- บทนำ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในอาคารได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องเผชิญกับภาวะตลาดซบเซา ยอดจำหน่ายบัตรเข้าชมในโรงภาพยนตร์ของไต้หวันลดลงถึงร้อยละ 51 เหลือเพียงประมาณ 5,500 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายบัตรในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด คือ ในปี 2562 ที่มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 11,212 ล้านบาท แม้ในปี 2565 และ 2566 ยอดจำหน่ายบัตรเข้าชมในโรงภาพยนตร์ไต้หวันจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยอยู่ที่ 6,000 ล้านบาทและ 8,000 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งยอดบัตรเข้าชมภาพยนตร์สูงถึงประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยภาพยนตร์นับเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวหลังยุคโควิดในลำดับท้ายๆ
ตารางที่ 1 : จำนวนภาพยนตร์และรายได้จากการเข้าฉายภาพยนตร์ในไต้หวันระหว่างปี 2560-2565
ปี | จำนวนเรื่อง | จำนวนบัตรที่จำหน่าย (ใบ) | รายได้จากการขายบัตร (บาท) | รายได้เพิ่ม/ลด |
2560 | 831 | 45,431,525 | 11,627,498,158 | 69.67% |
2561 | 958 | 46,241,388 | 11,860,440,684 | 2.00% |
2562 | 908 | 43,209,262 | 11,212,335,651 | -5.46% |
2563 | 1026 | 21,840,265 | 5,677,536,612 | -49.36% |
2564 | 726 | 20,117,838 | 5,461,612,314 | -3.80% |
2565 | 841 | 22,386,787 | 6,353,471,186 | 16.33% |
2566* | 807 | 27,099,393 | 7,803,969,631 | N/A |
ที่มา : Box Office Taiwan / รวบรวมโดย สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
* ข้อมูลถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
2. ภาวะตลาดโดยรวม
Soft Power ด้านภาพยนตร์ของไต้หวันเริ่มเป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2532 หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง A City of Sadness ของโหวเสี้ยวเสียน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไต้หวันคนดัง สามารถคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกได้เป็นครั้งแรก คือรางวัลสิงโตทองคำในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เวนิส ทำให้ชาวไต้หวันตื่นตัวพากันไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้สามารถทำรายได้สูงถึงเกือบ 90 ล้านบาท และมีคนไต้หวันจำนวนมากพากันไปเที่ยวชมเมืองจิ่วเฟิ่นและจินกัวสือ อันเป็นเมืองเก่าแก่เล็กๆ ของไต้หวันซึ่งแทบไม่มีคนรู้จัก ที่ถูกใช้เป็นฉากในการถ่ายทำ จนทำให้เมืองแห่งนี้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ก่อนจะถูกยกระดับขึ้นมามาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ Must Go ของเหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนไต้หวันในปัจจุบัน หลังจากนั้น ก็มีผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์ไต้หวันได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติอีกเรื่องหนึ่ง คือ The Wedding Banquet ของหลี่อัน หรือ อังลี ที่ได้รับรางวัลหมีทองคำที่ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน ในปี 2536 โดยที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์และรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศด้วย และกลายเป็นใบเบิกทางที่ทำให้อังลีได้โอกาสในการไปกำกับภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกหลายเรื่อง ก่อนจะคว้ารางวัลใหญ่ระดับนานาชาติได้อีกมากมาย ทั้ง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของลูกโลกทองคำจากภาพยนตร์เรื่อง Sense and Sensibility (2538) รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ จากภาพยนตร์เรื่อง The Ice Strom (2540) โดยภาพยนตร์ที่ทำให้ชื่อของอังลีเป็นที่รู้จักในตลาดโลกรวมถึงในประเทศไทยมากที่สุด คือ ภาพยนตร์เรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon ที่เข้าฉายในปี 2543 ซึ่งเป็นโปรเจคที่เป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ ไต้หวัน จีน และฮ่องกง โดยทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวันมากกว่า 