ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพครัวเรือนที่สูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว กลับเป็นโอกาสทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ต
LOPIA (โลเปีย) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การนำเสนอสินค้าผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากมาย ตัวอย่างเช่น วิธีการจำหน่ายเนื้อสัตว์บางอย่าง เช่น เนื้อวัวในประเทศ เนื้อหมูบด หมูสามชั้นจากประเทศสเปน เนื้อไก่แช่เย็น บรรจุในแพคเก็จขายปลีกที่มีปริมาณมากกว่า ราคาถูกกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้เคียง ทามากิซูชิโรลที่มีท็อปปิ้งปลาดิบยื่นออกมาทำให้ดูโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจแก่ลูกค้า และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น โดยมอบหมายการบริหารจัดการให้ผู้จัดการร้านและหัวหน้าของแต่ละแผนกสามารถสร้างสรรค์ไอเดียผลงานใช้ดุลยพินิจส่งเสริมการขายเสมือนตนเองเป็นเจ้าของในแต่ละสาขา ภายใต้คอนเซ็ปต์ ” LOPIA ราคาถูก สนุก กินแบบจุกๆ” สอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ผู้สื่อข่าวสังเกตุการณ์บรรยากาศ ณ ซูเปอร์มาร์เก็ต LOPIA สาขา LaLaport TOKYO-BAY จังหวัดชิบะ (เมืองฟุนาบาชิ) ช่วงเวลาก่อนเปิดทำการเล็กน้อย พบว่ามีลูกค้าประมาณ 20 กลุ่ม เข้าคิวรอเข้าห้างฯ บางคนเตรียมตะกร้าหลายใบลงในรถเข็นสินค้าเพื่อจะเตรียมจับจ่าย ซึ่ง LOPIA โฆษณาตัวเองว่าเป็น “สวนสนุกอาหาร” ตลอดเวลามีการกระตุ้นเชิญชวนลูกค้าสร้างบรรยากาศ โปรโมชั่นแบบนาทีทอง สินค้าลดราคา แจกแผ่นพับใบปลิวราคาสินค้า ติดโปสเตอร์ POPUP ที่มีสีสันมีอยู่มากมาย
LOPIA ก่อตั้งขึ้นในปี 2514 ในธุรกิจร้านขายเนื้อสัตว์ในเมืองฟูจิซาวะ จังหวัดคานางาว่า ปี 2523 ขยายเครือข่ายร้านค้าโดยเข้าสู่รูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ต่อมาในปี 2554 บริษัทได้ก่อตั้ง LOPIA Holdings บริษัทได้เข้าซื้อกิจการผู้ผลิตผู้ค้าส่ง และการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นๆ กลุ่มบริษัทจำนวน 22 บริษัท ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันคือ OIC Group ก้าวขึ้นมาอยู่อันดับที่ 24 ของญี่ปุ่น เติบโตอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 5 ปี อุตสาหกรรมค้าปลีก มีมูลค่า 340.1 พันล้านเยน ซึ่งในการสำรวจของสำนักข่าว Nikkei MJ จัดให้ LOPIA เป็นกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่อยู่ในอันดับต้นๆ
ตั้งสำนักงานใหญ่ที่เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาว่า ปริมณฑลของกรุงโตเกียว ปี 2024 จะมีการขยายเครือข่ายควบรวมร้านขายเฟอร์นิเจอร์ LOPIA Chikushino Schroa Mall (เมือง Chikushino จังหวัดฟุกุโอกะ) ประกอบกิจการ “Food SPA” จะทำให้ LOPIA มีสาขาครบ 100 บริษัท” ตามที่ตั้งเป้าหมายจะเปิดให้ได้ 100 สาขาและยอดขาย 2 ล้านล้านเยน ภายในปี 2567
LOPIA มีสาขาในตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ โทโฮคุ 1 สาขา คันโต 58 สาขา ชูบุ 6 สาขา คันไซ 16 สาขา และ คิวชู 4 สาขา รวม 85 สาขาข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2567
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการพัฒนาสินค้าออกมาจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการหลากหลาย และรูปลักษณ์สินค้า อาจมีรสชาติหลายรสชาติให้เลือก หรือมีบรรจุภัณฑ์หลายแบบหลายขนาด ซึ่งสินค้าเหล่านี้พัฒนาขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เป็นการปรับตัวตามเศรษฐกิจและแข่งขันทางการค้า การที่ผู้ผลิตอาหารหลายรายจำกัดจำนวนสินค้าเพื่อคุมต้นทุน ย่อมกระทบต่อการจัดหาและการนำเข้าวัตถุดิบที่อาจมีการจำกัดมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนจึงต้องสรรหาแหล่งสินค้าจากประเทศที่ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประเภทอาหารแปรรูปและวัตถุดิบมาประเทศญี่ปุ่นย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะเงินเยนที่อ่อนค่าและค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องพิจารณาราคาต้นทุนสินค้ามากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ค่าครองชีพภายในประเทศที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนใช้จ่ายอย่างประหยัด สินค้าที่จำหน่ายได้จึงเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคพิจารณาแล้วว่าคุ้มปริมาณคุ้มราคา สินค้าราคาสูงหรือสินค้าฟุ่มเฟือยจึงอาจจำหน่ายได้ยากในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ฉบับที่ 19 วันที่ 3 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
อ้างอิงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei MJ ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567