คลองสุเอซเป็นแหล่งรายได้เงินสกุลต่างชาติที่สำคัญของอียิปต์ โดยรายได้ของคลองสุเอซในอียิปต์ลดลงเกือบครึ่งในปีนี้ ภายหลังการโจมตีโดยกลุ่มฮูตีในเยเมน เพื่อประท้วงสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา กลุ่มฮูตีได้โจมตีเรือต่างๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทขนส่งชั้นนำหลีกเลี่ยงผ่านเส้นทางคลองสุเอซของอียิปต์โดยเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้แทน
ประธานาธิบดีอียิปต์ อับเดล-ฟัตตาห์ เอล-ซิซี กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างพิธีเปิดงาน Egypt Energy Show (EGYPES 2024) ครั้งที่ 7 ในกรุงไคโรว่า รายได้จากคลองสุเอซลดลงประมาณ 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และหัวหน้าหน่วยงานคลองสุเอซ (The Suez Canal Authority) กล่าวในแถลงการณ์ของสื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รายได้ของคลองลดลงเหลือ 428 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม 2567 เทียบกับ 804 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยการจราจรทางเรือในเส้นทางน้ำลดลงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น
การระบาดใหญ่ของโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านซูดาน และการโจมตีอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลในฉนวนกาซาที่มีพรมแดนติดกับอียิปต์ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอียิปต์ ซึ่งถูกรุมเร้าด้วยปัญหาสำคัญหลายประการ เช่น ภาวะขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐอย่างรุนแรง ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ภาระหนี้สาธารณะสูง
โดยแหล่งที่มาสำคัญของรายได้อียิปต์ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซ ภาคการท่องเที่ยว และการส่งเงินที่โอนโดยชาวอียิปต์ที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากเหตุการณ์ดังกล่าว
IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ สำหรับปี 2567 เหลือ 2.9% ลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์จากเดือนตุลาคม เนื่องจากผลกระทบจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส แนวโน้มการเติบโตของอียิปต์ในปี 2567 ลดลง 0.6% เหลือ 3.0% โดย IMF ยังคงติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการโจมตีคลองสุเอซและการขนส่งทางทะเลแดงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อเส้นทางการค้าเปลี่ยนจากคลองสุเอซไปยังแหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ เพิ่มเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างยุโรป-เอเชีย
ในขณะที่รัฐบาลยังคงดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเมืองหลวงใหม่ หนี้สาธารณะก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ผลักดันให้ค่าครองชีพอยู่นอกเหนือการเข้าถึงของคนจำนวนมาก ค่าเงินปอนด์อียิปต์ที่ร่วงลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ประกอบกับการขาดแคลนสกุลเงินต่างชาติที่จำเป็นในการชำระค่าสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลอียิปต์และธนาคารกลางอียิปต์ต้องเข้ามาควบคุมการอนุมัติโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศทุกรูปแบบ รวมทั้งการชำระค่าสินค้านำเข้าด้วย จึงส่งผลต่อการชำระค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด รวมถึงจากไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อียิปต์กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติในปี 2554 โดยมีค่าเงินที่อ่อนค่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และเงินทุนต่างชาติไหลออก สัญญาณทั้งหมดของวิกฤตหนี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวอียิปต์ รวมถึงความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการลดค่าเงินปอนด์อียิปต์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ตามสัญญาที่อียิปต์ให้ไว้กับ IMF เพื่อแลกกับเงินกู้ก้อนล่าสุดเมื่อปลายปี 2565 มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
____________________________________
ที่มา https://www.newarab.com/news/egypts-suez-canal-revenue-shrinks-almost-half