สถานการณ์การนำเข้ายางล้อรถมายังสเปน 10 เดือน ล้อรถบรรทุกไทยโต 36% ปีหน้าไม่แน่นอน

สถิติล่าสุด ณ ตุลาคม 2566

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 สมาคมผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายยางล้อรถยนต์แห่งชาติสเปน (ADINE –  Asociación Nacional de Distribuidores e Importadores de Neumáticos) เผยสถิติเดือนตุลาคม 2566 ว่าการนำเข้ายางล้อรถจากเอเชียมายังตลาดสเปนมีการขยายตัวต่อเนื่อง เป็นยางล้อรถบรรทุก 41,370 ยูนิต ขยายตัวร้อยละ 3.6 และยางล้อรถยนต์นั่งสำหรับครัวเรือน (รถเก๋งและรถตู้) 1,159,890 ยูนิต ขยายตัวร้อยละ 56.6 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีก่อนหน้า

 

ตัวเลขที่โดดเด่นสำหรับสถิติเดือนตุลาคม 2566 ได้แก่ การนำเข้ายางล้อรถบรรทุกจากประเทศไทยซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.3 จากตุลาคมปีก่อนหน้า การนำเข้าล้อรถบรรทุกจากเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และการนำเข้าล้อรถบรรทุกจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 413.6 ขณะที่การนำเข้ายางรถยนต์นั่งส่วนมากเป็นการนำเข้าจากจีน 857,730 ยูนิต หรือร้อยละ 74 ของการนำเข้าทั้งหมด

 

สำหรับสถิติ 10 เดือน ระหว่างมกราคม – ตุลาคม 2566 พบว่าการนำเข้ายางล้อรถหลายกลุ่มยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยกลุ่มยางรถยนต์นั่ง (รถเก๋งและรถตู้) จากเอเชียเติบโตสูงถึงร้อยละ 25 ขณะที่ยางรถบรรทุกขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เช่นเดียวกับยางล้อในภาคการก่อสร้างและเหมืองแร่ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 29.2

 

ในด้านปริมาณสะสม สเปนนำเข้ายางล้อรถยนต์นั่งรวม 9,449,930 ยูนิต ซึ่งร้อยละ 78 หรือ 7,335,710 ยูนิตเป็นการนำเข้าจากประเทศจีน และนำเข้ายางรถบรรทุก 450,060 ยูนิต โดยการนำเข้าจากประเทศไทยมีการขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 33.5 ส่วนเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 0.3 ส่วนยางล้อในภาคการก่อสร้างและเหมืองแร่อยู่ที่ 148,590 ยูนิต มาจากประเทศอินเดีย (ร้อยละ 34) และจีน (ร้อยละ 24) เป็นหลัก

 

การนำเข้ายางล้อที่มีการหดตัวในช่วงเดือน มกราคม – ตุลาคม 2566 ได้แก่ ยางล้อรถจักรยานยนต์ สิบเดือนมีการนำเข้า 889,450 ยูนิต หดตัวร้อยละ 15 โดยร้อยละ 53 หรือ 471,060 ยูนิตเป็นการนำเข้าจากประเทศไทย และยางล้อรถในการเกษตร สิบเดือนมีการนำเข้า 158,370 ยูนิต หดตัวร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแหล่งนำเข้าหลัก คือ อินเดีย 92,440 ยูนิต หรือร้อยละ 58 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด

 

ภาพรวม 2566

Oscar Bas เลขานุการบริหารของ ADINE กล่าวถึงปีที่กำลังจะผ่านไปว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในอุตสาหกรรมยางล้อทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะด้านการจำหน่าย โดยปัจจัยกระทบมีหลายประการตั้งแต่การปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลไปจนถึงความท้าทายด้านโลจิสติกส์

 

ADINE ระบุว่าปีนี้ตลาดยางต้องเผชิญกับความไม่ปกติในหลายรูปแบบอันเนื่องมาจากความผกผันและความไม่แน่นอนของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ถูกกระทบโดยปัจจัยภายนอกตลอดปี ตัวอย่างเช่น สถิติ Europool ชี้ให้เห็นว่าตลาดยางอะไหล่สำหรับรถยนต์นั่งครัวเรือนในสเปน 10 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 5.7 ขณะที่ ADINE Distripool เผยยอดการจำหน่ายยางอะไหล่รถยนต์นั่งในกลุ่มผู้จัดจำหน่ายค้าส่งมีการขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รับอานิสงค์การปรับระบบของการขนส่งทางเรือและความมั่นคงของตลาด แต่ในทางกลับกัน ยอดขายไปยังผู้บริโภคกลับลดลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจมหภาคของประเทศชะลอการใช้จ่ายของประชาชนชาวสเปน

