11 ปีมาแล้ว ที่ผู้ค้าปลีกหลายรายทำเครื่องหมายวันศุกร์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายนด้วยตัวหนาในปฏิทิน และด้วยเหตุผลที่ดี พวกเขาตั้งตารอการมาถึงของเทศกาลช้อปปิ้ง Black Friday ซึ่งในปี 2566 นี้ Black Friday ตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน และน่าจะเป็นอีกครั้งที่สถิติการซื้อขายจะถูกทำลายลง ดังที่เคยเกิดขึ้นในปี 2564 ที่นักช้อปชาวเยอรมันใช้จ่ายประมาณ 4.7 พันล้านยูโรในการช้อปปิ้งออนไลน์เพียงช่วงโปรโมชั่นสองวัน Black Friday และ Cyber Monday ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก และในปีถัดมา สถิติยังได้ถูกทำลายลงโดยในปี 2565 มีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 หรือที่ประมาณ 5.6 พันล้านยูโร และในปี 2566 สมาคมการค้าปลีกเยอรมัน (HDE) คาดว่ายอดการใช้จ่ายจะอยู่ที่ราว 5.8 พันล้านยูโร
ต้นกำเนิดของ Black Friday และ Cyber Monday
Black Friday มีต้นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นั่นมักจะตรงกับวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าหรือวัน Thanksgiving ซึ่งเป็นช่วงที่การจับจ่ายใช้สอยสำหรับเทศกาลคริสต์มาสตามธรรมเนียมในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้น ซึ่งพัฒนามาจนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นแห่งการลดราคาสินค้าและการช้อปปิ้ง และในขณะที่ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ มี Black Friday บรรดาร้านค้าหรือแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ก็มี Cyber Monday ในวันจันทร์หลัง Black Friday โดยเทศกาลช้อปปิ้งสองวันนี้กำลังแพร่หลายไปทั่วยุโรป และยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี
Black Friday และเงินเฟ้อ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลานี้ที่อัตราเงินเฟ้อกำลังอยู่ในระดับสูงแต่เป็นไปได้อย่างไรที่แม้อัตราเงินเฟ้อซึ่งทำให้กำลังซื้อของหลายๆ คนลดลงอย่างมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับคาดว่าจะเกิดผลบวกมหาศาลในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งสองวันนี้
เหตุผลประการหนึ่งอาจเป็นเพราะช่วงเวลา ที่เทศกาลการลดราคาเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนเทศกาลคริสต์มาสและมีธรรมเนียมการรวมตัวของครอบครัวและเครือญาติเพื่อให้ของขวัญแก่กัน สำหรับผู้ค้าปลีก เทศกาลนี้เป็นตัวขับเคลื่อนยอดขายเป็นหลัก จากการสำรวจที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยการค้าปลีกโคโลญ (IFH) ในนามของสมาคมการค้าปลีกเยอรมัน (HDE) พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจวางแผนที่จะใช้วันส่งเสริมการขายสองวันนี้สำหรับการช้อปปิ้งในช่วงคริสต์มาส
นาย Tobias Vogel จากคณะเศรษฐศาสตร์และสังคมแห่งมหาวิทยาลัย Witten/Herdecke กล่าวไว้ว่าเทศกาล Black Friday นั้น เป็นโอกาสในการซื้อสินค้าในราคาถูกในช่วงเวลาที่กำลังซื้อลดน้อยลง และสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อนั้น เทศกาล Black Friday นั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาพลาดไม่ได้ ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยในอเมริกาเหนือและยุโรป กลุ่มเป้าหมายของเทศกาล Black Friday มักเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่รายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย และโปรโมชั่นการลดราคาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางเป็นหลัก ผู้ซึ่งมีกำลังซื้อสินค้าใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เห็นถึงประโยชน์ของส่วนลดต่อกระเป๋าสตางค์ของพวกเขา
นอกจากนื้ นาย Vogel ยังได้เสริมอีกว่า บ่อยครั้งที่การลดราคาไม่ได้เป็นการลดราคาที่แท้จริง ผู้ขายมักตั้งราคาอ้างอิงไว้สูงกว่าปกติ และสร้างโปรโมชั่นส่วนลด โดยในที่สุดแล้วราคาที่ขายจริงนั้นกลับที่ไม่ได้แตกต่างจากราคาที่ขายในช่วงเวลาปกติสักเท่าไหร่ แม้ว่าสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคยังเคยได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นนี้หลายครั้งแล้ว และจนถึงขณะนี้ ผู้บริโภคยังคงไม่เห็นความพยายามของภาครัฐที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว
ชาวเยอรมันและเทศกาล Black Friday และ Cyber Monday
แม้ว่าหลายครั้งที่ Black Friday จะไม่ได้สร้างผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคเท่าที่ควร แต่จากสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวสูงต่อราคาอย่างชาวเยอรมันต้องวางแผนในการใช้จ่ายอย่างรัดกุมในการซื้อของขวัญให้คนที่รักหรือครอบครัวสำหรับเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้การสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่าง Statista พบว่า 3 อันดับกลุ่มสินค้าที่ชาวเยอรมันซื้อมากที่สุด อันดับหนึ่งคือเสื้อผ้า อันดับสองสินค้าอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่าง ๆ และอันดับสามคือรองเท้า ส่วน 5 อันดับถัดมาซึ่งมีความนิยมเพียงครึ่งหนึ่งของสามอันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์เครื่องประดับ สื่อต่าง ๆ (หนังสือ ภาพยนตร์ ซีดีเพลง) เครื่องสำอางค์ และสุดท้ายคือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ความเปลี่ยนแปลงของระบอบทุนนิยมเยอรมันผ่าน Black Friday
ความสำเร็จของเทศกาล Black Friday สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของระบอบทุนนิยม ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ จากเยอรมนีที่เคยประสบความสำเร็จจากโมเดลเศรษฐกิจที่มีการบริโภคภายในที่น้อยและพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก วันนี้กลับต้องมาพึ่งพาการบริโภคภายในมากขึ้น นอกจากนี้ความสำเร็จนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่อาจมีการเพิ่มขึ้นของผู้ที่ทำกำลังซื้อน้อย ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าหรือบริการที่ลดราคามีมากขึ้น หรืออาจสะท้อนถึงสภาวะความผิดปกติบางอย่างอย่างภาวะเงินเฟ้อ ที่ลดกำลังซื้อของผู้บริโภค
อีกสาเหตุของความสำเร็จนี้ อาจเป็นอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ที่เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ทำให้พวกเขารับรู้ถึงการลดราคาและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย แม้ว่า Black Friday สำหรับหลาย ๆ คนอาจหมายช่วงเวลาแห่งการประหยัด แต่สำหรับบางคน มันอาจจะหมายถึงเวลาของการซื้อของที่พวกเขาไม่ต้องการ (ที่ต้องซื้อเพราะว่าการกระตุ้นจากการลดราคา) และในที่สุดอาจทำให้บางคนต้องกู้ยืมเงินหรือใช้บัตรเครดิตในการจับจ่ายใช้สอยในช่วง Black Friday นี้ และทำให้กำลังซื้อของพวกเขาลดลงในระยะยาว
ที่มา: www.RND.de และ www.nationalgeographic.de