ด้วยมาตรฐานการครองชีพของผู้คนในประเทศดีขึ้น ความต้องการด้านอาหารว่างก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว ขนมขบเคี้ยวกลายเป็นการบริโภคส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า ขนาดของอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวในจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขนาดตลาดจาก 410,000 ล้านหยวน ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 1.17 ล้านล้านหยวน ในปี 2565 และคาดว่าในปี 2570 ขนาดตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศจะสูงถึง 1.24 ล้านล้านหยวน ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ความต้องบริโภคขนมขบเคี้ยวของผู้คนจึงจำเป็นต้องมีคุณภาพสูงและมีนวัตกรรมใหม่ในการบริโภค
ในปี 2566 อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว การแข่งขันระหว่างร้านจำหน่ายขนมเริ่มรุนแรงขึ้น โดยแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มมองหาช่องทางการตลาดใหม่ และรวบซื้อกิจการ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน สถิติตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 จำนวนร้านค้าเฉพาะขนมขบเคี้ยวในจีนเกิน 22,000 แห่ง และในปี 2566 ขนาดของตลาดร้านขายขนมขบเคี้ยวของจีน อยู่ที่ 80,900 ล้านหยวน คาดว่าในปี 2568 ขนาดตลาดจะเพิ่มสูงถึง 123,900 ล้านหยวน
ในบรรดาแบรนด์ร้านขายเฉพาะขนมขบเคี้ยวที่ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจ ได้แก่ ร้าน Super Ming (http://www.zymls.com) มีจำนวนสาขากว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศจีน มีสัดส่วนความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคคิดเป็นร้อยละ 33.8 ของผู้บริโภคทั้งหมด รองลงมาคือ ร้าน Hao Xiang Lai (https://www.hxl88.com/) มีจำนวนสาขากว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศจีน มีสัดส่วนความนิยมจากผู้บริโภคคิดเป็นร้อยละ 28.6 และ ร้าน Shack Station (http://360.hdsx83hb.com/ws/lszd/?kid=22924) มีจำนวนสาขากว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศจีน มีสัดส่วนความนิยมจากผู้บริโภคคิดเป็นร้อยละ 26.4 โดยแบรนด์ Super Ming มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงและราคาต่ำ ที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ด้วยประสบการณ์หลายปีในอุตสาหกรรมอาหารว่าง แบรนด์มีการบูรณาการทรัพยากรห่วงโซอุปทาน และร่วมมือกับผู้ผลิตโดยตรง จึงทำให้แบรนด์สามารถรับประกันคุณภาพและสามารถควบคุมราคาต้นทุนได้ดี นอกจากนี้ การผลิตสินค้าใหม่ก็ยังสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้แบรนด์มีจุดแข็งและสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ผู้บริโภคร้อยละ 61.4 ให้ความเห็นว่า พวกเขายินดีที่จะเลือกซื้อขนมขบเคี้ยวจากร้านค้าที่รวบรวมขนมขบเคี้ยวมาจำหน่ายโดยเฉพาะมากกว่าแพลตฟอร์มหรือช่องทางร้านค้าอื่น ๆ ที่จำหน่ายสินค้ารวมๆ ทั่วไป ทุกประเภทแบบไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญในด้านคุณภาพสินค้า และความสะดวกสบาย ในการเลือกซื้อเป็นหลัก ประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค 3 อันดับแรก ได้แก่ ถั่ว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.9 ของผู้บริโภคทั้งหมด รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เนื้อแห้งและเนื้อแปรรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.3 และสินค้าเนื้อตุ๋นสำเร็จรูป คิดเป็นร้อยละ 39.2
ระบบโลจิสติกส์และคลังสินค้าอัจฉริยะเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่ร้านขายขนมขบเคี้ยวลักษณะเฉพาะเช่นนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการระบบโลจิสติกส์และคลังสินค้าอัจฉริยะในอุตสาหกรรมร้านขายขนมขบเคี้ยวยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติ ขนาดของอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะของจีนอยู่ที่ 163,000 ล้านหยวน คาดว่าในปี 2570 ขนาดของอุตสาหกรรมจะสูงถึง 280,000 ล้านหยวน การมีระบบหมุนเวียนสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เข้าถึงผู้บริโภคได้สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรม
