ระหว่างวันที่ 17-21 พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดงาน The 2nd H20 – Halal World 2023 International Halal Conference เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือด้านมาตรฐานสินค้าฮาลาลร่วมกับประเทศคู่ค้า โดยระหว่างการจัดงานได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการพัฒนามาตรฐานสินค้าฮาลาล ระหว่าง สถาบันรับรองสินค้าฮาลาลอินโดนีเซีย (Halal Product Assurance Organizing Agency :BPJPH) กับหน่วยงานรับรองสินค้าฮาลาล ต่างประเทศ จำนวน 37 สถาบัน จาก 14ประเทศ โดยมีเพียง 9 สถาบันจาก 6 ประเทศ ที่อินโดนีเซียให้การยอมรับมาตรฐานสินค้าฮาลาลร่วมกัน ประกอบด้วย
- Korea Muslim Federation (KMF),
- Korean Halal Authority,
- Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA),
- Taiwan Halal Integrity Development Association,
- The Central Islamic Council of Thailand, (CICOT)
- Halal Certification Center of Chile (Chile halal)
- Halal Conformity Services, New Zealand
- The Federation of Islamic Associations of New Zealand (FIANZ)
- New Zealand Islamic Development Trust Ltd.
ทั้งนี้ ในส่วนของไทย นายประสาน บุญส่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) ได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangements: MRA) กับ Mr.Muhammad Aqil Irham, Head of Halal Product Assurance Organizing Agency (BPJPH) ในการยอมรับมาตรฐานสินค้าฮาลาลระหว่างกันในกลุ่มสินค้า (1) อาหาร (2) เครื่องดื่ม และ (3) โรงเชือด โดย โดย MRA มีผลบังคับ 4 ปีนับจากวันลงนามในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ในการนี้ สคต. ได้หารือกับผู้แทน CICOT ทราบว่าหลังจากนี้ CICOT จะสามารถตรวจรับรองและเป็นตัวแทนในการออกตรารับรองฮาลาลอินโดนีเซีย (BPJPH) สำหรับสินค้าไทยนำไปยื่นขออนุญาตนำเข้าต่อหน่วยงานอินโดนีเซีย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น ด้วยจากเดิมสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในอินโดนีเซียและต้องการตรารับรองฮาลาลอินโดนีเซียเพื่อขยายฐานผู้บริโภคมุสลิม จำเป็นต้องติดต่อ BPJPH โดยตรงซึ่งใช้เวลานานและค่าใช้จ่ายสูง โดยในเบื้องต้น CICOT แนะนำให้สินค้าไทยที่นำเข้ามาจำหน่ายในอินโดนีเซียแสดงตราฮาลาลทั้ง 2 ประเทศ คือของ CICOT และ BPJPH ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีตรารับรองฮาลาลของ CICOT อยู่เดิมและมีสินค้าจำหน่ายอยู่ในอินโดนีเซียอยู่แล้วจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการต่ออายุใบอนุญาตต่างๆ เช่น BPOM (อย.อินโดนีเซีย) และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เพื่อถือปฏิบัติตามข้อตกลงใน MRA ต่อไป
วิเคราะห์ผลกระทบ โอกาส/แนวทางการปรับตัวของภาครัฐ/ภาคเอกชน/ผู้ประกอบการไทย
ตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยประชากรร้อยละ 87 จากจำนวนประชากร 275 ล้านคนของอินโดนีเซีย (สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย ปี 2565) หรือคิดเป็น 240 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม อินโดนีเซียจึงเป็นตลาดสินค้าฮาลาลที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ การที่ คณะกรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทย (CICOT) และ Halal Product Assurance Organizing Agency (BPJPH) ของอินโดนีเซีย สามารถยอมรับมาตรฐานสินค้าฮาลาลร่วมกัน ในกลุ่มสินค้า (1) อาหาร (2) เครื่องดื่ม และ(3) โรงเชือด จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่สินค้าไทยที่ต้องการส่งออกมายังอินโดนีเซียและสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยต่อไป