ความคืบหน้าการทำความตกลงทางการค้าของสหราชอาณาจักรหลัง Brexit

ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) สหราชอาณาจักรได้บรรลุความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญแล้ว ดังนี้

ญี่ปุ่น – เมื่อปลายปี 2563 สหราชอาณาจักรได้ลงนามความตกลงทางการค้าเสรีที่สำคัญฉบับแรกของสหราชอาณาจักรหลัง Brexit ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้าระหว่างทั้งสองประเทศได้หลายพันล้านปอนด์ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกไปญี่ปุ่นในช่วงมกราคม – มิถุนายน 2565 ลดลงจาก 12,300 ล้านปอนด์ เป็น 11,900 ล้านปอนด์ จากช่วงเดียวกันของปี 2564

ออสเตรเลีย – สหราชอาณาจักรได้ลงนามความตกลงทางการค้าเสรีกับออสเตรเลียในเดือนธันวาคม 2564 โดยมีการยกเลิกภาษีสำหรับการส่งออกสินค้าเกือบทั้งหมดจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะปลดล็อกการค้าเพิ่มเติมเป็นมูลค่า 10,400 พันล้านปอนด์ภายในปี 2573 และยุติการเก็บภาษีสำหรับการส่งออกทั้งหมดจาก สหราชอาณาจักร โดยความตกลงการค้ากับออสเตรเลียเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566

นิวซีแลนด์ – สหราชอาณาจักรได้ลงนามความตกลงทางการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนข้อจำกัดด้านวีซ่าสำหรับการเดินทางและอยู่อาศัย ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 800 ล้านปอนด์ต่อปีภายในปี 2573 อย่างไรก็ดีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในสหราชอาณาจักรมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้าเนื้อสัตว์ที่มีการนำเข้าจากนิวซีแลนด์ที่ถูกกว่า โดยความตกลงการค้ากับออสเตรเลียเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) – การเข้าร่วม CPTPP ของสหราชอาณาจักรหมายความว่า ผลิตภัณฑ์ส่งออกต่างๆ สามารถซื้อขายได้โดยปลอดภาษีกับประเทศสมาชิก เช่น เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก แต่ไม่รวมถึงสหรัฐอเมริกา ข้อตกลงดังกล่าวได้รับความตกลงจากประเทศสมาชิกเมื่อเดือนมีนาคม 2566 โดยประเทศต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เป็นเอกภาพบางประการ เช่น มาตรฐานอาหาร อย่างไรก็ตาม ข้อตกลง CPTPP สามารถถูกแทนที่โดยข้อตกลงทางการค้าแต่ละฉบับกับบางประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สหราชอาณาจักรยังคงพยายามทำความตกลงโดยตรงกับประเทศสมาชิก เช่น แคนาดา จากการวิเคราะห์พบว่าการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่ม CPTPP คิดเป็นเพียงร้อยละ 8 ของการส่งออกของสหราชอาณาจักรในปี 2562 ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับเยอรมนีทั้งหมด

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรยังคงพยายามเจรจาความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่

สหรัฐอเมริกา – การเจรจากับสหรัฐฯ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งคาดว่ายังไม่สามารถบรรลุความตกลงได้ในเร็วนี้

อินเดีย – การเจรจาระหว่างอินเดียและสหราชอาณาจักรเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2565 โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่าความตกลงระหว่างอินเดียและสหราชอาณาจักรไม่น่าจะเป็นไปได้ก่อนการเลือกตั้งของอินเดียในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้

แคนาดา – การเจรจาเกี่ยวกับความตกลงทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและแคนาดาต้องหยุดชะงักลง ภายหลังจากที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องภาษีเนื้อวัวและชีส นอกจากนี้ แคนาดาต้องการผลักดันให้สหราชอาณาจักรผ่อนปรนการห้ามการนำเข้าเนื้อวัวที่ใช้ฮอร์โมน โดยการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและแคนาดามีมูลค่า 26,000 ล้านปอนด์ต่อปี

นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังมีการเจรจาความตกลงทางการค้ากับ อิสราเอล เม็กซิโก เกาหลีใต้ สภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย (the Gulf Cooperation Council) ซึ่งรวมถึงกาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถบรรลุความตกลงทางการค้ากับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 6 ของสหราชอาณาจักรสำหรับธุรกิจบริการได้ในเร็วนี้

ที่มา:  The Guardian และ Independent

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

นับตั้งแต่สหราชอาณาจักรได้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่เหลือซึ่งครอบคลุมร้อยละ 80 ของการค้าของสหราชอาณาจักรภายในสิ้นปี 2565 ในส่วนของไทยนั้นสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญจากการที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้ารายสำคัญในอาเซียนของ สหราชอาณาจักร โดยขณะนี้ไทยและสหราชอาณาจักรได้มีการจัดตั้ง Joint Economic and Trade Committee: JETCO ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อการขยายธุรกิจการค้าระหว่างกันอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน

thThai