รายงานตลาดเชิงลึก
วิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนแอฟริกา :
โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย
ประจำไตรมาส 1 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566)
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไคโร
๑. เศรษฐกิจ
๑.๑ ประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกา
African Development Bank[1] ได้ปรับประมาณการเติบโตในปี 2566 ของทั้งทวีปแอฟริกา ลดลงเหลือร้อยละ 3.4 จากร้อยละ 4 และประมาณการเติบโตในปี 2567 ลดลงเหลือร้อยละ 3.8 จากร้อยละ 4.3 เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ผลกระทบจากโควิดที่ยังส่งผลกระทบอยู่ สถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ อัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ราคาอาหารและเชื้อเพลิงสูง และปัจจัยอื่นๆ ภายในประเทศ เช่น ภาวะสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมือง ภาระหนี้สาธารณะ คอร์รัปชัน ความยากจน การขาดแคลนพลังงาน (ไฟฟ้า) และค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่า
อย่างไรก็ดี แม้แอฟริกาจะถูกปรับคาดการณ์การเติบโตลง แต่ยังคงมีการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3 โดยแอฟริกาเป็นรองเพียงทวีปเดียว คือ เอเชีย ที่คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.6 โดยแนวโน้มการเติบโตที่ลดลงเช่นนี้พบได้เป็นการทั่วไปในประเทศส่วนใหญ่ของแอฟริกา รวม 33 ประเทศ
ทั้งนี้ African Development Bank คาดการณ์การเติบโตปี 2566 เป็นรายภูมิภาคไว้ ดังนี้
- แอฟริกากลางจะมีการเติบโตที่ร้อยละ 1 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 5.3 ในปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเนื่องจากปัญหาความมั่นคงและการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะประเทศแอฟริกากลาง ชาด คองโก กาบอง และอีเควทอเรียลกินี
- แอฟริกาตะวันออกจะมีการเติบโตที่ร้อยละ 4 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 7 ในปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเนื่องจากปัญหาความมั่นคงและการเมืองในซูดาน ปัญหาหนี้สาธารณะในเอธิโอเปียและเคนยา แต่ยังมีประเทศที่เติบโตได้ดี เช่น รวันดาและแทนซาเนีย เนื่องจากมีการลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ในอุตสาหกรรมเกษตร ค้าปลีก การผลิต ท่องเที่ยว และพลังงาน โดยคาดว่าเศรษฐกิจอาจเติบโตได้ถึง 5.1 ในปี 2567
- แอฟริกาใต้จะมีการเติบโตที่ร้อยละ 6 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 2.8 ในปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ที่เติบโตลดลง และการขาดแคลนไฟฟ้ารุนแรงจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต
- แอฟริกาตะวันตกจะมีการเติบโตที่ร้อยละ 8 ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตกจะขึ้นกับเศรษฐกิจของไนจีเรีย ซึ่งกำลังประสบปัญหาการอุดหนุนเชื้อเพลง การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และกานา ซึ่งกำลังประสบปัญหาหนี้สาธารณะ รวมถึงการก่อการร้ายในเขตเกษตรกรรมในหลายประเทศ
- แอฟริกาเหนือจะมีการเติบโตที่ร้อยละ 4 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 7 ในปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้ประสบกับปัญหาการค้าระหว่างประเทศ (terms-of-trade shock) การขาดแคลนเงินสกุลต่างประเทศ และค่าเงินอ่อนค่า รวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูง ในอียิปต์ แอลจีเรีย และตูนีเซีย
๑.๒ ปัจจัยภายในประเทศอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแอฟริกา
- อัตราเงินเฟ้อสูงและค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มจะสูงคงที่ต่อไป ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดแคลนสินค้า (supply shock) เนื่องจากเงินท้องถิ่นอ่อนค่าและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยในภาพรวม consumer price inflation เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 ในเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มจากร้อยละ 14.5 ในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ อียิปต์ ไนจีเรีย และเอธิโอเปีย มีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 20
