มาตรการยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเปรู (Peru Boost Plan – “Impulso Perú”) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Tax: VAT)  เป็นการชั่วคราว อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย เลขที่ 31651 ที่มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 โดยยกเว้นการเก็บ VAT  สำหรับสินค้าและบริการบางรายการ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ที่ผ่านมารัฐบาลเปรูเรียกเก็บ VAT[1] กับสินค้าทุกรายการ ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคทุกระดับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เกี่ยวกับอาหาร  โดยรัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการยกเว้นการเก็บ VAT กับสินค้าในกลุ่มอาหาร ผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรมบางประเภท

กลุ่มสินค้าอาหารและผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่

  • สัตว์มีชีวิตในสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ม้า ลา ล่อ วัว หมู แพะ ละมั่ง
  • สินค้าเกษตรขั้นต้น เช่น พืชผัก พืชมีฝัก ผลไม้ เป็นต้น
  • ปัจจัยทางการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย
  • วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลางสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
  • ปลา กุ้ง หอย และสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ยกเว้น สัตว์น้ำที่นำไปแปรรูปเป็นปลาป่น และน้ำมันปลา
  • น้ำนมดิบ
  • ผลิตภัณฑ์ผักและธัญพืช รวมทั้ง แบบสดและแช่เย็น เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ หัวหอม กะหล่ำปลี ผักกาดหอม แครอท แตงกวา ถั่ว อาร์ติโชก หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือยาวสีม่วง  คื่นช่ายฝรั่ง  เห็ด พริกไทย ผักขม  มะกอก และอื่น ๆ.
  • Dried legumes and seeds, such as peas, chickpeas, beans, and lentils.
  • ผลไม้แห้งและถั่วต่าง ๆ เช่น มะพร้าว กล้วย ส้ม มะนาว องุ่น แตง แอปเปิ้ล แพร์ เชอร์รี เป็นต้น
  • เมล็ดกาแฟดิบ ชา เครื่องเทศ เช่น ขิง ขมิ้น

กลุ่มบริการ ได้แก่

  • บริการขนส่งสาธารณะภายในประเทศ ยกเว้น การขนส่งผู้โดยสารทางราง และทางอากาศ
  • บริการขนส่งสินค้าจากเปรูไปยังต่างประเทศ และจากต่างประเทศมายังเปรู
  • การแสดงมหรสพ โรงละคร โรงโอเปรา คอนเสิร์ต ดนตรีคลาสสิค บัลเลต์ ละครสัตว์ และการแสดงพื้นเมือง ซึ่งถือเป็นการแสดงสาธารณะทางวัฒนธรรม
  • บริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มโรงอาหาร และในโรงอาหารของสถานศึกษา

ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มสินค้าและสินค้าแต่ละชนิดจะมีรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการบังคับใช้มาตรการยกเว้นการเก็บ VAT[1]

รัฐบาลเปรูได้นำเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ (Peru Boost Plan – “Impulso Perú”) เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนดังกล่าว เพื่อเร่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรู ยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนฯ ประกอบด้วยมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการใช้จ่ายของภาคเอกชน การเร่งการลงทุนภาคเอกชน และการสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุน[2] โดยผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการดำเนินงานตามแผน “Impulso Perú” เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและพลังงาน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

          ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมที่มีลักษณะถดถอย (regressive) กล่าวคือผู้มีรายได้น้อยแบกรับภาระภาษีที่หนักกว่าผู้มีรายได้สูงกว่า เพราะเมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนกับรายได้แล้ว คนที่มีรายได้น้อยมักต้องจ่ายภาษีประเภทนี้มากกว่าคนที่มีรายได้สูง เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภคต่อรายได้สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลเปรูบังคับใช้มาตรการยกเว้นการเก็บ VAT กับสินค้าในกลุ่มอาหาร ผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรมบางประเภท ครอบคลุมถึงสินค้านำเข้าที่อยู่ภายใต้กลุ่มสินค้าดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเพิ่มขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า

อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารของเปรูเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และแตะระดับสูงที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากเปรูได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าในช่วงวิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลกและสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรกรรมในประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากพลังงานและปุ๋ยมีราคาเพิ่มสูงขึ้น และตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารของเปรูอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ที่ร้อยละ 11 – 12.6 ซึ่งคาดว่าระดับอัตราเงินเฟ้อนี้จะอยู่จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จนถึงระดับร้อยละ 5.6 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจาก แนวโน้มการเสนอราคาสินค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เปรูยังคงต้องประสบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง และการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง การยกเว้นการเก็บ VAT ช่วยให้ราคาสินค้าอาหารลดลงประมาณร้อยละ 15 อย่างไรก็ดี รัฐบาลเปรูจำต้องยอมสูญเสียรายได้บางส่วนโดยการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าบางรายการเพื่อลดภาระให้กับผู้มีรายได้น้อย และยังส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าอาหารของเปรู

ในช่วงปี 2566 สินค้า 10 อันดับต้นที่ไทยส่งออกไปยังเปรู ได้แก่ (1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (2) รถยนต์และส่วนประกอบ (3) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (4) ผลิตภัณฑ์ยาง (5) ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (6) ข้าวโพด (7) เม็ดพลาสติก (8) เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ (9) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ (10) เภสัชภัณฑ์ ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกสินค้าไปไปยังเปรูมีการปรับตัวลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ยกเว้นสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และข้าวโพด ซึ่งสินค้าดังกล่าวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับการยกเว้นการเก็บ VAT นอกจากนี้ ไทยและเปรูมีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Thailand-Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) ที่ช่วยให้สินค้าอาหารของไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี ตั้งแต่ปี 2554 ไทยและเปรูเริ่มลด/ยกเลิกภาษีบางส่วน (Early Harvest Scheme) จนถึงปี 2559 ภาษีสินค้าลดเหลืออัตราร้อยละ 0 แล้วคิดเป็นร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยรายการสินค้าร้อยละ 70 ของไทยที่ลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว อาทิ สินแร่ หัวแร่สังกะสี ปลาหมึก น้ำมันปลา อาหารทะเล โลหะมีค่า และเคมีภัณฑ์ ในส่วนของเปรูรายการสินค้าร้อยละ 70 ที่ลดภาษีเป็นศูนย์แล้ว อาทิ รถปิกอัป เครื่องซักผ้า พลาสติก ท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บ และเครื่องจักร เป็นต้น

สินค้าเกษตรกรรมเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้เปรู อย่างไรก็ดี เปรูประสบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร และจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยในการขยายการส่งออกไปยังเปรู โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง TPCEP และมาตรการการยกเว้นการเก็บ VAT ในกลุ่มสินค้าอาหารของเปรู

___________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

มกราคม 2567

 

[1] Peruvian newspaper –  https://gestion.pe/economia/sunat-que-bienes-y-servicios-estan-exonerados-de-pagar-igv-este-ano-2024-operaciones-gravadas-operaciones-no-gravadas-impulso-peru-exoneracion-de-igv-bienes-y-servicios-exonerados-del-igv-noticia/?ref=gesr

[2] Peruvian newspaper – https://andina.pe/agencia/noticia-peru-govt-launches-boost-plan-with-three-fundamental-pillars-to-boost-growth-909114.aspx

[1] The general rate of VAT is 18% (16% of VAT itself plus 2% of municipal promotion tax).

thThai