ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ออกแถลงข่าว ณ ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ว่าได้แต่งตั้งนายฟรานซิสโก ทิว ลอเรล จูเนียร์ นักธุรกิจประมง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนใหม่ หลังจากประธานาธิบดีมาร์กอสต้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเองด้วยอีกตำแหน่งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว โดยประธานาธิบดีมาร์กอส ระบุว่า ในที่สุดก็สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และมั่นใจว่าเป็นคนที่เข้าใจภาคเกษตรกรรม รวมทั้งเข้าใจว่ามีปัญหาอะไรบ้างและจะต้องทำอะไร เนื่องจากนายฟรานซิสโก มีประสบการณ์ยาวนานในภาคประมง ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมาร์กอสใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการสรรหาและแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนใหม่ โดยภาคเกษตรกรรมนับเป็นภาคส่วนสำคัญเป็นอย่างมากและซับซ้อนกว่าที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาร์กอสยังระบุว่ารู้จักนายฟรานซิส มานานแล้วตั้งแต่สมัยยังเด็ก จึงมั่นใจที่จะแต่งตั้งนายฟรานซิส เนื่องจากรู้จักบุคลิกและรู้ว่าเป็นคนทำงานหนัก รวมถึงเข้าใจระบบการเกษตรของฟิลิปปินส์เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงคาดหวังว่านายฟรานซิส จะทำงานได้ดี และกล่าวเสริมอีกว่าการแต่งตั้งนายฟรานซิสเหมือนกับการดึงภาคเอกชนร่วมกับรัฐบาลในการแสวงหาวิธีแก้ปัญหาในภาคเกษตรกรรม โดยจำเป็นต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขและมีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สามารถช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรได้
สำหรับการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนใหม่ดังกล่าวนับเป็นการยืนยันข่าวลือก่อนหน้านี้ว่าจะมีการแต่งตั้งนายฟรานซิสโก จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรคนต่อไป ทั้งนี้ นายฟรานซิสโก ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท Frabelle Fishing Corporation ตั้งแต่ปี 1985 และเป็นผู้อำนวยการของ Frabelle Corporation ตั้งแต่ปี 2010 นอกจากนี้ ยังได้รับการฝึกอบรมด้านการทำความเย็น การผลิตตาข่าย การยกเครื่องเครื่องยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ไฮดรอลิกส์ การผลิตอาหารการต่อเรือ และการซ่อมเรือ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Philippine Star
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
หลังจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 ก็ได้ตัดสินนั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเองด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เนื่องจากยังไม่สามารถคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมได้ และภาคการเกษตรนับเป็นส่วนสำคัญอย่างมากของประเทศ โดยรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและพยายามบริหารจัดการสภาพแวดล้อม ที่สามารถสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนแต่ภาคการเกษตรของฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ต้นทุนการผลิตที่สูง เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัย ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากการสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกกว่า รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด ซึ่งสร้างความเสียหายและเป็นอุปสรรคสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารและยังคงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารเพื่อเติมเต็มอุปทานและสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศเป็นปริมาณมากในแต่ละปี และยิ่งประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบต่อปรากฎการณ์เอลนีโญ่สูงซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรหลายรายการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และอาจต้องพึ่งพาการนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องติดตามผลงานการบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์คนใหม่ว่าจะสามารถทำให้ภาคการเกษตรของฟิลิปปินส์ได้รับการแก้ไขและพัฒนามากน้อยเพียงใดต่อไปทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าอาหารอันดับต้นๆ ของฟิลิปปินส์ และสินค้าอาหารของไทยเป็นสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ดีในตลาดฟิลิปปินส์ รวมทั้งผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีทัศนคติที่ดีและให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพมาตรฐานของสินค้าไทย และจากภาวะผลผลิตทางการเกษตรของฟิลิปปินส์ที่ยังคงไม่สอดรับกับอุปสงค์ในประเทศทำให้กลุ่มสินค้าอาหารยังคงเป็นที่ต้องการและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเข้าสู่ฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง
—————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
3 พฤศจิกายน 2566