สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2566
GDP แคนาดาไตรมาส 3 ปี 2566 หดตัว ส่งสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจ
GDP แคนาดาไตรมาส 3 ปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นการหดตัวอยู่เหนือการคาดหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินได้เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ ธนาคารกลางแคนาดาเคยคาดว่าตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 3 น่าจะขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 0.8
ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP ล่าสุดยังไม่ได้แสดงว่าเศรษฐกิจแคนาดาได้เข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 (ตามการปรับตัวเลขล่าสุดของหน่วยงานสถิติแคนาดา) แต่นักวิเคราะห์มองว่าเศรษฐกิจแคนาดาน่าจะมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 2567
หลังจากที่มีการประกาศตัวเลข GDP ล่าสุด ค่าเงินดอลลาร์แคนาดาลดลงทันที่ร้อยละ 0.2 ที่ระดับ 1.3620 เมื่อเทียบกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งท่าทีของธนาคารกลางแคนาดายังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 5 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 22 ปี ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าธนาคารกลางแคนาดาน่าจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม 2567 หรือในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้าเป็นต้นไป โดยในช่วงที่ผ่านมา นาย Tiff Macklem ผู้ว่าธนาคารกลางแคนาดาได้เคยกล่าวว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุด (Peak Point) ไปแล้วโดยอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) มีสัญญาณปรับลดลง และตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เริ่มชะลอตัวลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การส่งออกที่เริ่มหดตัว (ร้อยละ 5.1) และระดับของสินค้าคงคลังของภาคเอกชนลดลง (ต่ำสุดในรอบ 2 ปี) การลงทุนของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 10.1 ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.3 โดยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้ตัวเลข GDP ลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแคนาดายังแสดงความกังวลว่าหากดำเนินนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อปรับขึ้นได้อีกครั้ง
ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ลดการจับจ่ายและหันมาออมเงินมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินออมของชาวแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในไตรมาส 3 เพิ่มจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาส 2 ซึ่งในช่วงระหว่างปี 2558-2562 เป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ชาวแคนาดามีเงินออมที่ระดับเพียงร้อยละ 2.2 เท่านั้น กลไกของอัตราดอกเบี้ยได้ทำให้ชาวแคนาดาส่วนใหญ่ลดการลงทุนที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้นหรืออสังหาฯ โดยหันมาออมเงินมากขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลของทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 ทำให้ชาวแคนาดาระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้นด้วย
ความเห็นของ สคต.
ตัวเลข GDP ล่าสุดของไตรมาส 3 ปี 2566 สะท้อนถึงสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ย ค่าครองชีพที่สูง ถึงแม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางปี 2566 แต่การชะลอตัวของการจับจ่ายของผู้บริโภค การหดตัวของการลงทุนของภาคเอกชน และการจับจ่ายของภาครัฐฯ (เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ) ที่ลดลง เริ่มส่งผลให้อุปสงค์ส่วนเกิน ที่เคยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างร้อนแรงนับตั้งแต่ช่วงหลังโควิด และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบ 20 ปีเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาพปกติ (Normalization) ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ธนาคารกลางแคนาดาสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้แล้ว แต่ก็ต้องแลกด้วยความเสี่ยงของการถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งปี 2567 อาจเป็นปีที่แคนาดาต้องประสบกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และอาจเผชิญกับความผันผวนที่มาจากทั้งปัจจัยภายใน อาทิ อัตราดอกเบี้ย อัตราการจ้างงาน และปัจจัยภายนอก อาทิ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ผลกระทบของสงคราม และปัญหา Geopolitics ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง การให้เครดิตเทอมกับผู้นำเข้า เงื่อนไขการชำระเงิน และความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
——————————————————————-