220 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งให้อังลีสามารถคว้ารางวัลออสการ์ได้เป็นครั้งแรกในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ และภาพยนตร์เรื่อง Broke Back Mountain ที่เข้าฉายในปี 2548 ก็ทำให้อังลีสามารถคว้าทั้งรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิสเป็นครั้งแรกด้วย อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาพยนตร์ไต้หวันที่สร้างความคึกคักให้กับวงการภาพยนตร์ในไต้หวัน คือ ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Cape No.7 ของเว่ยเต๋อเซิ่ง ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเข้าฉายในปี 2551 และทำรายได้รวมทั่วไต้หวันไปมากกว่า 580 ล้านบาท และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีภาพยนตร์ไต้หวันที่ทำรายได้จากการออกฉายมากกว่า 100 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มการจำหน่ายบัตรเข้าชมภาพยนตร์ในไต้หวัน มีการปรับตัวดีขึ้น จากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นลำดับ แม้รายได้จากการจำหน่ายบัตรจะยังต่ำกว่า ในปี 2562 ซึ่งมียอดขาย 11,212 ล้านบาท โดยในปี 2565 มีภาพยนตร์เข้าฉายในไต้หวันรวม 841 เรื่อง ทำรายได้จากการเข้าฉาย 6,353.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16.33 โดยมีภาพยนตร์ไต้หวันเข้าฉาย 118 เรื่อง ทำรายได้รวม 667.17 ล้านบาท
ตารางที่ 2: รายได้จากการเข้าฉายภาพยนตร์ในไต้หวันแยกตามรายประเทศ 10 อันดับแรกในปี 2565
หน่วย : ล้านบาท
อันดับ | ประเทศ | จำนวน | รายได้รวม | สัดส่วนรายได้ |
1 | สหรัฐฯ | 175 | 4,306.65 | 67.78% |
2 | ญี่ปุ่น | 180 | 953.20 | 15.00% |
3 | ไต้หวัน | 118 | 667.17 | 10.50% |
4 | เกาหลีใต้ | 53 | 151.30 | 2.16% |
5 | อังกฤษ | 35 | 44.72 | 0.70% |
6 | ฮ่องกง | 40 | 27.40 | 0.43% |
7 | ฝรั่งเศส | 76 | 19.58 | 0.31% |
8 | ไทย | 11 | 9.03 | 0.14% |
9 | เวียดนาม | 5 | 7.89 | 0.12% |
10 | แคนาดา | 6 | 6.82 | 0.11% |
อื่นๆ | 142 | 159.71 | 2.51% | |
รวม | 841 | 6,353.47 | 100.00% |
ที่มา : Box Office Taiwan / รวบรวมโดย สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่เข้าฉายในไต้หวัน มีภาพยนตร์จากสหรัฐฯ (ฮอลลีวูด) ที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมในไต้หวันมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 มีภาพยนตร์สหรัฐฯ เข้าฉายรวม 175 เรื่อง และทำรายได้รวมจากการออกฉายประมาณ 4,306.65 ล้านบาท รองลงมาได้แก่จากภาพยนตร์ญี่ปุ่น ที่ทำรายได้รวม 953.20 ล้านบาท จากจำนวน 180 เรื่อง และเกาหลีใต้ ที่เข้าฉาย 53 เรื่อง ทำรายได้รวม 151.30 ล้านบาท โดยในส่วนของภาพยนตร์จากกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น ภาพยนตร์ไทยยังคงได้รับความนิยมจากผู้ชมไต้หวันมากที่สุด มีเข้าฉาย 11 เรื่อง ทำรายได้จากการเข้าฉายประมาณ 9.03 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ภาพยนตร์เวียดนาม (เข้าฉาย 5 เรื่อง ทำรายได้ 7.89 ล้านบาท) และอินโดนีเซีย (เข้าฉาย 2 เรื่อง ทำรายได้ 5.25 ล้านบาท) ตามลำดับ รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 2
เมื่อพิจารณาจากภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกจะพบว่า แทบทั้งหมดจะเป็นภาพยนตร์ที่เป็นภาคต่อของภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Top Gun, Avatar, Jurassic World รวมถึงเหล่า Super Hero ของค่าย Marvel นอกจากนี้ มีภาพยนตร์อะนิเมชั่นติดอันดับด้วยถึง 3 เรื่อง คือ Jujutsu Kaisen 0 และ One Piece Film: Red โดยเป็นการต่อยอดจากมังงะชื่อดังของญี่ปุ่น และ Minions : The Rise of Gru ซึ่งเป็นของ Illumination ค่ายหนังอะนิเมชั่นชื่อดังของสหรัฐฯ โดยมีภาพยนตร์ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 9 คือ Incantation ที่เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญของผู้กำกับเคอม่งหรง ซึ่งนอกจากจะทำรายได้สูงถึง188 ล้านบาทจากการเข้าฉายในไต้หวันแล้ว ยังสามารถทำเรตติ้งสูงสุดหลังจากเข้าฉายในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ ทั้งในไต้หวัน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และเวียดนาม พร้อมทั้งขึ้นถึงอันดับ Top 3 ของโลกในหมวดภาพยนตร์ของแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Netflix ด้วย
