ในปี 2566 การค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซในประเทศเวียดนามเติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่ากว่า 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 8 ของรายได้สินค้าและบริการอุปโภคบริโภคของประเทศ
จากข้อมูลของ Metric ด้วยความสำเร็จดังกล่าว เวียดนามอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซชั้นนำของโลก ซึ่งสร้างแรงพลักดันในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในธุรกิจ
จากข้อมูลของ Metric ระบุว่า การทำธุรกิจ B2C (Business to Customer) ธุรกรรมเชิงพาณิชย์ระหว่างธุรกิจและผู้บริโภคในปี 2566 บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่จดทะเบียนในเวียดนามมีมูลค่ามากกว่า 498.9 ล้านล้านด่ง โดยจากยอดการค้าดังกล่าวมี 5 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (Shopee, Lazada , Tiki, Sendo และ Tiktok Shop) ที่มีมูลค่า 232,200 ล้านล้านด่ง คิดเป็นร้อยละ 47 เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.4 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ในเดือนสิงหาคม 2566 มีอัตราการเติบโตสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 89.9 โดยมีรายได้มากกว่า 21 ล้านล้านด่ง
ในปี 2566 รูปแบบการซื้อ – ขายออนไลน์ใหม่ๆ มีการพัฒนาการไปสู่รูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดและการขายหลายช่องทาง ซึ่งสร้างรายได้ให้กับผู้ขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างมาก ในปี 2566 ใน 4 แพลตฟอร์มคือ Shopee, Lazada, Tiki และ Sendo มีผู้ขายมากกว่า 105,000 ราย ได้ออกจากตลาด เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้ขายใหม่มากกว่า 95,000 รายที่ขายใน TikTok Shop ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากส่งผลให้แพลตฟอร์ม TikTok มียอดขายโดยเฉลี่ย 50 ล้านรายการต่อเดือน
ปัจจุบันมีร้านค้า 637,273 ร้านใน 5 แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ Shopee, Lazada, Tiki, Sendo และTiktok โดยมีสินค้าจำนวน 2,200 ล้านรายการและยอดจำหน่ายสินค้าจำนวน 20.1 ล้านรายการ
หมวดหมู่ที่มีรายได้และปริมาณการขายมากที่สุด ได้แก่ สินค้าความงาม สินค้าอุปโภคบริโภค และเสื้อผ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่มีอัตราการบริโภคที่รวดเร็วและความสามารถในการจัดเก็บและขนส่งที่ง่าย ดังนั้นจึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงที่สุดในตลาดการขายออนไลน์ รายได้จากอีคอมเมิร์ซในฮานอยอยู่ที่ 76,665 ล้านด่ง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33 เติบโตร้อยละ 44 นครโฮจิมินห์ 51,230 ล้านด่ง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 22 เติบโตร้อยละ 31 ผู้บริโภค ชาวเวียดนามยังคงให้ความสำคัญกับการช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ในกลุ่มสินค้าที่อยู่ในช่วงราคาระหว่าง 10,000 ด่ง – 350,000 ด่ง โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่า 200,000 ด่ง – 350,000 ด่ง มียอดขายประมาณ 35,000 ล้านด่ง
เวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตด้านการช้อปปิ้งออนไลน์ สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดการณ์ว่ารายได้และปริมาณการขายบนแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ B2C ของเวียดนามจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีหน้า โดยอาจสูงถึง 650 ล้านล้านด่งภายในปี 2567 โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 5 อันดับแรกในเวียดนามจะมีมูลค่ามากกว่า 310 ล้านล้านด่ง ปี 2567 เติบโตร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปี 2566 การค้าขายข้ามพรมแดนจะเป็นเทรนด์ของตลาด โดยเฉพาะร้านค้าจากจีนและเกาหลีใต้ที่กำลังเป็นที่สนใจมากขึ้นบนแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคของเวียดนาม เมื่อมีการขายสินค้าในรูปแบบ live stream โดยตรงมาจากประเทศจีนในราคาที่แข่งขันได้
(จาก https://en.vietnamplus.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามในปี 2566 ถือว่าเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน โดยมีส่วนช่วยของเศรษฐกิจดิจิทัลใน GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.91 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 14.26 ในปี 2566 อีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่สามารถกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจและผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในธุรกิจ การค้าธุระกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 25 ในปี 2566 กล่าวได้ว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เร่งการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ทำให้เป็นกลยุทธ์การเติบโตที่จำเป็นสำหรับผู้ค้าปลีก และส่งผลให้จำนวนผู้ซื้อออนไลน์ในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แนวโน้มของการเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มบนมือถือจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลสูง และมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาด ส่งออกสินค้ามายังเวียดนาม โดยผู้ประกอบการไทยสามารถศึกษาช่องทางการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของเวียดนามรวมถึงรูปแบบการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อีกทางหนึ่ง เนื่องจากสินค้าจากไทยได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม