ส่องสถานการณ์การบริโภคเครื่องปรุงรสผ่านเทศกาล11.11 ปี 2566 ในตลาดจีน

เครื่องปรุงรสเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นของผู้บริโภคชาวจีน ภายใต้สถานการณ์และแนวโน้มของการบริโภคที่หลากหลายในปัจจุบัน ส่งผลให้การบริโภคของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมจัดเลี้ยง และการค้าปลีกในครัวเรือนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ช่องทางการกระจายสินค้าทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งนวัตกรรมของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในจีน จึงมีการพัฒนา เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสบนแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ (E-Commerce) ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การพัฒนาและยกระดับการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ในจีน กิจกรรมส่งเสริมการตลาดบนแพลตฟอร์ม E-Commerce ในช่วงเทศกาล 11.11 เป็นช่องทางการตลาดและแพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์ที่มีศักยภาพสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรส ผู้บริโภคสามารถซื้อเครื่องปรุงรสต่างๆ ได้อย่างสะดวกผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ซึ่งไม่เพียงแต่สามารถซื้อซีอิ๊วแบบดั้งเดิม น้ำส้มสายชู เกลือ และเครื่องปรุงรสทั่วไปอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องปรุงรสประเภทอื่นๆ ที่มีความหลากหลายและมีเอกลักษณ์พิเศษด้วย ตามข้อมูลยอดขายของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในช่วงเทศกาล 11.11 ที่ผ่านมา มียอดขายออนไลน์รวมสูงถึง 1.21 พันล้านหยวน ซึ่งในจำนวนนี้ การจำหน่ายสินค้าเครื่องปรุงรสในแพลตฟอร์ม “Tmall” มียอดขายสูงถึง 460 ล้านหยวน คิดเป็น 38%, แพลตฟอร์ม JD มียอดขายสูงถึง 380 ล้านหยวน คิดเป็น 31% แพลตฟอร์ม Douyin มียอดขายสูงถึง 260 ล้านหยวน คิดเป็น 21% และแพลตฟอร์ม Pinduoduo มียอดขายสูงถึง 120 ล้านหยวน คิดเป็น 10% โดยส่วนแบ่งการตลาดของเครื่องปรุงรสอาหารกึ่งสำเร็จรูปมียอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือประเภทซีอิ๊ว ส่วนอัตราการเติบโตของรสดีและผงชูรสมีอัตราการเติบโตสูงกว่าผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสประเภทอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในการปรุงอาหารที่ต้องการความสะดวกและรสชาติที่ดีในเวลาเดียวกัน

 

ส่องสถานการณ์การบริโภคเครื่องปรุงรสผ่านเทศกาล11.11 ปี 2566 ในตลาดจีน

ที่มา : http://www.syntun.com.cn/และสมาคมเครื่องปรุงรสจีน

เมื่อพิจารณาข้อมูลการบริโภคในช่วงเทศกาล 11.11 พบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับวัตถุดิบ และส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสการบริโภคหลักในปัจจุบัน โดยผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารปรุงแต่งซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โซเดียมต่ำ (Low sodium) และน้ำตาลต่ำ (Low sugar) เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกระแสนิยม เนื่องจากเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปสามารถตอบสนองการบริโภคภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งยังสะดวกในการปรุงอาหาร ทำให้เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค และกลายเป็นตัวเลือกแรกในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ของจีน

 

ส่องสถานการณ์การบริโภคเครื่องปรุงรสผ่านเทศกาล11.11 ปี 2566 ในตลาดจีน

ที่มา : http://www.syntun.com.cn/และสมาคมเครื่องปรุงรสจีน

ในด้านสัดส่วนการบริโภค การบริโภคเครื่องปรุงรสในอุตสาหกรรมปลายน้ำ มี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดเลี้ยง อุตสาหกรรมครัวเรือน และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ตามข้อมูลของ China Condiment Association สัดส่วนยอดขายของอุตสาหกรรมหลักทั้ง 3 ประเภท ในปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 50 30 และ20 ตามลำดับ  ทั้งนี้ ภายหลังจากการยกเลิกมาตรการการควบคุมและป้องกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในปี 2565 ของจีน อุตสาหกรรมการจัดเลี้ยงจึงค่อย ๆ ฟื้นตัว และคาดว่าสัดส่วนยอดขายอุตสาหกรรมการจัดเลี้ยงจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566

 

ส่องสถานการณ์การบริโภคเครื่องปรุงรสผ่านเทศกาล11.11 ปี 2566 ในตลาดจีน

ที่มา : สมาคมเครื่องปรุงรสจีน

เนื่องด้วยการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในสาธารณรัฐประชาชนจีนและการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดเลี้ยงและอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ส่งผลให้การพัฒนาของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในจีนยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเติบโตของร้านอาหารแฟรนไชส์และธุรกิจเดลิเวอรี่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมจัดเลี้ยงมีความแข่งขันมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและรสชาติที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปช่วยให้ธุรกิจจัดเลี้ยงเกิดความสะดวก รสชาติที่มีเอกลักษณ์ และได้มาตรฐาน  เนื่องจากเครื่องปรุงรสสำเร็จรูปช่วยให้ประหยัดเวลาและยกระดับประสิทธิภาพในการปรุงอาหาร นอกจากนี้ เครื่องปรุงรสสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สะดวกสบายต่อการปรุงอาหาร ครอบคลุมหลากหลายเมนูอาหาร และคุณลักษณะอื่นๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ จึงมีโอกาสและส่วนแบ่งการเติบโตในตลาดจีนในอนาคต

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในสาธารณรัฐประชาชนจีนฟื้นตัวขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสในจีนได้เข้าสู่ช่วงของการเติบโต และกำลังยกระดับในเชิงสุขภาพ และความหลากหลาย ฯลฯ ด้านผู้บริโภค ผู้ที่เกิดหลังปี 1990 เป็นกลุ่มคนที่นิยมทำอาหารมากขึ้น โดยกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ ไม่ให้ความสำคัญกับราคามากนัก แต่มุ่งเน้นไปที่ตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ประสบการณ์การใช้ และความสวยงามของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น และและความสะดวกของช่องทางการจำหน่าย  ดังนั้น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว จึงกลายเป็นความท้าทายใหม่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสในอนาคต นอกจากนี้ เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของประชาชนแต่ละพื้นที่ในจีน พฤติกรรมการบริโภคเครื่องปรุงรส จึงมีความเกี่ยวข้องกับอุปนิสัยการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และปัจจัยอื่น ๆ ของผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ดังนั้นเครื่องปรุงรสที่มีความหลากหลาย จึงจะสามารถตอบสนองผู้บริโภคในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้  ซึ่งปัจจุบันบริษัทเครื่องปรุงรสในสาธารณรัฐประชาชนจีน กระจายตัวอยู่ในภาคใต้ และภาคตะวันออกเป็นหลัก โดยมีบริษัทเครื่องปรุงรส ส่วนใหญ่ในจีน จะอยู่ที่มณฑลซานตง มณฑลกวางตุ้ง มณฑลหูหนาน และมณฑลเสฉวน จะเห็นได้ว่ายังมีช่องว่างทางการตลาดสำหรับเครื่องปรุงรสในสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกมาก

อย่างไรก็ตาม โอกาสของเครื่องปรุงรสไทยในอุตสาหกรรมร้านอาหารจีนในปัจจุบัน นอกจากร้านอาหารไทยแล้ว ยังมีแผงขายอาหารไทย ร้านขายขนมไทย ร้านปิ้งย่างสไตล์ไทย และร้านขายเครื่องดื่มของไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสของวัฒนธรรมไทยในโลกโซเชียลที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจมากขึ้น

ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร ควรศึกษาสถานการณ์ความต้องการการบริโภคในตลาดจีน และพฤติกรรมการบริโภคของคนจีนในแต่ละพื้นที่ รวมถึงควรศึกษากฎระเบียบมาตรฐานด้านอาหารของจีนให้ละเอียด รอบคอบ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันแก่ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารในสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ต่อไป

ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/KW8u-yS3bNxb9d3xrt62Jg

ภาพ: https://www.zcool.com.cn/work/ZNDQ2MDQyNzI=.html

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

thThai