ตารางที่ 3: ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกจากการออกฉายในไต้หวันในปี 2565
หน่วย: ล้านบาท
อันดับ | ชื่อเรื่อง | รายได้ | สัดส่วน |
1 | Top Gun: Maverick | 808.02 | 12.72% |
2 | Avatar: The Way of Water | 469.68 | 7.39% |
3 | Jurassic World Dominion | 367.58 | 5.79% |
4 | Black Panther: Wakanda Forever | 274.26 | 4.32% |
5 | Thor: Love and Thunder | 272.22 | 4.28% |
6 | Doctor Strange in the Multiverse of Madness | 268.95 | 4.23% |
7 | Jujutsu Kaisen 0 | 255.55 | 4.02% |
8 | One Piece Film: Red | 192.81 | 3.03% |
9 | Incantation | 188.92 | 2.97% |
10 | Minions: The Rise of Gru | 162.13 | 2.55% |
ที่มา : Box Office Taiwan / รวบรวมโดย สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
3. กฏระเบียบและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง
3.1 ไต้หวันมิได้มีการจำกัดจำนวนภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะออกฉาย ยกเว้นภาพยนตร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีการจำกัดจำนวนให้มีโควต้าเพียงไม่เกินปีละ 10 เรื่อง
3.2 Taiwan Creative Content Agency หรือ TAICCA เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไต้หวันที่ให้ความสนับสนุนในการร่วมลงทุนสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยเปิดรับการเสนอโครงการจากต่างประเทศด้วย โดย TAICCA จะร่วมลงทุนในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินลงทุนทั้งหมด แต่ไม่เกิน 300,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการที่จะนำเสนอต้องมีคุณสมบัติหลัก 2 ด้าน ได้แก่
3.2.1 Creative/Content โดยต้องสองคล้องกับเงื่อนไข 1 ใน 3 รายการข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ดังนี้
– ทีมงาน : ผู้กำกับภาพยนตร์ หรือ ผู้อำนวยการสร้างและควบคุมการผลิต (Producer) เป็นคนไต้หวัน หรือ เป็นชาวต่างชาติที่ถือบัตรต่างด้าวถาวรของไต้หวัน หรือถือบัตร Employment Gold Card ของไต้หวัน
– ภาษา : บทพูด 1 ใน 3 ของเรื่องต้องเป็นภาษาจีนกลาง, ฮกเกี้ยนแบบไต้หวัน, ฮากกา หรือภาษาชนพื้นเมืองของไต้หวัน
– โครงเรื่อง : ต้องดัดแปลงมาจากเรื่องราวเกี่ยวกับไต้หวัน หรือ ผู้เขียนเป็นชาวไต้หวัน รวมถึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ สังคม หรือข่าวของไต้หวัน
3.2.2 Production โดยต้องสอดคล้องกับเงื่อนไข 1 ใน 3 รายการข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ดังนี้
– นักแสดงหลักอย่างน้อย 2 คนของเรื่อง ต้องเป็นคนไต้หวัน หรือ เป็นชาวต่างชาติที่ถือบัตรต่างด้าวถาวรของไต้หวัน หรือถือบัตร Employment Gold Card ของไต้หวัน
– สถานที่หรือทีมงานในการถ่ายทำ โดยสถานที่ในการถ่ายทำอย่างน้อย 1 ใน 3 อยู่ในไต้หวัน หรือ ผู้กำกับภาพ / ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบการผลิต / ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกาย หรือ ผู้กำกับเสียง เป็นคนไต้หวัน หรือ เป็นชาวต่างชาติที่ถือบัตรต่างด้าวถาวรของไต้หวัน หรือถือบัตร Employment Gold Card ของไต้หวัน
– ต้องมีการทำ Post-Production อย่างน้อย 1 ใน 3 ในไต้หวัน
ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ticp.taicca.tw/en/
4. สถานการณ์ของภาพยนตร์ไทยในไต้หวัน
ในไต้หวัน โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก และมีบริษัทตัวกลางที่ทำหน้าที่จัดภาพยนตร์เข้าฉาย ในโรงภาพยนตร์ต่างๆ โดยรายได้ของการเข้าฉายภาพยนตร์จะแบ่งกันระหว่างระหว่างโรงภาพยนตร์และผู้จัดจำหน่าย (ส่วนใหญ่คือ ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง) โดยการที่โรงภาพยนตร์ในไต้หวันเป็นโรงขนาดเล็กจำนวนมาก จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ภาพยนตร์ต่างชาติรวมถึงภาพยนตร์ไทยมีโอกาสเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของไต้หวันได้อย่างสม่ำเสมอ
