“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP11 เรื่อง กิจการในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณรัดเข็มขัด

 

กิจการในสหรัฐฯ ส่งสัญญาณรัดเข็มขัด

 

การจ้างงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศโดยเมื่อภาวะการจ้างงานในตลาดอยู่ในเกณฑ์ดี แรงงานมีรายได้มั่นคง ก็ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น โดยเมื่อกลุ่มแรงงานซึ่งเป็นผู้บริโภคหลักใช้จ่ายเงินมากขึ้นก็ย่อมส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเป็นวัฏจักรต่อเนื่องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

 

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขของการจ้างงานสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะพบว่า สหรัฐฯ มีอัตราการจ้างงานนอกภาคการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 353,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อเดือนในปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 255,000 ตำแหน่ง อีกทั้ง อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ในเดือนที่ผ่านมายังอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.7 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีใกล้เคียงกับระดับในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพ (Full Capacity) ที่ระดับใกล้เคียงอัตราร้อยละ 5.0

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากลับมีบริษัทรายใหญ่ในสหรัฐฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสื่อ อุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมค้าปลีก หลายราย ต่างประกาศแผนการลดจำนวนพนักงานลงในปีนี้ เช่น Amazon, Alphabet (บริษัทแม่ของ Google), Citigroup, Ebay, Macy’s, Microsoft, Paypal, Salesforce, Snapchat, UPS, Wayfair, Xerox และอีกหลายบริษัท รายละเอียด ดังต่อไปนี้

      • บริษัท Alphabet (บริษัทแม่ของบริษัท Google) หลายร้อยตำแหน่ง
      • บริษัท Amazon หลายร้อยตำแหน่ง
      • บริษัท BlackRock ลดลง 600 ตำแหน่ง (ร้อยละ 3)
      • บริษัท Citigroup ลดลง 20,000 ตำแหน่ง
      • บริษัท Discord ลดลง 170 ตำแหน่ง (ร้อยละ 17)
      • บริษัท Docusign 400 ตำแหน่ง (ร้อยละ 7)
      • บริษัท Duolingo ลดลง ร้อยละ 10
      • บริษัท Ebay ลดลง 1,000 ตำแหน่ง
      • บริษัท Estee Lauder ลดลง 3,100 ตำแหน่ง
      • บริษัท Flexport ลดลงร้อยละ 20
      • บริษัท iRobot ลดลง 350 ตำแหน่ง (ร้อยละ 31)
      • บริษัท Macy’s ลดลง 2,350 ตำแหน่ง (ร้อยละ 3.5)
      • บริษัท Microsoft 1,900 ตำแหน่ง (ร้อยละ 8)
      • บริษัท Okta ลดลง 400 ตำแหน่ง (ร้อยละ 7)
      • บริษัท Paypal ลดลงร้อยละ 9
      • บริษัท Rent the Runway ลดลงร้อยละ 10
      • บริษัท Salesforce ลดลง 700 ตำแหน่ง (ร้อยละ 1)
      • บริษัท Snapchat ลดลงร้อยละ 10
      • บริษัท Sports Illustrated
      • บริษัท Unity Software ลดลงร้อยละ 25
      • บริษัท Universal Music Group ลดลง 100 – 300 ตำแหน่ง
      • บริษัท UPS ลดลง 12,000 ตำแหน่ง
      • บริษัท Wayfare ลดลง 1,650 ตำแหน่ง (ร้อยละ 13)
      • บริษัท Xerox ลดลงร้อยละ 15
      • บริษัท Zoom ลดลงร้อยละ 2

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดตัดสินใจลดการจ้างงานลงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในตลาดปัจจุบัน หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้เพิ่มปริมาณการจ้างงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ได้ขยายกิจการในสาขาที่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคในขณะนั้นอย่างรวดเร็ว เช่น สื่อออนไลน์สตรีมมิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อภาวะการแพร่ระบาดดีขึ้นทำให้พฤติกรรมความสนใจของผู้บริโภคในตลาดเปลี่ยนไป ทำให้กิจการในบางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับลดขนาดและจำนวนพนักงานในสายธุรกิจนั้นลง เช่น Amazon และ Microsoft เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านภาวะทางเศรษฐกิจทั้งภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และแนวโน้มของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ต่างพิจารณาดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ลดต้นทุน ระมัดระวังการลงทุนและชะลอการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้ Mr. Brian Olsavsky (ออลแซฟสกี) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท Amazon ได้กล่าวในระหว่างการแถลงผลการดำเนินกิจการบริษัทเมื่อไม่นานมานี้ว่า บริษัทฯ มีนโยบายเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายลง

 

อีกทั้ง การพัฒนาด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถทำงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพในบางสายงาน เช่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding) จึงทำให้ผู้ประกอบการในตลาดหลายรายเช่น Google และ IBM ตัดสินใจหันไปลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างจริงจังเพื่อทดแทนการทำงานของมนุษย์ด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

แม้ว่าการลดการจ้างงานในสหรัฐฯ บางส่วนจะเป็นการปรับตัวภายหลังจากการจ้างงานเกินปริมาณความต้องการ (Over Hiring) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมก็มีการปรับลดการจ้างงานลงถึงราว 260,00 ตำแหน่ง และยังมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับลดการจ้างงานในปีนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการในตลาดมีความกังวลกับแนวโน้มภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่อาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ อันเนื่องมาจากปัจจัยกระทบในตลาดหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น อัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการในตลาดปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณที่อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดลงในปีนี้ก็ตาม และแนวโน้มการเมืองทั้งในสหรัฐฯ เองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปีนี้ และการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศในเขตตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก

 

ในขณะที่แนวโน้มอัตราค่าจ้างแรงงานในสหรัฐฯ กลับปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของกิจการ จึงทำให้กิจการในสหรัฐฯ ต่างหันไปลดการจ้างงานและลดต้นทุนการดำเนินกิจการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้

ดังนั้น เมื่อภาวะการจ้างงานในตลาดชะลอตัวลงก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและกำลังการซื้อของผู้บริโภคในตลาดและอาจจะกระทบต่อความต้องการใช้จ่ายผู้บริโภคในตลาดได้ในอนาคต แนวโน้มดังกล่าวอาจจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคในตลาดลดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นลง เช่น สินค้าแฟชั่นเครื่องประดับ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ และอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาสูง อีกทั้ง ยังอาจจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคในตลาดลดการใช้จ่ายชะลอการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและหันไปเลือกรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ผู้บริโภคในตลาดยังน่าจะมีแนวโน้มที่จะหันไปเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีราคาเหมาะสม รวมถึงสินค้ากลุ่มแบรนด์ตราห้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้น จึงน่าจะยังคงเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดส่งออกสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคไปยังตลาดสหรัฐฯ

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/B71DPVSI-9g

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai