หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างจริงจัง ข้อมูลจากรายงานขององค์การการค้าโลกเปิดเผยว่า ภายในปี 2569 อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทั่วโลก ในรูปแบบ B2C จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 27 หลายปีที่ผ่านมานี้ จีนยังคงรักษาการเป็นผู้นำในการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีห่วงโซ่ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่สมบูรณ์ที่สุดของโลก
ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของจีน เปิดเผยว่า การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนครองสัดส่วนการนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีนจากในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1 ขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 ในปี 2565 (7 ปี) ส่วนในปี 2566 ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน พบว่าจีนมียอดการนำเข้าส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนถึง 1.7 ล้านล้านหยวน (9.35 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของการนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศคู่ค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนปัจจุบันครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์ได้เผยแพร่บทความที่กล่าวถึงจีน ว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่มาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนได้สั่นคลอนการช้อปปิ้งออนไลน์ทั่วโลก สอดคล้องกับรายงานของ Wall Street Journal ที่รายงานว่าแพลตฟอร์มการช้อปปิ้งที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดสหรัฐอเมริกา คือ Shein และ Temu ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติจีน
Temu เป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าในสหรัฐอเมริกา (เครือของ Pinduoduo โซเชียลคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน) ปัจจุบัน Temu เป็นเว็บไซต์ค้าปลีกที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ในสหรัฐอเมริกา รองจาก Amazon, Walmart และ eBay นอกจากนี้ ข้อมูลจากบลูมเบิร์กยังเปิดเผยว่า ผู้บริโภคใช้เวลากับแพลตฟอร์ม Temu ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการชอปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ของจีน มากกว่าแพลตฟอร์มคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Amazon เกือบ 2 เท่า หลังจากมีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Temu ประมาณ 1 ปี พบว่ามีผู้ใช้รายเดือนกว่า 61 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา และมีจำหน่ายใน 48 ประเทศทั่วโลก ส่วน Shein อีกหนึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทแฟชั่นขนาดใหญ่ของโลก จากเริ่มแรกจำหน่ายเสื้อผ้าขยายออกไปจำหน่ายสินค้าอื่นๆ ด้วย เช่น ของใช้ในครัวเรือน และยังเป็นแอพพลิเคชั่นช้อปปิ้งอันดับต้นใน Google Play ใน 115 ประเทศด้วย ขณะที่ TikTok Shop ถือเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนวัตกรรมใหม่ ที่ให้แบรนด์สินค้า และบุคคลทั่วไป จำหน่ายและนำเสนอสินค้าผ่านรูปแบบไลฟ์สดและคลิปวิดีโอสั้น เป็นต้น ซึ่งทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและยังกระตุ้นความต้องการชอปปิ้งด้วย ปัจจุบัน TikTok Shop มีให้บริการในสหราชอาณาจักร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ eMarketer บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐอเมริกา ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 มูลค่าค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของโลกจะมีมูลค่าถึง 7.39 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (266.04 ล้านล้านบาท) โดย Shein, Temu, AliExpress และ TikTok Shop ที่เปิดตัวในต่างประเทศ ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน จีนไม่ได้เป็นแค่โรงงานของโลก แต่บัดนี้ยังเป็นศูนย์การค้าโลกด้วย บริษัท GlobalData วิเคราะห์ว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ กำลังปรับโฉมอีคอมเมิร์ซทั่วโลกสำหรับลูกค้าและผู้ขาย จีนจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำอีคอมเมิร์ซโลกอย่างต่อเนื่อง
ในอนาคตการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนยังมีโอกาสอีกมาก เมื่อพิจารณาจากมุมภายในประเทศ จะพบว่าจีนกำลังปลูกฝังรูปแบบใหม่ของการค้าดิจิทัล เดินหน้าสนับสนุนการค้าเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งช่วยเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เมื่อพิจารณาจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าโลกความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ อาทิ Silk Road e-commerce ที่ได้รับการตอบรับจากแต่ละประเทศเป็นอย่างดี และความร่วมมือระดับภูมิภาค อย่างเช่นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ก็ส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง จากความครอบคลุมสมาชิก 15 ประเทศ ในอาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจการค้าที่ใหญ่ที่สุด และมีศักยภาพในการพัฒนามากที่สุดในปัจจุบัน โดยมีปริมาณการค้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของการค้าโลก ซึ่ง RCEP จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในภูมิภาค และส่งเสริมการไหลเวียนขององค์ประกอบทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างเสรี ซึ่งเอื้อต่อการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานอีคอมเมิร์ซ ข้ามพรมแดน รวมถึงการสร้างคลังสินค้าในต่างประเทศ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของไลฟ์สตรีมมิ่ง ยังนำมาซึ่งโอกาสมากมายแก่อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน จากข้อมูลที่มีการเปิดเผย ในปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ของจีน พบว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีการไลฟ์สตรีมมิ่ง 120 ล้านครั้ง มีผู้เข้าชม 1.1 ล้านล้านครั้ง มีสินค้าไลฟ์สดกว่า 95 ล้านรายการ และมีสตรีมเมอร์เกือบ 1.1 ล้านคน
นอกจากนี้ โลจิสติกส์ข้ามพรมแดนยังทำให้การซื้อขายทั่วโลกมีความง่ายยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากธุรกิจข้ามพรมแดนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีนได้เข้าสู่การพัฒนาอย่างรวดเร็ว บริษัทโลจิสติกส์ของจีนก็เร่งการพัฒนาไปต่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยในเดือนที่ผ่านมา มีการไลฟ์สดโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนครั้งแรกของโลก ทำให้ผู้คนจากทุกมุมโลกนับล้านคนได้เห็นกระบวนการตั้งแต่การบรรจุ การคัดแยก การขนส่ง การบรรทุกไปยังเครื่องบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายใน 48 ชั่วโมง พัสดุ 1 ชิ้นออกเดินทางจากจีน ใช้เวลาเพียงแค่ 5 วันก็สามารถถึงมือผู้บริโภคที่อยู่ไกลกว่าพันไมล์แล้ว โลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนได้สร้างสถิติเร็วที่สุดอย่างต่อเนื่อง ความเร็วของโลจิสติกส์ของจีนกำลังนำความน่าทึ่งมาสู่โลก
จากดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (Logistics Performance Index: LPI) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก เปิดเผยว่า ในปี 2565 ตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของจีนอยู่อันดับที่ 19 ของโลก และการขนส่งระหว่างประเทศอยู่อันดับที่ 14 ของโลก โดยในปี 2565 เวลาที่ใช้ผ่านพิธีการศุลกากรในการนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีนอยู่ที่ 32.02 ชั่วโมงและ 1.03 ชั่วโมง (ใช้ระยะเวลาน้อยลงจากปี 2560 คิดเป็นอัตราร้อยละ 67.1 และร้อยละ 91.6 ตามลำดับ) ซึ่งเร็วกว่าข้อกำหนดของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) (ที่กำหนดเวลาผ่านพิธีการศุลกากร 48 ชั่วโมง) ถึง 16 ชั่วโมง
หลายปีที่ผ่านมานี้ จีนจึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เกือบ 200 รายการ เพื่อเร่งปรับปรุงเขตสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป และส่งเสริมการเติบโตของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนในทุกด้าน จวบจนถึงปัจจุบันจีนได้จัดตั้งเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแล้วจำนวน 165 แห่ง และตามเส้นทางโครงการระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกและทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ที่เชื่อมต่อการขนส่งทางรางและทางเรือ ได้มีการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ไปแล้ว 139 แห่ง ใน 69 เมือง ครอบคลุม 18 มณฑลและเขตปกครองตนเอง เชื่อมโยงท่าเรือ 480 แห่ง ใน 120 ประเทศทั่วโลก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ตามแนวโครงการ ILSTC ไปแล้วจำนวน 633,000 ตู้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 นอกจากนี้ ปัจจุบันจีนได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทวิภาคด้านอีคอมเมิร์ซแล้วกับ 29 ประเทศ มีคลังสินค้าในต่างประเทศสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนกว่า 1,500 แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า 19 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ ศุลกากรจีน เปิดเผยสถิติ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ว่าการส่งออกของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา การที่โลจิสติกส์ข้ามพรมแดนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงแต่ลดระยะห่างระหว่างผู้ขายชาวจีนและผู้บริโภคในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สินค้า Made in China ก้าวไปสู่ตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น
ความคิดเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce) ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ทางการค้า อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนไม่เพียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกไปสู่การค้าที่ไร้พรมแดนเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและผู้ประกอบการ โดยรูปแบบความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ได้ขยายความครอบคลุมประเด็นคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในมุมมองของผู้บริโภค เห็นว่า อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลคู่ค้าในประเทศต่าง ๆ ได้ง่ายดายมากขึ้น และสามารถซื้อสินค้าที่มีคุณภาพสูงและราคาถูกมากขึ้นด้วย
สำหรับจีนอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เป็นรูปแบบการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญและเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศในอนาคต พร้อมทั้งยังช่วยส่งเสริมการเปิดตลาดออกสู่ภายนอกประเทศ ช่วยสนับสนุนการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม และตราสินค้าของจีนให้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลจีนยังได้เน้นย้ำถึงแนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่ หรือ Dual Circulation ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือ RCEP ที่จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน และประเทศคู่ค้ามีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน รายได้ที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการบริโภคของชาวจีนที่สูงขึ้น ก็ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการบริโภคสินค้าทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งการเติบโตและการพัฒนา อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะพิจารณาใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้านี้ในการเข้าสู่จีน เนื่องจากอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เป็นช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ประกอบกับจีนมีนโยบายที่สนับสนุนให้การค้าผ่านช่องทางดังกล่าวให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น อาทิ การจัดตั้งเขตนำร่องอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแบบบูรณาการ การปรับปรุงรายการสินค้าที่สามารถขายปลีกในจีนผ่านอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน การปรับปรุงระบบการจัดการการนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างแนวทางในการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เป็นต้น
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
แหล่งที่มา http://finance.china.com.cn/news/20231215/6062001.shtml
https://www.chinairn.com/news/20231218/15423818.shtml