ภาพยนตร์ไทยได้รับความนิยมจากผู้ชมไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายรวม 10 เรื่องและสามารถทำรายได้รวม 36.54 ล้านบาท โดยภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความนิยมมากในไต้หวันได้แก่หนังผีและหนัง Y อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง ซึ่งไม่ใช่หนังประเภทดังกล่าวข้างต้น สามารถทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวันในปี 2560 ได้มากถึง 162.74 ล้านบาท พร้อมทำสถิติเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดทั่วไต้หวันในช่วงสุดสัปดาห์แรกที่เข้าฉายด้วย ทำให้หลังจากนั้นก็จะมีการนำเข้าภาพยนตร์จากไทยมาเข้าฉายในไต้หวันประมาณปีละ 5-10 เรื่องมาโดยตลอด และแม้ในปี 2565 จะยังอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก หากแต่ก็ยังมีการนำภาพยนตร์ไทยมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ของไต้หวันมากถึง 11 เรื่อง ทำรายได้รวมประมาณ 9.03 ล้านบาท ส่วนปี 2566 (จนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566) มีภาพยนตร์ไทยมาเข้าฉายในไต้หวันทั้งสิ้น 10 เรื่องทำรายได้รวม 28.46 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นการฟื้นตัวกลับมาใกล้กับภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากที่สุดในไต้หวันในปี 2566 คือเรื่องบ้านเช่าบูชายัญ ซึ่งทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวัน 16.55 ล้านบาท รองลงมาได้แก่เรื่องสุขสันต์วันกลับบ้าน ด้วยรายได้ 9.25 ล้านบาท และเรื่อง Mae Nak Reborn ที่ทำรายได้ 3.01 ล้านบาท รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 4
ตารางที่ 4: จำนวนและรายได้จากการเข้าฉายภาพยนตร์ไทยในไต้หวันระหว่างปี 2560-2565
ปี | จำนวนเรื่อง | จำนวนบัตรที่จำหน่าย (ใบ) | รายได้จากการขายบัตร (บาท) | รายได้เพิ่ม/ลด |
2560 | 5 | 735,178 | 184,880,645 | 2,381.30% |
2561 | 8 | 87,382 | 20,959,316 | -88.66% |
2562 | 12 | 134,013 | 33,167,261 | 58.25% |
2563 | 11 | 127,286 | 30,988,078 | -6.57% |
2564 | 9 | 32,659 | 8,492,321 | -72.59% |
2565 | 11 | 34,518 | 9,031,421 | 6.35% |
2566* | 10 | 104,396 | 28,466,383 | N/A |
ที่มา : Box Office Taiwan / รวบรวมโดย สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
* ข้อมูลถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
หนังผี ถือเป็นแนวภาพยนตร์จากไทยซึ่งเป็นที่ถูกใจตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก โดยชาวไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าไสยศาสตร์และปรากฏการณ์สยองขวัญในแบบของหนังผีไทยมีความแตกต่างและน่ากลัวในตัวของมันเอง ทำให้เพิ่มความลี้ลับแก่หนังผีไทยมากขึ้น ส่งผลให้ภาพยนตร์ประเภทนี้ของไทยค่อนข้างเป็นที่โปรดปรานของกลุ่มผู้ชมที่ต้องการความตื่นเต้นและหวาดกลัว ดังจะเห็นได้ว่าในจำนวนหนังไทยที่ฉายในไต้หวันในปี2566* จำนวน 10 เรื่องเป็นหนังผีถึง 5 เรื่อง และภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้มากที่สุดจากการเข้าฉายในไต้หวัน 3 อันดับแรกในปี 2566 ต่างก็เป็นหนังผีทั้งสิ้น ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส 2 ที่ทำรายได้จากการเข้าฉายในประเทศไทยมากกว่า 500 ล้านบาท สามารถทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวันได้เพียง 5 แสนบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากการเป็นภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ย้อนยุค ซึ่งคนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของไทยมากเพียงพอ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าใจมุกตลกและเกร็ดต่างๆ ของเรื่อง อีกทั้งละครโทรทัศน์เรื่องนี้ก็ไม่ได้มาเข้าฉายทางช่องทางปกติ (เคเบิลทีวี) ในไต้หวัน ทำให้ไม่สามารถสร้างกลุ่มแฟนละครที่ต่อยอดมาสู่ความอยากชมเวอร์ชันที่เป็นภาพยนตร์เหมือนในประเทศไทย รายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามตารางที่ 5
ตารางที่ 5: รายได้ของภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในไต้หวันในปี 2566*
อันดับ | ชื่ออังกฤษ | บริษัทผู้จัดจำหน่าย | รายได้ (บาท) | จำนวนโรง |
1 | บ้านเช่าบูชายัญ | ไทย: GDH 559 CO.,LTD.
ไต้หวัน: CATCHPLAY |
16,556,537 | 62 |
2 | สุขสันต์วันกลับบ้าน | ไทย: M PICTURES CO.,LTD.
ไต้หวัน: CATCHPLAY |
9,253,493 | 59 |
3 | Mae Nak Reborn | ไทย: RELAY MOTION KFT.
ไต้หวัน: GARAGEPLAY |
3,018,656 | 50 |
4 | My Precious รักแรกโคตรลืมยาก | ไทย: GMM TV Co.,Ltd.
ไต้หวัน: Cai Chang International |
1,662,199 | 28 |
5 | หุ่นพยนต์ | ไทย: Five Star Production Co.,Ltd.
ไต้หวัน: Sky Films |
1,133,768 | 46 |
6 | ดับแสงรวี | ไทย: M PICTURES CO.,LTD.
ไต้หวัน: Cai Chang International |
597,264 | 23 |
7 | อีหนู อันตราย | ไทย: THONGKHAM FILMS
ไต้หวัน: Cai Chang International |
540,812 | 44 |
8 | บุพเพสันนิวาส 2 | ไทย: Joint Venture Destiny The Movie
ไต้หวัน: CATCHPLAY |
504,071 | 15 |
9 | Faces of Anne แอน | ไทย: M PICTURES CO.,LTD.
ไต้หวัน: H2O Media |
113,114 | 23 |
10 | อานนท์เป็นนักเรียนดีเด่น | ไทย: WM Jansen
ไต้หวัน: PROVIEW ENTERPRISES INC. |
87,019 | 12 |
ที่มา : Box Office Taiwan / รวบรวมโดย สคต. ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2)
* ข้อมูลถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
- แนวโน้มความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค
เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของภาพยนตร์ไต้หวันที่ได้รับความนิยมและทำรายได้สูงจากการออกฉายแล้ว เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์สหรัฐฯ ได้รับความนิยมจากผู้ชมไต้หวันมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มของ Super Hero และภาพยนตร์ที่เป็นภาคต่อของภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว รวมถึงแอนิเมชันจากญี่ปุ่น ที่มีฐานลูกค้าซึ่งชื่นชอบมังงะเรื่องนั้นๆ เป็นจำนวนมาก ทั้ง ONE PIECE, Jujutsu Kaisen, Konan, Doraemon และ Crayon Shin-chan ยังคงครองใจผู้ชมไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาจากความชอบของชาวไต้หวันที่มีต่อภาพยนตร์ไต้หวันจะพบว่า ภาพยนตร์ไต้หวันที่ทำรายได้จากการเข้าฉายในระดับสูง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ในแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ที่แฝงด้วยความซาบซึ้งกินใจ จะเป็นที่ชื่นชอบของตลาดไต้หวันเป็นอย่างมาก เช่น Cape No.7 (2551), You are the apple of my eye (2554), Our Times (2559) รวมถึง More than blue (2559) ต่างก็เป็นภาพยนตร์ที่เรียกน้ำตาจากผู้ชมได้ท่วมท้นและต่างก็ทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ หนังผีไต้หวันเรื่อง Tag-Along ที่เข้าฉายในปี 2558 และสามารถทำรายได้รวมในไต้หวันได้สูงถึงกว่า 90 ล้านบาท พร้อมทั้งถูกซื้อไปฉายในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเก๊าด้วย และกระตุ้นให้เกิดการสร้างหนังผีในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น และจำนวนผู้ชมหนังผีในไต้หวันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยหนังไต้หวันที่ทำรายได้สูงสุดจากการเข้าฉายในปี 2565 และ 2566 คือ Incantation (ทำรายได้ 188 ล้านบาท) และ Marry My Dead Body (ทำรายได้ 400 ล้านบาท) ต่างก็เป็นหนังผีทั้งสองเรื่อง
