ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า “สีเขียว การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน คาร์บอนต่ำ” เริ่มปรากฏในกิจกรรมชีวิตประจำวันของผู้บริโภคบ่อยขึ้น แนวคิดสีเขียวค่อยแทรกซึมไปสู่การนึกคิดของผู้บริโภค รวมไปถึงสินค้าและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จากรายงานแนวโน้มผู้บริโภคของจีนประจำปี 2023 บนเว็บไซต์ Zhimeng Consulting ระบุว่า ด้วยการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำของประเทศและการมาถึงของการจ่ายเงินปันผลเชิงนโยบายสีเขียว จึงกลายเป็นประเด็นร้อนในการพัฒนาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในปี 2566 ปัจจุบัน บริษัทหลายแห่งในด้านอุปทานมีการดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการสำรวจเส้นทางการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์สีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคเต็มใจที่จะมีส่วนร่วม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน จากการสำรวจ ผู้ใช้งาน โต้วอิน (Tiktok จีน) พบว่า กว่าร้อยละ 88.9 ของผู้ใช้งานมีความเต็มใจที่จะเลือกซื้อหรือให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องกับชีวิตที่ปลอดภัย มีสุขภาพดี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคมักจะสอดคล้องกับความปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สินค้าหลายแบรนด์จึงมุ่งเน้นไปที่การบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2565 ประเภทสินค้าที่ติดฉลากประหยัดพลังงานบนแพลตฟอร์ม JD.com เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22 YoY และ สินค้าที่ติดฉลากเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 YoY นอกจากแนวคิดความนิยมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผลิตภัณฑ์สินค้ามือสองก็ยังกลายเป็นเทรนด์ในการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันเช่นกัน จากการสำรวจพบว่า ในปี 2565 ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 59.7 ยินดีที่จะซื้อสินค้ามือสอง และข้อมูลของแพลตฟอร์ม Xianyu (แพลตฟอร์มขายสินค้ามือสองที่นิยมในจีน) มีสินค้ามือสองจำหน่ายหมุนเวียนกว่า 40 ล้านชิ้น
เมื่อแฟชั่นสีเขียวได้กลายเป็นเทรนด์นิยมในปัจจุบัน บริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่างสำรวจและนำเสนอมาตรการการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง จาก “รายงานแนวโน้มผู้บริโภคของจีนปี 2023” ของ Zhimeng Consulting ได้เสนอกลยุทธ์ 5 ประการ ที่หลายแบรนด์นำมาปรับใช้ เพื่อสร้างความได้เปรียบและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
- แนวคิดสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน : บูรณาการแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงาน และรวมเข้ากับเรื่องราวของแบรนด์ เพื่อสร้างเสียงสะท้อนทางอารมณ์ให้กับผู้บริโภค ตัวอย่าง แบรนด์ชาระดับ ไฮเอนด์ CHALI มีแนวคิดในการพัฒนาสินค้าแบบ “นำมาจากธรรมชาติ ต้องส่งกลับคืนสู่ธรรมชาติ” ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ มีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากต่าง ๆ โดยกำไรจากการขายสินค้าจะนำไปบริจาคให้กับองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอีกมากมาย ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางสังคมอย่างยั่งยืนให้กับแบรนด์
- แนวคิดคาร์บอนต่ำ : สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เกี่ยวข้องกับการลดคาร์บอน ตัวอย่าง แพลตฟอร์ม JD.com มีการนำแนวคิดสีเขียวมาปรับใช้กับการดำเนินงานอย่างจริงจัง มุ่งเน้นสร้างโมเดลธุรกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำ โดยบริษัทมีการประหยัดการใช้พลังงาน ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 200 ล้านกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายสินค้าสีเขียวบนแพลตฟอร์มกว่า 200,000 รายการ และในอนาคตบริษัทวางแผนกิจกรรมให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการช่วยลดการใช้คาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
3. มุ่งเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลักดันกิจกรรมหรือโครงการที่เกียวกับการรีไซเคิล เพิ่มมูลค่าให้กับของเก่าหรือของเสียที่ไม่ได้ใช้งานอีกครั้ง ตัวอย่าง แบรนด์กาแฟ Super Coffee มีการใช้กลยุทธ์ “รับคืนถ้วยกาแฟ รีไซเคิล” โดยแบรนด์จะกำหนดรับถ้วยบรรจุภัณฑ์กาแฟคืนปีละ 2 ครั้ง โดยผู้บริโภคสามารถนัดส่งคืนผ่านทาง Mini Program ของแบรนด์ และนำคะแนนไปแลกสินค้าต่าง ๆ ตามกำหนด เป็นการสร้างกิจกรรมร่วมและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี
4. แนวคิดบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน : ผลักดันการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างแบรนด์ เครื่องสำอาง BAUM มีการใช้ไม้โอ๊คที่เหลือจากการทำเฟอร์นิเจอร์มาเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ยังมีความทนทานและยังมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว จึงออกมาเป็นแนวคิดแบบบรรจุภัณฑ์ผสมผสาน “การอยู่ร่วมกับต้นไม้” ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
5. มุ่งเน้นฉลากที่ยั่งยืน : ฉลากที่ยืนยันในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับผลิตภัณฑ์ จะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วขึ้น ตัวอย่าง ในช่วง Big Promotion 618 ของ JD.com ได้เปิดโครงการ “ฉลากสีเขียว” ร่วมกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ อาทิ P&G, JOMOO, L’OREAL, Breeze, Purcooton และแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมาย ได้คัดสรรสินค้าเกือบ 1 ล้านรายการ ติดป้ายฉลากสีเขียว เพื่อเป็นการยืนยันสินค้าจะมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ปัจจุบัน ผู้คนมีพฤติกรรมการบริโภคสินค้าสีเขียวและให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในการมีส่วนร่วมในแนวคิดโลกสีเขียวของผู้บริโภค เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด ประกอบกับเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเริ่มปรับตัว รูปแบบใหม่ และรับผลประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ กลยุทธ์ทางการตลาดรวมกับแนวคิดสีเขียวจะเป็นส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์และสินค้า
ที่มา:
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1760488198617200646&wfr=spider&for=pc
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
8 ธันวาคม 2566