- ค่าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่า ประเทศแอฟริกาส่วนใหญ่ประสบปัญหาเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่า เช่น ลิเบีย กินี แอลจีเรีย ไนจีเรีย บุรุนดี และอียิปต์
- เศรษฐกิจภายในประเทศหดตัว อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของแอฟริกาที่ส่งออกสินค้าไปจีนเป็นจำนวนมาก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจจีนและแอฟริกาว่า หาก real GDP ของจีนลดลงร้อยละ 1 จะส่งผลให้ GDP ของแอฟริกาลดลงร้อยละ 25
- ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลกสูงขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี 2565 แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับราคาเชื้อเพลิง/พลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะทำให้ราคาสินค้าสูงต่อเนื่องต่อไป เช่น สถานการณ์ทางการเมือง ผลผลิตการเกษตรลดลง ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และราคาปุ๋ยสูงขึ้น เป็นต้น
๑.๓ โอกาสของการค้าไทย
- แอฟริกาอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซปิโตรเลียม ทองค้า ทองแดง แพลตินัม ถ่านหิน เพชร black sand ฟอสเฟต และแร่โคบอลต์ผลิตแบตเตอรี่
- แอฟริกาเป็นตลาดที่กำลังเติบโต มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น และเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง อาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูป
- การพัฒนาเมือง (Urbanization) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น มีการคาดการณ์ว่า ทวีปแอฟริกาจะมีเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2573 (จาก 54 เมือง ในปี 2558 เป็น 89 เมือง ในปี 2573) นอกจากนี้ รายได้ต่อหัวของประชากรในเมืองใหญ่เหล่านี้จะสูงกว่า 2 เท่า ของรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของทั้งทวีป เมืองใหญ่เหล่านี้จึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดธุรกิจมากมายให้เข้ามาลงทุน
- ประเทศในภูมิภาคมีการจัดทำ FTAs กับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ (สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน) จึงอาจใช้เป็นเครื่องมือในการทำตลาดสินค้าไทยได้ในระดับทวีปได้ อีกทั้ง ยังมีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Agreement: AfCFTA) ซึ่งเป็น FTA ที่ครอบคลุมหลายด้านทั้งด้านการลดภาษีสินค้า บริการ และการลงทุน โดย FTA นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ปัจจุบัน มีประเทศสมาชิกร่วมให้สัตยาบันสารแล้วมากกว่า 46 ประเทศ ครอบคลุมประชากรกว่า 14,000 ล้านคน ครอบคลุมการลดภาษีนำเข้าในสินค้าและบริการรวมกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2050 ความตกลงฉบับนี้จะช่วยเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของแอฟริกามากถึง 29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการจัดทำ FTA กับไทย)
- ส่วนใหญ่แอฟริกาทำการค้ากับประเทศยุโรปและเอเชีย ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังโลกรวม 661 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีคู่ค้าส่งออกหลัก ได้แก่ จีน อิตาลี อินเดีย สเปน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ในปี 2566 มูลค่าการน้าเข้าสินค้าจากโลกรวม 694 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประเทศนำเข้าหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้
- การค้าไทย-แอฟริกา ปี 2565 มีมูลค่า 14,109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40 ของการค้าไทย-โลก ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและบริการจากไทยอย่างยิ่ง โดยไทยส่งออกไปแอฟริกา ปี 2565 เป็นมูลค่า 6,587 ล้านดอล สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป และเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ ไทยนำเข้าจากแอฟริกา ปี 2565 เป็นมูลค่า 7,522 ล้านดอล สินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ เครื่องเพชรพลอยอัญมนี และเคมีภัณฑ์
๑.๔ ความท้าทายของการค้าไทย
ทวีปแอฟริกาเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายในหลายมิติ ทั้งด้านเชื้อชาติ การปกครอง ภูมิศาสตร์ และ วัฒนธรรม รวมทั้งเป็นตลาดที่มีความต้องการเฉพาะตัวสูง จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลรายพื้นที่อย่างรอบด้าน ก่อนเข้าไปทำการค้า และลงทุน โดยความท้าทายสำคัญต่อการค้าไทย อาทิ