ภาพยนตร์ไทยที่เข้าสู่ตลาดไต้หวันที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่แล้ว หนังผีไทยจะสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายกว่าหนังประเภทอื่น ประกอบกับที่ในไต้หวันจะมีช่วงเทศกาลเดือนผี ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือน 7 ตามปฏิทินจีนของทุกปี ทำให้ในช่วงดังกล่าว หนังผีจะถูกนิยมนำมาเข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไต้หวัน ซึ่งแน่นอนว่ามักจะมีภาพยนตร์ไทยมาเข้าฉายในช่วงเทศกาลเดือนผีนี้ด้วยเป็นประจำทุกปี อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดจากการเข้าฉายในไต้หวัน คือฉลาดเกมส์โกง ซึ่งเข้าฉายในปี 2560 และสามารถทำรายได้จากการเข้าฉายทั่วไต้หวันได้มากกว่า 160 ล้านบาท อันเนื่องมาจากความแปลกของพล็อตที่หยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับการโกงการสอบของเหล่าวัยรุ่น ซึ่งเป็นที่ถูกใจกลุ่มวัยรุ่นในไต้หวันเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นกระแส Word-of-mouth ในการชวนเพื่อนๆ เข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่งผลให้ฉลาดเกมส์โกงคว้าแชมป์ Box Office จากการเข้าฉายในสัปดาห์ที่ 31 ของปี 2560 ด้วย และทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวันได้สูงเป็นประวัติการณ์ ความดังของภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ทำให้นักแสดงนำทั้งสองคน คือ
ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง และ ชานน สันตินธรกุล กลายเป็นที่โด่งดังในไต้หวัน ความดังของนักแสดงไทยทำให้ในช่วงกลางปี 2566 ชานนได้มีโอกาสร่วมแสดงในซีรี่ย์ดังของไต้หวันเรื่อง “Oh No! Here Comes Trouble” ที่ออกอากาศทางแพลตฟอร์ม iQIYI และทางเคเบิลทีวีของไต้หวันด้วย
นอกจากหนังผีแล้ว ในตลาดไต้หวันก็มีภาพยนตร์ในแนวอื่นของไทยมาเข้าฉายอย่างต่อเนื่อง แม้รายได้จากการเข้าฉายจะไม่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก (2553) ที่สร้างกระแสฮือฮาได้ไม่น้อย จนมีคอมเมนต์ของแฟนหนังจำนวนมากกล่าวถึง ในตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Our Times ของไต้หวันเข้าฉายในปี 2559 ว่า ผู้กำกับภาพยนตร์น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้มีหนังแนวโรแมนติคคอมเมอดี้ของไทยมาเข้าฉายในไต้หวันอีกเป็นประจำแทบทุกปี เช่น คิดถึงวิทยา (2557) ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้ (2557) แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว (2560) น้อง.พี่.ที่รัก (2561) ไบค์แมน (2562) Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2562) อ้าย..คนหล่อลวง (2563) ไสหัวไป นายส่วนเกิน (2564) ใจฟู สตอรี่ (2565) เป็นต้น โดยเรื่องน้อง.พี่.ที่รัก สามารถทำรายได้จากการเข้าฉายในไต้หวันได้มากกว่า 10 ล้านบาทด้วย นอกจากนี้ ซีรี่ย์ Y ของไทยก็ได้รับความนิยมในตลาดไต้หวันมากขึ้น โดยสังคมไต้หวันค่อนข้างเปิดกว้างเกี่ยวกับ LGBTQ+ และมีการยอมรับเพศสภาพที่แตกต่างมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กลุ่มคนดูซีรี่ย์ Y ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง ซึ่งภาพยนตร์แนว Y ของไทยมาเข้าฉายในไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น Present Perfect แค่นี้ก็ดีแล้ว (2560) ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค (2563) ดิว ไปด้วยกันนะ (2563) 2gether: The Movie (2565) และดับแสงรวี (2566) เป็นต้น โดยภาพยนตร์แนว LGBT ของไทยเข้ามาสร้างสีสันในตลาดไต้หวันจนหลายเป็นที่รู้จักไปทั่ว เช่น รักแห่งสยาม (2551) และ Yes or No อยากรักก็รักเลย (2553) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์แนว LGBT ยุคบุกเบิกของตลาดไต้หวันเลยทีเดียว และความโด่งดังของรักแห่งสยามทำให้มีการนำเอาภาพยนตร์เรื่องนี้ในเวอร์ชันดิจิทัล กลับมาฉายในไต้หวันอีกครั้งในปี 2565 และสามารถทำรายได้มากกว่า 5 แสนบาทเลยทีเดียว
