดยรวมของตลาดเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน (คำนวณจากมูลค่ายอดส่งสินค้าของบริษัทผู้ผลิต) ลดลงร้อยละ 2 หรือเท่ากับ 399,600 ล้านเยน (ประมาณ 96,000 ล้านบาท) หากพิจารณาแยกตามประเภทสินค้าพบว่า มูลค่าตลาดสินค้าเครื่องเขียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน เท่ากับ 82,050 ล้านเยน (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) มูลค่าตลาดสินค้าประเภทกระดาษลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน เท่ากับ 138,350 ล้านเยน (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) มูลค่าตลาดอุปกรณ์สำนักงานลดลงร้อยละ 4.4 เท่ากับ 179,200 ล้านเยน (ประมาณ 43,000 ล้านบาท) ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่หลายบริษัทให้พนักงานทำงานที่บ้าน แต่ก็คาดการณ์ว่า มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานปี 2566 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 หรือเท่ากับ 401,600 ล้านเยน (ประมาณ 97,000 ล้านบาท)
เห็นได้ว่า อุตสาหกรรมเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานของประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงแต่ก็มีการแข่งขันสูงเช่นกัน สินค้าในตลาดเครื่องเขียนญี่ปุ่นถูกครองด้วยสินค้าภายในประเทศที่ผลิตด้วยบริษัทในประเทศ ดังนั้น สินค้าแบรนด์ต่างประเทศที่สามารถตีตลาดญี่ปุ่นได้จึงจำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะและมีคุณภาพที่ดี นอกจากดีไซน์และคุณภาพสินค้าแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่ง คือ ความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการสั่งซื้อ (MOQ) ระยะเวลาการส่งมอบสินค้า หรือการตอบสนองต่อเทรนด์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการตั้งราคา เพื่อให้ผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าสามารถทำตลาดในญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันที่สูงได้ นอกจากนี้ การสร้างกระแสความชื่นชอบและความนิยมสินค้าไทยก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลตระหนักและพร้อมที่จะสนับสนุนการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทย โดยเฉพาะ Soft Power ของไทยที่จะช่วยผลักดันให้เกิดกระแสความนิยมประเทศไทยและขยายสู่สินค้าไทยอื่นๆต่อไป

ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 21 – 27 ตุลาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2566
ภาพประกอบบทความจากเว็บไซต์
https://hello-iroha.com/andstudium/products_studyplanner.php
https://marks.jp/
https://www.online-marks.com/

thThai