การเติบโตจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล คุณภาพการบริการที่ดีขึ้น และต้นทุนการจัดการภาคพื้นดินที่ลดลง
อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศของบังกลาเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในอีกห้าปีข้างหน้า โดยมีอานิสงส์จากการเพิ่มศักยภาพของสนามบินนานาชาติ Hazrat Shahjalal International Airport (HSIA)
อย่างไรก็ตาม HSIA คิดค่าธรรมเนียมการจัดการภาคพื้นดินสูงที่สุดในบรรดาสนามบินในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตนี้ได้
HSIA สามารถบริหารจัดการสินค้าได้เต็มศักยภาพประมาณวันละ 900 ตัน ปริมาณโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 400 – 500 ตัน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 200 ตัน เนื่องจากปริมาณขนส่งสินค้ายังมีน้อย
นาย Kabir Ahmed ประธานสมาคมผู้ขนส่งสินค้าแห่งบังกลาเทศ (BAFFA) กล่าวว่า “หากบังกลาเทศปรับนโยบายและปรับปรุงคุณภาพการบริการได้ อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า เมื่อเทียบกับสถานะปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าขาดความคล่องตัว เนื่องจากปัญหาระดับชาติและนานาชาติบางประการ”
เขากล่าวว่า สายการบินแห่งชาติ Biman Bangladesh ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการจัดการภาคพื้นดิน ด้วย ควรดำเนินการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
นาย Kabir เสริมว่า Biman ซึ่งเป็นผู้ให้บริการของรัฐสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณร้อยละ 8-9 ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมด และมีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งมูลค่าและปริมาณการขนส่งได้ ทั้งนี้ BAFFA พร้อมที่จะแนะนำผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หันมาใช้บริการ
เอกสารรายงานเรื่อง “การมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศต่อเศรษฐกิจของบังกลาเทศ” โดย ICAB (Institute of Chartered Accountants of Bangladesh) รายงานว่า สายการบินบังกลาเทศ Biman จัดการสินค้าส่งออก 14,000 ตันในปี 2563 คิดเป็นเพียงร้อยละ 8.46 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดจากบังกลาเทศ ซึ่งในปีนั้นปริมาณสินค้าส่งออกของบังกลาเทศอยู่ที่ 165,474 ตัน ในระดับโลกอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศมีการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลาดการบินในเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่า 50.92 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 และคาดว่าจะสูงถึง 97.13 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2569
Kabir Ahmed กล่าวว่าค่าธรรมเนียมการจัดการภาคพื้นดินยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 18 เซนต์ต่อกิโลกรัมของสินค้า ในขณะที่ค่าธรรมเนียมในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 7 เซนต์
ตามที่คนวงในทางธุรกิจระบุว่าผู้ส่งออกบางราย เลือกที่จะส่งออกสินค้าผ่านสนามบินโกลกาตา แทนการส่งออกจากสนามบินบังกลาเทศ เนื่องจากคุณภาพการบริการในบังกลาเทศต่ำ
นอกจากนั้น HSIA ยังไม่มีห้องเย็นสำหรับการจัดเก็บรักษาสินค้าที่ต้องการรักษาคุณภาพมากเพียงพอ นักธุรกิจบังกลาเทศจึงเผชิญกับความท้าทายในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสดที่เน่าเสียง่าย ซึ่งจำเป็นต้องมีห้องเย็นที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ เพื่อจัดเก็บและขนส่งผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสียง่าย เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและรักษาความสด ซึ่งนาย Kabir Ahmed หวังว่าจะมีการสร้างห้องเย็นมากขึ้นในอาคารผู้โดยสารแห่งที่สามของ HSIA
