“แพทองธาร” เร่งเครื่องซอฟต์พาวเวอร์ ประชุม คกก.พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ นัดแรกปี 67 อัพเดทความสำเร็จ 3 โจทย์ใหญ่ การแก้ไขกระบวนการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ พร้อมจัดตั้งศูนย์การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ One Stop Service ลดระยะเวลาการขอรับบริการภาครัฐ นำร่อง 2 สาขา ภาพยนตร์และดนตรี เตรียมดัน พ.ร.บ.THACCA เข้าสภากลางปีนี้

“แพทองธาร” เร่งเครื่องซอฟต์พาวเวอร์ ประชุม คกก.พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ นัดแรกปี 67 อัพเดทความสำเร็จ 3 โจทย์ใหญ่ การแก้ไขกระบวนการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ พร้อมจัดตั้งศูนย์การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ One Stop Service ลดระยะเวลาการขอรับบริการภาครัฐ นำร่อง 2 สาขา ภาพยนตร์และดนตรี เตรียมดัน พ.ร.บ.THACCA เข้าสภากลางปีนี้

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าความสำเร็จตามแผนงานครั้งแรกของปี 2567 โดยมี 3 ประเด็นหารือสำคัญ ทั้ง การแก้ไขกฎหมายพิจารณาในประเด็นภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในราชอาณาจักร การจัดตั้ง One Stop Service ของสาขาภายใต้ซอฟต์พาวเวอร์ และความก้าวหน้าของ พ.ร.บ. THACCA

ประเด็นแรก ในเรื่องของการแก้ไขกระบวนการพิจารณาจัดเรตติ้งภาพยนตร์เพื่อให้สอดคล้องกับการให้
การสนับสนุนเสรีภาพในการออกแสดงของสื่อและเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะการจัดเรตติ้งของภาพยนตร์ยังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนมายาวนานในประเด็นด้านความไม่สมเหตุสมผลของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบและเพิ่มคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาทิ จากเดิมคณะกรรมการละ 7 คน ประกอบด้วย ภาคราชการไม่เกิน 4 คน และภาคเอกชนไม่เกิน 3 คน เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการละ 5 คน ประกอบด้วยภาคราชการ 2 คน และภาคเอกซน 3 คน อีกทั้งได้เพิ่มจำนวนคณะกรรมการ จากเดิมจำนวน 6 คณะ ประกอบด้วยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ 5 คณะ และคณะกรรมการพิจารณา
วีดิทัศน์ 1 คณะ เพิ่มเป็นจำนวนรวม 10 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ 8 คณะ
และคณะกรรมการพิจารณาวีดิทัศน์ 2 คณะ เพื่อให้การพิจารณาเรตติ้งจะได้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่แท้จริงมากขึ้น รวมทั้ง ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ยังได้มีอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อลดความเข้มงวดของประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามฉายในประเทศไทยให้เหลือเพียงข้อกำหนดเดียว คือ หากภาพยนตร์มีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนประเด็นอื่นๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรอรับฟังความเห็นจากภาคของประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้

นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีสภาการภาพยนตร์ไทยภายใต้ THACCA ที่มาทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เปลี่ยนบทบาทจากการที่ภาครัฐเป็นผู้ควบคุมเป็นการสนับสนุนเสรีภาพทางความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินมากขึ้น

ประเด็นถัดมา คือ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เร่งจัดตั้ง One Stop Service (OSS) เพื่ออำนวยความสะดวก
ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์แบบครบวงจร โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการติดต่อและรับบริการภาครัฐลดระยะเวลาลง ลดขั้นตอนให้เกิดความรวดเร็วขึ้น โดยริเริ่มในอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ สาขาภาพยนตร์และสาขาดนตรี

ประการสุดท้าย สำหรับความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. THACCA ที่เป็นกฎหมายหลักในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและรับฟังความเห็นต่อไป คาดว่าจะนำเสนอเพื่อให้ทางสภาฯ พิจารณาในช่วงประมาณกลางปีนี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

ด้าน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการฯ ได้กล่าวถึงคำของบประมาณ จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ว่า “คำขอดังกล่าวสามารถแยกได้เป็นงบประมาณของปี 2567 ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณางบประมาณในรัฐสภาเกือบ 1 พันล้านบาท และอีกประมาณ
2.5 พันล้านบาท ที่มีความเร่งด่วนจะขอรับการจัดสรรจากงบกลาง และที่เหลืออีกกว่า 2 พันล้านบาท จะยกไปเป็นคำของบประมาณบางส่วนของปีถัดไป ปี 2568”

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดนัดประชุมครั้งต่อไป ในศุกร์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กระทรวงการต่างประเทศ

**************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
… มกราคม 2567

thThai