 

นอกจากนี้ ภาคการผลิตยางล้อรถยนต์ของสเปนก็ประสบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2566 อาทิ ผู้ผลิตหลายรายมีการเปลี่ยนแปลงและออกแบบโครงสร้างธุรกิจใหม่ บางรายปิดกิจการเนื่องจากการนำเข้ายางล้อรถบรรทุกจากประเทศเอเชียที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

 

อุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมยางล้อรถสเปน ยังคงเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงานทักษะ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายอบรมพัฒนาบุคลากรหรือมาตรการจูงใจเยาวชนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่การประกอบอาชีพในสาขานี้

 

แนวโน้มปี 2567

แม้ฟันธงได้ยาก แต่ADINE คาดการณ์ว่าสถานการณ์ตลาดยางล้อรถสเปนปีหน้าจะมั่นคงมากกว่าปี 2566 และจะเห็นการเติบโตรวมทั้งพัฒนาการเล็กน้อยในตลาด แต่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคจะยังขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลักต่อไป ในส่วนสมาคมฯ จะติดตามผลการตัดสินใจของ European Commission กรณีการทุ่มตลาดยางล้อรถบรรทุก/รถบัสจากประเทศจีน (AD และ AS) อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งกฎหมายยางเก่าหมดอายุซึ่งควรจะมีความคืบหน้าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลของสเปนเป็นรูปเป็นร่าง

 

โดยสรุป 2567 จะเป็นปีที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมยางล้อรถสเปนเนื่องจากปัจจัยด้านโลจิสติกส์ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มตลาด โดยผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มความสำคัญกับความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ การเพิ่มทางเลือกให้กับสินค้าและบริการ ความยืดหยุ่นคล่องตัว ตลอดจนการบริหารจัดการกำไรและออกแบบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

 

อุตสาหกรรมยานยนต์สเปน

ยางล้อรถยนต์นับเป็นสินค้าส่งออกศักยภาพของไทยในตลาดสเปน  โดยสถิติล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 การส่งออกยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่ (พิกัดศุลกากร 4011) มีมูลค่า 49.91 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

อนึ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจสเปน โดยคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP ประเทศ โดยสเปนเป็น

  • ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ในยุโรป
  • ผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อันดับ 1 ในยุโรป
  • ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 9 ของโลก
  • มีโรงงานผลิตรถยนต์ 17 แห่ง
  • เป็นฐานการผลิตของแบรนด์ระดับโลก 9 แบรนด์
  • ปี 2565 ผลิตรถยนต์ 2.2 ล้านคัน 38 โมเดล ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า 19 โมเดล
  • มีผู้ผลิตอุปกรณ์และส่วนประกอบมากกว่า 1,000 ราย
  • ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่อันดับ 4 ในยุโรป
  • มีศูนย์เทคโนโลยี 15 แห่ง และคลัสเตอร์ยานยนต์ 10 แห่ง

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจประเทศสเปน แต่สเปนไม่สามารถผลิตยางพาราเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมได้จึงต้องนำเข้ายางพาราธรรมชาติจากต่างประเทศทั้งหมดมาแปรรูป ทั้งนี้ นอกจากจะนำเข้ายางธรรมชาติแล้ว สเปนยังนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางด้วยเนื่องจากต้นทุนการผลิตในประเทศสูงขึ้นขณะที่ยางจากเอเชียมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะยางล้อรถ

 

ในการบุกเจาะตลาดยางล้อรถสเปนปี 2567 ผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป รวมถึงแนวโน้มทางการค้าด้านความยั่งยืน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ อยู่เสมอ โดยจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ควรเจรจากับคู่ค้าอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาโลจิสติกส์จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ได้อย่างทันท่วงที

 

ที่มา : Asociación Nacional de Distribuidores e Importadores de Neumáticos, ICEX,

 

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด

29 ธันวาม 2566

thThai