ไฟป่าเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงหน้าร้อนของประเทศชิลี ระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม โดยไฟป่าที่เกิดขึ้นในปี 2567 นี้ มีความรุนแรงมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2553 ประธานาธิบดี กาเบรียล โบริค ได้ประกาศไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟป่าดังกล่าว เป็นเวลา 2 วัน โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมป่าไม้ (CONAF) และสำนักป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของชิลี (SENAPRED) ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2567 ได้เกิดไฟป่าทั่วประเทศแล้วกว่า 161 จุด ส่วนพื้นที่ควบคุมและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอยู่ในแคว้น Lonquimay โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเมืองวัลปาริโซ (Valparaiso) และเมืองวิลญ่า เดอ มาร์ (Viña del Mar) มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 14,518[1] หลังคาเรือน พบผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 132 ราย สูญหาย 372[2] ราย และผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนกว่า 40,000 ราย พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายรวมประมาณ 1,257 ตารางกิโลเมตร[3] โดยการประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ[4] รัฐบาลชิลีได้ระดมนักดับเพลิงกว่า 1,400 คนมายังพื้นที่ พร้อมเพิ่มกำลังสนับสนุนจากกองทัพอย่างเต็มที่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ นอกจากนี้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัยกว่า 20 แห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
ปัจจัยที่ทำให้ไฟป่าในครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การควบคุมเพลิงเป็นไปด้วยความยากลำบาก จากสภาพความแห้งแล้งยาวนาน พื้นที่เต็มไปด้วยหญ้าแห้ง เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ประกอบกับคลื่นความร้อนที่กระจายตัวไปในหลายพื้นที่ของประเทศ
- ความลาดชันของพื้นที่บนภูเขา อีกทั้งถนนที่แคบทำให้รถดับเพลิงไม่สามารถผ่านเข้าไปได้
- จำนวนนักดับเพลิงที่มีไม่เพียงพอ เนื่องจากในประเทศชิลีนักดับเพลิงเป็นอาชีพอาสาสมัคร ซึ่งรัฐบาลให้เงินสนับสนุนการดำเนินการเพียงร้อยละ 50[5] ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เหลือทางหน่วยงานนักดับเพลิงต้องจัดหาผ่านการรับบริจาค โดยในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาได้เสนอให้มีการแก้ไขให้นักดับเพลิงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล เพื่อลดปัญหาด้านเงินสนับสนุนการดำเนินงาน[6]
อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่ได้รับเสียงข้างมากจากการลงประชามติออกเสียงรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 นอกจากนี้ หลายฝ่ายและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ออกมาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เนื่องจากทราบข้อมูลอยู่แล้วว่าชิลีมีความเสี่ยงสูงของปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ภาครัฐบาลไม่มีการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความเสียหายและมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศของรัฐบาล
จากการสืบสวนเบื้องต้นของกระทรวงมหาดไทยและความมั่นคงฯ คาดว่าต้นเหตุของไฟป่าเกิดขึ้นจาก สภาพอากาศที่แห้งแล้งอย่างหนักของประเทศชิลี ประกอบกับปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่ทำให้เกิดคลื่นความร้อนกระจายตัวในหลายพื้นที่ของประเทศ และทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย โดยในปีนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 42.9 องศาเซลเซียส[1] นอกจากนี้ จากรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มการเกิดไฟป่าที่รุนแรงขององค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์การเกิดไฟป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 14 ภายในปี 2573 และจะเพิ่มขึ้นจนถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2593[2]
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่าสถานการณ์ไฟป่าในประเทศชิลีเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดย สคต.ฯ ขอสรุปผลกระทบสำคัญจากไฟป่า ดังนี้
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาหมอกควัน สภาวะอากาศเป็นพิษ ฝุ่นขี้เถ้า ทำลายระบบนิเวศฯ และความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจาก ป่าไม้ สัตว์ป่า ถูกเผาทำลาย ส่วนที่รอดชีวิตก็จะขาดแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหาร จนอดตายในที่สุด เกิดความแห้งแล้ง ผิวหน้าดินที่ถูกทำลายไม่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ และหากมีผนตกหนักก็อาจเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากตามมา เมื่อน้ำพัดหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไป ทำให้ดินเสื่อมสภาพ เพาะปลูกได้ยาก ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการฟื้นฟูอีกหลายปีกว่าจะกลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
ผลกระทบด้านสังคม จากผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนในพื้นที่ ขาดรายได้ ไร้ที่อยู่อาศัย การขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เกิดปัญหาชิงทรัพย์ ลักขโมยตามมา
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมทางธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ต้องหยุดชะงัก ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ทั้งพื้นที่เพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามก็ถูกทำลายลงไป ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง รัฐบาลต้องสูญเสียทั้งเวลาและงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ส่งผลต่อเศรษฐกิจในพื้นที่และโดยรวมของประเทศ
ผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากไทย ไฟป่าในปี้นี้ได้สร้างความเสียหายส่วนใหญ่ต่อทรัพย์สินและพื้นที่อยู่อาศัยเป็นหลัก โดยมีแคว้นที่ได้รับผลกระทบคือแคว้นโอฮิคกินส์ แคว้นเมาเลย์ แคว้นบิโอบิโอ และแคว้นลอสลาโกส โดยเมืองวัลปาริโซ ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงได้รับรางวัลเมืองมรดกโลก[3] จากองค์การ UNESCO ได้รับความเสียหายมากที่สุด มีบริษัทในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายกว่า 10 บริษัท รถยนต์เสียหายกว่า 100 คัน[4] แม้ในส่วนของท่าเรือเมืองวัลปาริโซจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ส่งผลทางอ้อมทำให้ท่าเรือต้องชะลอการดำเนินงานลง[5] อีกทั้งยังมีการประกาศเคอร์ฟิว ควบคุมเวลาการเข้าออกของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลต่อการดำเนินงาน ทำให้การขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า โดยสินค้าที่ชิลีนำเข้าจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 30[6] มีการนำเข้าผ่านท่าเรือนี้ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กระจายตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากท่าเรือ ซาน อันโตนิโอ้ ความเสียหายเบื้องต้นจากทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าประมาณหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ[7]
รัฐบาลชิลีได้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า โดยการดูแลผู้บาดเจ็บ การมอบอาหารและเครื่องนุ่งห่ม การสร้างศูนย์พักพิง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณฉุกเฉินช่วยเหลือในเบื้องต้น[8] ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถขอลงทะเบียนรับความช่วยเหลือได้จากกรมพัฒนาสังคมและครอบครัวหรือสำนักงานเทศบาลในพื้นที่ และแผนการดำเนินงานต่อไปเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ คือ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ ภาคส่วนต่าง ๆ และภาคเอกชนได้ร่วมบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่ง สคต.ฯ คาดว่าชิลีจะมีการนำเข้าสินค้าจำเป็นในการดำเนินการดังกล่าวเพิ่มขึ้น เช่น สินค้าอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง อาหารกระป๋อง เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น การนำเข้าอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างของชิลีล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2566 มีการหดตัวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.7%[9] เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในปี 2566 สินค้าสำคัญที่ชิลีนำเข้าจากไทย ในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ รถบรรทุก (พิกัดศุลกากรที่ 87) เครื่องจักรกล (พิกัดศุลกากรที่ 84) เหล็กกล้า (พิกัดศุลกากรที่ 73) ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ (พิกัดศุลกากรที่ 44) รวมทั้ง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ (พิกัดศุลกากรที่ 85)
จากสถานการณ์ไฟป่าและการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทำให้ชิลีจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น และสคต.ฯ คาดว่าความต้องการสินค้าดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และในประเทศชิลียังอยู่ในช่วงชะลอตัว ทั้งนี้ ผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าของชิลีให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นลำดับต้น และเลือกซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น
___________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กุมภาพันธ์ 2567
[1] https://yaleclimateconnections.org/2024/02/chiles-wildfire-death-toll-hits-123/
[2] https://www.unep.org/news-and-stories/press-release/number-wildfires-rise-50-2100-and-governments-are-not-prepared
[3] https://whc.unesco.org/en/list/959
[4] https://www.emol.com/noticias/Nacional/2024/02/04/1120625/empresas-afectadas-incendios-vina.html
[5] Puerto de Valparaíso baja ritmo a sus operaciones a causa de mega incendio forestal-urbano – PortalPortuario
[6] https://nowthatslogistics.com/fast-facts-what-you-need-to-know-about-chiles-port-of-valparaiso/
[7] https://www.msn.com/es-cl/noticias/chile/p%C3%A9rdidas-por-los-incendios-en-la-regi%C3%B3n-de-valpara%C3%ADso-alcanzan-los-1000-millones-de-d%C3%B3lares/ar-BB1hYitf
[8] https://larepublica.pe/datos-lr/chile/2024/02/07/bono-de-recuperacion-2024-para-damnificados-por-incendios-cuando-inicia-el-pago-y-cual-es-el-monto-lrtmc-649292
[9]https://si3.bcentral.cl/Siete/EN/Siete/Cuadro/CAP_IND_SEC/MN_IND_SEC20/IS_COM1/IS51?cbFechaInicio=2023&cbFechaTermino=2023&cbFrecuencia=MONTHLY&cbCalculo=YTYPCT&cbFechaBase=
[1] https://www.bssnews.net/international/172000
[2] https://edition.cnn.com/2024/02/03/climate/chile-wildfires-state-of-emergency-intl-hnk/index.html
[3] https://web.senapred.cl/resumen-nacional-de-incendios-forestales-70/
[4] https://www.msn.com/es-cl/noticias/chile/p%C3%A9rdidas-por-los-incendios-en-la-regi%C3%B3n-de-valpara%C3%ADso-alcanzan-los-1000-millones-de-d%C3%B3lares/ar-BB1hYitf
[5] https://chile.as.com/actualidad/por-que-los-bomberos-no-tienen-sueldo-en-chile-descubre-cuanto-dinero-ganan-y-como-recaudan-fondos-n/
[6] https://www.bomberos.cl/contenidos/home-noticias/convencion-constitucional-aprobo-reconocimiento-de-bomberos-como-organismo-del-estado-hito-marca-un-precedente-para-la-institucion-en-sus-170-anos