การสร้างห้องเย็นในสนามบินนานาชาติ Hazrat Shahjalal จะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศตลอดจนการส่งออกสินค้าเกษตร
ต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อกิโลกรัมจากธากาไปยังยุโรปอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ และจากธากาไปยังสหรัฐอเมริกาจะอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์
นาย Shams Mahmud นักธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อส่งออก กล่าวว่าบังกลาเทศต้องมี FTA กับบางประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกของประเทศในปี 2584 เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกและนำเข้า และจะต้องมีการบริหารจัดการ รวมทั้งการยกระดับเทคโนโลยี การขนส่งทางอากาศจึงจะมีราคาบริการที่คุ้มค่า
ตามที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่าการขนส่งทางอากาศในบังกลาเทศจะเติบโตถึงร้อยละ 168 ในอีก 20 ปีข้างหน้าภายใต้สถานการณ์ตามแนวโน้มปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 12.1 ล้านคนภายในปี 2581 หากเป็นไปตามที่คาดการณ์นี้ จะช่วยผลักดัน GDP ได้ประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการจ้างงานประมาณ 140,000 ตำแหน่ง
IATA ยังกล่าวอีกว่าอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของบังกลาเทศมีการเติบโตที่โดดเด่นในทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ได้สร้างงานโดยตรงแล้ว 17,000 ตำแหน่ง มูลค่า 246 ล้านดอลลาร์
อุตสาหกรรมการบินของบังกลาเทศ
- บังกลาเทศมีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ Hazrat Shahjalal International Airport (กรุงธากา) Shah Amanat International Airport (เมืองจิตตะกอง) และ Osmani International Airport (เมือง Sylhet) และมีท่าอากาศยานในประเทศสำหรับการบินพาณิชย์ 5 แห่งที่ Cox’s Bazar, Jasore, Saidpur, Rajshahi และ Barisal
- การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมขนส่งทางบกอาจมีผลต่อท่าอากาศยานบางแห่งที่ระยะทางไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก เช่น ท่าอากาศยาน Barisal ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงธากา 180 กม. ประสบภาวะขาดทุนของสายการบินหลายแห่ง ที่ยุติเที่ยวบินหลังการเปิดใช้สะพาน Padma เชื่อมภาคกลางกับภาคตะวันตกของประเทศ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้บริการเฟอร์รี่ข้ามแม่น้ำ จึงลดเวลาเดินทางทางบกจากกรุงธากาไป Barisal ได้อย่างมาก นอกจากนี้ บังกลาเทศยังอยู่ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟจากกรุงธากาไปเมือง Jasore (ระยะทาง 180 กม.) ซึ่งน่าจะส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้บริการเที่ยวบินเช่นกัน
- บังกลาเทศมีเที่ยวบินตรงไปต่างประเทศค่อนข้างจำกัด โดยมีเที่ยวบินตรงสู่ยุโรปเพียงเมืองเดียวคือ กรุงลอนดอน และมีเที่ยวบินตรงสู่อเมริกาเหนือเพียงเมืองเดียวคือ นครโตรอนโต (จอดพักที่อิสตันบูล โดยไม่รับผู้โดยสาร) เนื่องจากมีชุมชนชาวบังกลาเทศขนาดใหญ่ในสหราชอาณาจักรและแคนาดา ชาวบังกลาเทศที่ต้องการเดินทางไปเมืองอื่น ๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ ต้องใช้บริการสายการบินอื่น เช่น Turkish Airlines, Emirates และ Qatar Airways ส่วนผู้ที่ต้องการเดินทางไปเอเชียตะวันออกและออสเตรเลียมักเลือกใช้การบินไทยและ Singapore Airlines
- ไทยกับบังกลาเทศได้เจรจาแก้ไขสิทธิการบิน ส่งผลให้ปัจจุบันสายการบินที่กำหนดของแต่ละฝ่ายสามารถบินไปเมืองปลายทางของอีกฝ่ายได้สัปดาห์ละไม่เกิน 28 เที่ยวบิน โดยใช้เครื่องบินแบบใดก็ได้ ปัจจุบันมีสายการบินของไทยบินมาธากา 2 สาย คือ การบินไทย (14 เที่ยว/สัปดาห์) และไทยแอร์เอเชีย (7 เที่ยว/สัปดาห์) ในภาพรวมมีเที่ยวบินระหว่างธากากับกรุงเทพฯ มากกว่า 30 เที่ยวต่อสัปดาห์ ให้บริการโดย 5 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย Biman Bangladesh Airlines, US Bangla และ Druk Air ทั้งนี้ สายการบิน Bangkok Airways เคยให้บริการแต่ยุติไปแล้ว โดยเปลี่ยนเป็นเที่ยวบิน code share กับการบินไทย
- อัตราค่าบริการขนส่งสินค้าต่อกิโลกรัมจากไทยไปบังกลาเทศล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2566 การบินไทย 300 บาท Biman 280 บาท สินค้าที่มีการขนส่งทางอากาศได้แก่ ผักและผลไม้สด ส่งผลให้ราคาสินค้าประเภทดังกล่าวนี้ เพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนผู้นำเข้าที่มาจากการขนส่ง ราคาสินค้า ค่าวัสดุหีบห่อ ค่าบริหารจัดการและภาษีนำเข้า
- เส้นทางบินระหว่างประเทศจากบังกลาเทศที่มีผู้โดยสารมากที่สุดคือเมืองต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นปลายทางที่ชาวบังกลาเทศหลายล้านคนไปทำงาน รวมทั้งมีผู้แสวงบุญเดินทางไปเมกกะ ที่ซาอุดีอาระเบียทุกปี สายการบินต่างประเทศล่าสุดที่ให้บริการมาธากาคือ Egypt Air เมื่อต้นปี 2566
- แม้บังกลาเทศเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสายการบินระหว่างประเทศ แต่อุปสรรคสำคัญคือ ค่าบริการภาคพื้นดินที่ค่อนข้างสูงและข้อจำกัดในการโอนรายได้ออกนอกประเทศ โดย IATA เผยแพร่ข้อมูลเมื่อมิถุนายน 2566 ว่า บังกลาเทศมีการจำกัดการโอนรายได้ของสายการบิน (blocked funds) สูงเป็นอันดับสองของโลก มูลค่า 214.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5 อันดับแรก ได้แก่ ไนจีเรีย บังกลาเทศ แอลจีเรีย ปากีสถาน และเลบานอน) บางสายการบินแก้ปัญหาโดยการลดจำนวนเที่ยวบิน และปัญหานี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Etihad ประกาศยุติการบินมากรุงธากาตั้งแต่ปลายตุลาคม 2566
- สายการบิน Biman Bangladesh เป็นสายการบินแห่งชาติของบังกลาเทศ ฝูงบินประกอบด้วยเครื่องบินโบอิ้งจากสหรัฐฯ 16 ลำ และเครื่องบิน De Havilland Canada 5 ลำ และเพิ่งสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A350 จำนวน 10 ลำ เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเยือนบังกลาเทศ
- บังกลาเทศกำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ท่าอากาศยานธากา ซึ่งได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก JICA 2 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 70 ของมูลค่าก่อสร้าง และบังกลาเทศรับผิดชอบ 1.7 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างโดยบริษัท consortium 3 บริษัท ได้แก่ (1) Mitsubishi Heavy Industries (2) Fujita Corporation และ (3) Samsung Construction & Trading Corporation อาคารจะเปิดบริการ เต็มรูปแบบในปลายปี 2567 รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 12 ล้านคน/ปี มีสะพานเทียบเครื่องบิน 16 สะพาน เคาน์เตอร์เช็คอิน 115 เคาน์เตอร์ และสายพานลำเลียงสัมภาระ 12 จุด อนึ่ง บริษัทในเครือ SCG ของไทยเป็นผู้จัดหาฉนวนกันความร้อนให้บริษัทก่อสร้างท้องถิ่นที่รับจ้างก่อสร้างจากบริษัท consortium ดังกล่าว