Copenhagen International Fashion Fair (CIFF) เป็นงานแสดงสินค้าเครื่องแต่งกายที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปเหนือ จัดขึ้นปีละสองครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 62 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม Bella Center ณ กรุงโคเปนเฮเกน
กลุ่มสินค้าที่จัดแสดงภายในงานประกอบด้วย 1) เครื่องแต่งกาย 2) รองเท้า 3) เครื่องประดับ 4) ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ 5) เครื่องสำอาง 6) สินค้าสำหรับแม่และเด็กอ่อน บนพื้นที่มากกว่า 26,000 ตร.ม. มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ามากกว่า 1,000 แบรนด์จากหลายประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดนอร์ดิก เช่น Aiayu, Rue de Tokyo, Les Deux, Envelope1965, J.Lindeberg, Holzweiler, Gestuz, Masai, Mos Mosh, Neo Noir, Numph, Moss Copenhagen, Lollys Laundry, Arkk Copenhagen, Bareen, Envii นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศเช่น Max Mara Group, Filson, Baracuta, Drykorn, Snowpeak, Harbison Studio, American Vintage และ Harrie Wharf London เป็นต้น ทั้งนี้ ในการจัดงานครั้งนี้มีผู้เข้าเยี่ยมชมงานมากกว่า 17,000 ราย
นอกจากการจัดแสดงสินค้าในงานแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาและ networking ทั้งในคูหาของผู้เข้าร่วมงานและเวทีส่วนกลาง เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และการเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของอุตสาหกรรม เช่นความสำคัญเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน B Corp และผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง การออกแบบเครื่องประดับด้วยวัสดุรีไซเคิล เป็นต้น
งานแสดงสินค้า CIFF นับเป็นเวทีสำหรับการสร้างเครือข่ายการค้า ค้นหาเทรนด์ใหม่ๆ และการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยโดดเด่นในด้านนวัตกรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการออกแบบที่ล้ำสมัย ทำให้มีการดึงดูดผู้ชมที่หลากหลายทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น ผู้ซื้อ และสื่อจากทั่วโลก และเป็นที่สังเกตุได้ว่า ในงานครั้งนี้ มีแบรนด์จากต่างประเทศเข้าร่วมเยอะขึ้นมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา
บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต.:
• จากการเยี่ยมชมงาน พบว่า แนวโน้มสำหรับสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายในงานเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืนในห่วงโซ่การผลิต เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัสดุที่ใช้ในการผลิต และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการ upcycling ซึ่งเป็นการนำวัตถุเหลือใช้มาทำให้เกิดสินค้าใหม่
• สินค้าประเภทเสื้อผ้าที่มีการใช้ผ้าฝ้าย ผ้าย้อม ผ้าพิม ผ้าริ้วสีจะมีสัญลักษณ์ OKEO-TEX กำกับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดสารเคมีที่อันตรายต่อร่างกาย
• ในปี 2566 เดนมาร์กนำเข้าสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมูลค่า 10,614 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.6 โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ 3 อันดับแรกได้แก่ เยอรมนี จีน และบังกลาเทศ ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 35 ของเดนมาร์ก มีมูลค่า 27.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.2 สินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เดนมาร์กนำเข้าจากไทย 3 อันดับแรกได้แก่ เสื้อคลุม สูท และแจ็กเก็ต
• สำหรับสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่มีโอกาสในตลาดเดนมาร์ก คือสินค้าที่มีความเรียบง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

thThai