6. ปัญหาอุปสรรค ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ตลาดสำหรับภาพยนตร์เสียงภาษาจีนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เพราะมีคนเชื้อสายจีนอาศัยนอกพื้นที่จีน ไต้หวัน ฮ่องกงและมาเก๊า อีกมากมายทั่วโลก อย่างไรก็ดี อุปสรรคด้านภาษา อาจทำให้ยากสำหรับไทยในการผลิตภาพยนตร์ภาษาจีนเองทั้งหมด การร่วมทุนสร้างภาพยนตร์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์ภาษาจีนได้โดยง่าย โดยอาจใช้จุดแข็งจากความนิยมภาพยนตร์ประเภทหนังผีและหนัง Y จากไทยเป็นจุดริเริ่มในการสร้างความร่วมมือ นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันได้เปิดโอกาสให้คนทำหนังจากต่างประเทศสามารถขอรับทุนสนับสนุนในการร่วมลงทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์และแอนิเมชันได้ โดยเปิดให้ทีมงานจากต่างประเทศสามารถเสนอโครงการได้ ผ่านการจัด Taiwan Creative Contest Fest ซึ่งจะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี และจะมีการคัดเลือกผลงานมา Pitching ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ซึ่งจะสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสมัครและการ Pitching ได้ทั้งหมด ทำให้ทีมงาน/บุคลากรของไทยสามารถสมัครเข้าร่วมงานได้ โดยสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อขอรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรับสมัครได้ที่ https://register.taicca.tw/#/register จึงถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มคนทำหนังอิสระที่ต้องการหาเงินทุนมาสนับสนุนการถ่ายทำ
ไต้หวันมีเทศกาลภาพยนตร์ใหญ่ 2 เทศกาลคือ Taipei Golden Horse Film Festival หรือเทศกาลม้าทองคำ และ Taipei Film Festival ซึ่งต่างก็ถือเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะเทศกาลม้าทองคำที่มีบทบาทสำคัญในตลาดภาพยนตร์พูดภาษาจีนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเทศกาลสำหรับภาพยนตร์จีนที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด การมาเข้าร่วมหรือได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้ จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยได้เป็นอย่างดี และจากการที่เทศกาลม้าทองคำเปิดรับภาพยนตร์เสียงภาษาจีนจากทั่วโลกมาเข้าร่วมการประกวดรางวัล ทำให้มีภาพยนตร์จากต่างประเทศส่งมาเข้าร่วมการประกวดอย่างต่อเนื่องมา และก็มีภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถคว้ารางวัลใหญ่หลายครั้งด้วย เช่น ในครั้งล่าสุดที่ผ่านมา คือม้าทองคำครั้งที่ 60 ที่เพิ่งประกาศผลรางวัลไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง Stonewalling ที่การร่วมทุนระหว่างจีนและญี่ปุ่น โดยใช้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีนและญี่ปุ่น สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี ที่ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดของงานมาครอง รวมถึงภาพยนตร์สารคดีเรื่อง YOUTH (Spring) ซึ่งเป็นผลงานของ หวังปิง ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวจีน ก็สามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมประจำปีมาครองด้วยเช่นกัน ส่วนผลงานของผู้ที่ทำงานในแวดวงภาพยนตร์ของไทยคือคุณเทิดศักดิ์ จันทร์ปาน นักดนตรีชาวไทย เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรองม้าทองคำครั้งที่ 44 ในปี 2550 จากภาพยนตร์เรื่อง Secret ซึ่งเป็นจุดเริ่มให้คุณเทิดศักดิ์ฯ ได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับเจย์ โชว์ นักร้องเพลงป็อบที่มีชื่อเสียงที่สุดของวงการเพลงจีนด้วย การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการไต้หวัน ฮ่องกง หรือจีน จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการมีส่วนร่วมกับเทศกาลภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลสูงในตลาดภาพยนตร์พูดภาษาจีนรายการนี้