ภาครัฐของจีนมีการมุ่งเน้นการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจในเขตชนบทอย่างรอบด้าน มีการสนับสนุนและผลักดันร้านขายขนมขบเคี้ยวออฟไลน์ให้ขยายเข้าสู่เขตชุมชน การขยายร้านไปในเขตชุมชนยังมีข้อได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ สามารถช่วยลดต้นทุนค่าเช่า มีความกดดันในคลังสต็อกสินค้าต่ำ และสินค้ามีข้อได้เปรียบทางด้านราคา เป็นต้น ในขณะที่ หลายแบรนด์ชั้นนำทั่วประเทศเริ่มเร่งขยายร้านค้าสาขา คาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนร้านค้าที่จำหน่ายขนมขบเคี้ยวเป็นร้านเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้นทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท นอกจากนี้ ด้วยความตระหนักถึงด้านสุขภาพของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ความต้องการด้านสินค้าเพื่อสุขภาพก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงขนมขบเคี้ยว ธุรกิจจึงจำเป็นต้องสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถนำเสนอสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนผสมจากธรรมชาติ น้ำตาลต่ำ และไขมันต่ำ เป็นต้น เพื่อตอนสนองความต้องการ และสร้างความเหนียวแน่นต่อผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน : ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์การพัฒนาของร้านขนมขบเคี้ยวในรูปแบบแฟรนไซส์ต่าง ๆ ได้เริ่มเข้าใกล้ระดับไฮเอนด์เพิ่มมากขึ้น ด้วยสินค้าขนมขบเคี้ยวไม่ได้เป็นสินค้าคงทน มีช่องว่างในการเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าต่ำ ผลกระทบของสินค้าที่มีต่อแบรนด์ค่อนข้างน้อย และผู้บริโภคตั้งงบประมาณสำหรับการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่ต่ำ ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้วธุรกิจอาหารขนมขบคี้ยว จึงเน้นข้อได้เปรียบด้านราคาเป็นสำคัญ
ปัจจุบัน ธุรกิจร้านค้าเฉพาะขนมขบเคี้ยวในจีนได้รับความนิยมและขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก การแข่งขันของร้านค้าและร้านสะดวกซื้อก็เพิ่มมากขึ้น หลายธุรกิจจึงต้องเริ่มหารูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ ๆ ซึ่งรูปแบบร้านค้าจำหน่ายเฉพาะขนมขบเคี้ยวเป็นอีกโมเดลธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม รูปแบบร้านค้าเหล่านี้ จะเป็นการรวบรวมเฉพาะขนมเครื่องดื่มและขนมท่านเล่นไว้ในที่เดียวกัน ภายใต้แบรนด์ร้านค้าของตัวเอง และมีการขยายเป็นร้านเชนสโตร์แทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีการจำหน่ายขนม แบรนด์ดังๆ ที่เป็นที่นิยมในตลาด ซึ่งมาจากทั้งในและจากต่างประเทศ และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ไทยที่หาได้ในร้านประเภทนี้ หนีไม่พ้น อาทิ สาหร่ายกรอบอย่างเถ้าแก่น้อย ป๊อกกี้ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งขนมขบเคี้ยวไทย ที่นักท่องเที่ยวจีนไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทยแล้วนิยมซื้อกลับมาเป็นของฝาก ก็เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแรงผลักดันสำหรับการพิจารณาจัดซื้อขนมเข้าร้านของแบรนด์แฟรนไชส์ จุดเด่นของร้านลักษณะดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคสามารถหาสินค้าขนมที่หลากหลายได้ในที่เดียว จึงกลายเป็นอีกช่องทางการกระจายสินค้าสำคัญอีกช่องทางหนึ่ง ประกอบกับเทรนด์ผู้บริโภคจีน โดยเฉพาะจีนรุ่นใหม่ ที่นิยมกินขนมทานเล่น เครื่องดื่มต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ 0 แคลอรี่ น้ำตาลต่ำ โลว์คาร์บ เติมวิตามิน ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ กลยุทธ์การนำ แบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในร้านค้าจะเป็นส่วนช่วยในการกระจายสินค้าสร้างการรับรู้ด้านภาพลัษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์เพิ่มมากขึ้น จึงเห็นได้ว่าร้านเชนสโตร์ขนมขบเคี้ยวแบรนด์ต่างๆ ที่ขึ้นเป็นดอกเห็ดในจีน กลายเป็นอีกช่องทางตลาดที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพิจารณาการดำเนินธุรกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ที่มา
https://www.iimedia.cn/c400/97114.html
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
12 มกราคม 2567