อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ซึ่ง Future Food หมายถึง อาหารประเภทใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาผ่านวิธีการผลิตแบบนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้อาหารการกินมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแก้ไขปัญหาความปลอดภัยด้านอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ plant-based/ข้าวซุปเปอร์ที่ดัดแปลงพันธุกรรม/มะเขือเทศที่ปลูกในน้ำทะเล/อาหารอวกาศ และอาหารจากแมลง

               ในปัจจุบัน มีบริษัทนานาชาติในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากแมลง ได้มีการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแมลง อาทิ ขนมขบเคี้ยวจากแมลง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ลดความเป็นรูปลักษณ์ของแมลง เพื่อลดความกังวลใจจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากแมลงของผู้บริโภค เนื่องจากแมลงอุดมไปด้วยสารอาหารและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น โปรตีน ไขมัน วิตามินบี สังกะสี ธาตุเหล็ก และมีไฟเบอร์สูง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อุตสาหกรรมแมลงเป็นอาหารแห่งโลกอนาคตที่สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และการเพาะเลี้ยงแมลงยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรน้ำ พื้นที่เพาะเลี้ยง ยาปฏิชีวนะ และลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนน้อยกว่าการการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตและเป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

               ในประเทศจีน อาหารจากแมลงมักถูกมองว่าเป็นของว่างที่เป็นเอกลักษณ์ของบางพื้นที่เท่านั้น เช่น มณฑล ยูนนานจะนิยมบริโภคดักแด้ ตั๊กแตน ผึ้ง เป็นต้น และมณฑลกวางตุ้งนิยมบริโภคดักแด้ จั๊กจั่น และแมลงไผ่ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่สามารถยอมรับอาหารเมนูดังกล่าวได้ก็ถือว่ายังค่อนข้างน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่ชื่นชอบการลองสิ่งใหม่ๆ

โอกาสของอาหาร Future Food ในตลาดจีน

         อาหารแมลงในเมืองผูเอ๋อร์ มณฑลยูนนาน

               ทั้งนี้ การจะทำให้ผู้บริโภคยอมรับการรับประทานผลิตภัณฑ์จากแมลงยังไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ผลิตที่ต้องพัฒนา ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคคือรูปลักษณ์ของแมลง ผู้ประกอบการควรพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์จากแมลง ให้อยู่ในรูปลักษณ์ของอาหารทั่วไป เพื่อลดความลังเลและความกลัวในการทานแมลงของผู้บริโภค

               ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางแบรนด์ได้ใช้ความพยายามในการพัฒนาอาหารแมลง เช่น บริษัทญี่ปุ่น MUJI และได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงชนิดหนึ่ง เรียกว่า “Cricket Senbei” เมื่อปี 2563 ซึ่งทำจากจิ้งหรีดที่บดเป็นผง โดยรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกับบิสกิตทั่วไป และแบรนด์ขนมแมลงจากฝรั่งเศส Jimini`s ก็ได้เปิดตัวบิสกิตจากแมลง เรียกว่า “Small Giants” นอกจากนี้ บริษัท Micarna ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ แปรรูปจากสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดตัว “Pop-Bugs-Products” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นเนื้อที่ทำจากแมลง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค

โอกาสของอาหาร Future Food ในตลาดจีน

   (Cricket Senbei แหล่งที่มาภาพ : MUJI Website)

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต.

               ปัจจุบัน ในโลกมีแมลงประมาณ 1 ล้านสายพันธุ์ และแมลงที่รับประทานได้กว่า 3,650 พันธุ์ จากข้อมูลของ Global Market Insights ระบุว่า ในปี 2562 ตลาดอาหารแมลงทั่วโลกมีมูลค่า 143.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่า จะเพิ่มเป็น 1,336 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 โดยมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 45

               ทั้งนี้ ในตลาดโลกมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง โดยยุโรปจัดเป็นผู้นำตลาดแมลง โดยเฉพาะเยอรมนี เป็นผู้นำในด้านของจำนวนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้จากแมลง ในขณะที่เนเธอร์แลนด์และเบลเยียมเป็นประเทศที่ได้รวมแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลงในกฎหมายอาหารอีกด้วย    ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีบริษัทชั้นนำในตลาดโปรตีนผงและผลิตภัณฑ์จากแมลงหลายราย ในขณะที่บริษัทในจีนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จากแมลงยังคงน้อยราย และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ตามข้อมูลของ Zhiyan Consulting เผยแพร่ว่า ในปี 2562 ปริมาณการผลิตโปรตีนจากแมลงของจีนอยู่ที่ 297.99 ตัน ในขณะที่มีความต้องการบริโภคอยู่ที่ 257.24 ตัน และในปี 2563 ปริมาณการผลิตโปรตีนจากแมลงของจีนอยู่ที่ 351.22 ตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 322.17 ตัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตและความต้องการในตลาดแมลงของจีนยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

               ตามข้อมูลจากศุลกากรจีน ณ ปี 2566 ระบุว่า จีนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าที่มี HS Code 0511999090 เช่น หนอนนก มดอบแห้ง ไส้เดือนอบแห้ง ตั๊กแตนอบแห้ง และจิ้งหรีดอบแห้ง เป็นต้น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของอาหารสัตว์เท่านั้น (ไม่ใช่สำหรับการบริโภคของมนุษย์) ในด้านของแมลงที่สามารถกินได้ในตลาดจีน ในการประชุมสองสภาของรัฐบาลจีน ณ ปี 2565 คุณหยาง จงฉี หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญของสถาบันวิทยาศาสตร์ป่าไม้แห่งประเทศจีน ได้แนะนําให้มีการเพิ่มแมลงที่กินได้ให้เข้าไปในแคตตาล็อกอาหารของประชาชนชาวจีน ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนให้คำตอบว่า “สามารถยื่นขออนุมัติวัตถุดิบอาหารใหม่ได้ตามกฎระเบียบ มาตราการการตรวจสอบความปลอดภัยของวัตถุดิบอาหารใหม่” ที่ออกในปี 2556 และแก้ไขในปี 2560 ซึ่งมาตราการฯ ระบุว่า วัตถุดิบอาหารใหม่ หมายถึงวัตถุดิบที่ไม่ใช่สิ่งรับประทานมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมของประเทศจีน และมีการจําแนกประเภท เช่น พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ในปี 2552 โดยโปรตีนจากไส้เดือน (Earthworm protein) ที่แปรรูปจากไส้เดือนได้ผ่านวิธีการจัดการและได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนผสมอาหารชนิดใหม่ ต่อมาในปี 2557 และ 2560 หนอนด้วง (Seed Of Mysorethorn 云实蛀虫) และผงโปรตีนจาก  ตัวอ่อนแมลง (Maggot protein powder 蝇蛆蛋白粉) ยังมีการยื่นขออนุมัติให้เป็นวัตถุดิบอาหารใหม่อีกด้วย แต่จนถึงเดือนมีนาคม 2566 วัตถุดิบอาหาร 2 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้นยังคงไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานจีน

————————————————–

แหล่งข้อมูล :

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1763840633884175084&wfr=spider&for=pc

https://mp.weixin.qq.com/s/4CGV9QPRYwVKzH6sU13CFQ

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1739482940614432753&wfr=spider&for=pc

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

thThai