- ภาษา ซึ่งครอบคลุมภาษาอารบิก ฝรั่งเศส อังกฤษ และภาษาท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาล่ามมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจา หรืออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับคนท้องถิ่น
- ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม แอฟริกามีระดับการเรียนรู้วัฒนธรรมต่างประเทศที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในประเทศยากจน อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างการรับรู้ในสินค้าและบริการของไทยที่มีลักษณะเฉพาะ การโฆษณาและประชาสัมพันธ์จึงต้องทำแบบ tailor-made ให้ตรงตามความต้องการของแต่ละประเทศ
- กฎระเบียบ มักไม่มีเอกสารอ้างอิง ประกาศเป็นภาษาท้องถิ่น จึงมีความยากลำบากในการศึกษาและทำความเข้าใจ มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบรวดเร็ว และมักไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
- ปัญหาคอร์รัปชันและการใช้ความสำคัญส่วนบุคคล
- โครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยเฉพาะการคมนาคม การพัฒนาความเชื่อมโยงและระบบ logistics ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ในแอฟริกาที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทางถนน และยังขาดการเชื่อมต่อของระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ
- โครงสร้างพื้นฐานในการผลิตไฟฟ้าขาดแคลน ทำให้ ปัจจุบัน หลายพื้นที่ในแอฟริกามีไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยต่อการผลิต
- ความเปราะบางทางการเมือง อันเนื่องจากระบบการเมืองยังอยู่ในระยะแรกของการพัฒนา จึงมีความเสี่ยงต่อสถานการณ์ความตรึงเครียดทางการเมืองในระดับสูง เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในซูดาน อิสราเอล ลิเบีย
- ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง
- คุณภาพแรงงานอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการศึกษา และความยากจน ยังลงทุนในทุนมนุษย์ไม่มากพอ
๒. การลงทุน
๒.๒. การลงทุนในมุมมองจากภายนอก
จากผลการสำรวจความคิดเห็นของ McKinsey เมื่อปี 2560 ที่ได้สอบถามผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกรวม 1,025 คน แบ่งเป็นผู้บริหารที่ทำงานในทวีปแอฟริกา 253 คน และที่ทำงานในภูมิภาคอื่นๆ อีก 772 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ในช่วง 20 ปี ข้างหน้า GDP รวมของทวีปแอฟริกาจะมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
นอกจากนี้ ยังมั่นใจว่าบริษัทของตนเองจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทวีปแอฟริกา และมีความมั่นใจที่จะขยายการลงทุนในภูมิภาคนี้ต่อไป อีกทั้งยังมีข้อสังเกตว่า แม้แต่ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในทวีปอื่นๆ ก็ยังมีเกือบครึ่งที่ตั้งใจจะขยายการลงทุนมายังทวีปแอฟริกาในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่เข้าใจว่า ทวีปแอฟริกามีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ต่อปีสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ถึง 50 บริษัท ซึ่งความเป็นจริงมีอยู่ถึงเกือบ 400 บริษัท แต่หากเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แล้ว ทวีปแอฟริกายังนับว่ามีจำนวนบริษัทขนาดใหญ่น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ อยู่ดี และบริษัทขนาดใหญ่ในทวีปแอฟริกาที่ว่า ก็ยังมีขนาดเล็กกว่าบริษัทใหญ่ในทวีปอื่นๆ สังเกตจาก จำนวนบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่ติดอันดับ Forbes Global 2000 ในปี 2561 มีบริษัทจากทั้งทวีปแอฟริกา อยู่เพียง 18 บริษัท เทียบกับไทยที่มีอยู่ 16 บริษัท
จึงสามารถสรุปได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นของ McKinsey นี้ ดังนี้ (1) ทวีปแอฟริกามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในช่วง 20 ปี ต่อไป (2) ธุรกิจที่ลงทุนอยู่ในทวีปแอฟริกาและมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมจะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด (3) ด้วยแรงหนุนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการทั่วโลก รวมไทย ที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสจากการเติบโตของเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกา
๒.๒ การลงทุนในมุมมองจากภายใน
ปัจจุบัน แอฟริกาตระหนักรู้แล้วว่า FDI มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด จึงเกิดกระแสความพยายามที่จะดูงดูด FDI เข้าประเทศตนเอง โดยมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ อย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย
นอกจากนี้ AfCFTA ซึ่งมีเรื่องการลงทุนรวมอยู่ด้วย ได้ทำให้เกิดกระแสการพัฒนาในเชิงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน และจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างเสถียรภาพของการลงทุนในแอฟริกาได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่เสรีมากขึ้น และครอบคลุมกว้าง (broad base) ยิ่งขึ้น
แนวโน้มการลงทุนในแอฟริกา ที่ผ่านมา กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิตและบริการ เช่น การถลุงทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาต น้ำมัน ถ่านหิน ปัจจุบัน World Economic Forum ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มของการลงทุนดาวรุ่งในทวีปแอฟริกา ดังต่อไปนี้
- อุตสาหกรรมการผลิต (อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม)
- พลังงานหมุนเวียน
- อีคอมเมิร์ซ/IT/communication
- โลจิสติกส์
- การท่องเที่ยวยั่งยืน
- เศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับปริมาณการลงทุนในภาพรวมระหว่างไทย-แอฟริกา ปัจจุบัน มีการลงทุนจากไทยในแอฟริกาอย่างจำกัด โดยธุรกิจไทยที่ลงทุนในแอฟริกาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและกลาง ได้แก่ ร้านอาหาร สปา
๒.๓ ข้อเสนอแนะต่อการลงทุนในแอฟริกา
- ผู้ที่สนใจจะขยายการส่งออกหรือเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกา ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลือกส่งออกสินค้าหรือลงทุนในธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unmet Demand) ของชาวแอฟริกัน เพราะจะเป็นธุรกิจที่สามารถขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด เช่น e-Commerce ได้รับความนิยมอย่างสูง นอกจากโควิดเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ด้วย เช่น ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองที่ยังไม่มีร้านค้าปลีก (Retail Store) หรือ ห้างสรรพสินค้าไม่เพียงพอ และผู้บริโภคไม่มีเวลามากพอจะเข้ามาซื้อสินค้าเองในเมือง การสั่งสินค้าออนไลน์จึงเป็นทางเลือกสำคัญ แต่ต้องมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยสารสนเทศด้วย ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครัวเรือน ซึ่งขายได้มากกว่า 6 แสนครัวเรือนในชนบทที่ขาดแคลนไฟฟ้าในเคนยา แทนซาเนีย ยูกันดา กานา และโกตดิวัวร์ โดยให้ผู้บริโภคจ่ายเงินมัดจำเพียงเล็กน้อย เพื่อรับชุดผลิตไฟฟ้าไปติดตั้งที่บ้าน ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอส าหรับหลอดไฟและไฟฉาย วิทยุแบบชาร์จแบต รวมทั้งใช้ชาร์จแบตโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากนั้นผู้บริโภคจะผ่อนจ่ายค่าชุดผลิตไฟฟ้านี้ทุกวันผ่านระบบ Mobile Payment จนครบ 1 ปี ผู้บริโภคก็จะ เป็นเจ้าของชุดผลิตไฟฟ้านี้โดยสมบูรณ์
- ผู้ประกอบการควรเลือกส่งออกหรือลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดใหญ่เป็นจุดหมายแรกๆ เพราะจะเอื้อให้กิจการขยายตัวได้ง่ายกว่าตลาดที่มีขนาดเล็ก
- ควรคำนึงถึงการกระจายรายได้ของประชากร ในประเทศนั้นๆ ด้วย ว่าเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการหรือไม่ เพราะมีบางประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังมีระดับรายได้ต่ำ เพราะรายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นกระจุกอยู่ที่คนเพียง ไม่กี่กลุ่ม ซึ่งตลาดลักษณะนี้อาจเหมาะกับสินค้าที่วางตัวเองเป็นสินค้าระดับสูง ราคาแพง แต่ไม่เหมาะกับสินค้าที่ผลิตมาเพื่อผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง
- พิจารณาโอกาสในการขยายธุรกิจในระยะยาว เมื่อกิจการของท่านสามารถลงหลักปักฐานได้อย่าง แข็งแกร่งแล้ว ก็อาจพิจารณาขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นต่อไป เพราะยังมีโอกาสอีกมากมายในตลาดแอฟริกา
_____________________________
[1] เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566