วันที่ 1 มีนาคม 2567 เขตความร่วมมือเชิงลึกกวางตุ้ง-มาเก๊าในเหิงฉินได้เริ่มดำเนินการปิดด่านศุลกากรอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการเดินทางเข้า-ออกของประชาชน รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลสถิติการค้าระหว่างเหิงฉินและมาเก๊าให้มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เขตความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในมาเก๊าในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
ผลประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจ พลเมือง และนักท่องเที่ยวจะได้รับจากการปิดด่านศุลกากรเหิงฉิน มีดังนี้
- เอื้อต่อองค์กรธุรกิจทุกประเภทในการนำเข้าสินค้าปลอดภาษี
- เอื้อต่อองค์กรธุรกิจที่ต้องการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับใช้สอยเอง
- เอื้อต่อองค์กรธุรกิจที่ต้องการนำเข้าสินค้าชั่วคราวก่อนส่งออกอีกครั้ง
- ลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรในการเดินทางไปมาระหว่างเหิงฉินกับมาเก๊า
- เอื้อต่ออุตสาหกรรมการสร้างแบรนด์และองค์กรธุรกิจที่ดำเนินการผลิตของมาเก๊า
- เอื้อต่อพลเมืองมาเก๊าที่เดินทางไปมาระหว่างเหิงฉินกับมาเก๊า
- เอื้อต่อพลเมืองมาเก๊าที่เรียน ทำงาน ทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในเขตความร่วมมือ
- เอื้อต่อเหิงฉินและมาเก๊าในการร่วมมือกันส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ “แผนทั่วไปสำหรับการสร้างเขตความร่วมมือเชิงลึกกวางตุ้ง-มาเก๊าในเหิงฉิน” ได้มีการกำหนดพรมแดนระหว่างเหิงฉินกับมาเก๊า โดยมีช่องทางหลักคือด่านทางเข้าเมืองเหิงฉิน เป็น “แนวแรก” และกำหนดให้พรมแดนระหว่างเหิงฉินกับพื้นที่อื่น ๆ ภายในอาณาเขตสาธารณรัฐจีน โดยมีช่องทางดังนี้ สะพานเหิงฉิน อุโมงค์เหิงฉิน ทางผ่านเซินจิ่ง ท่าเรือเหิงฉิน สถานีเหิงฉินและสถานีฉางหลงบนส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟกวางโจว-จูไห่ อุโมงค์สือจื้อเหมิน รวมทั้งหมด 7 ช่องทาง เป็น “แนวที่สอง”
สำหรับ “แนวแรก” จะดำเนินการนโยบายเก็บภาษีแบบพิเศษ ผู้เดินทางที่เข้ามาในอาณาเขตครั้งแรกภายใน 15 วัน สัมภาระที่พกติดตัวซึ่งนำมาใช้สอยเองและอยู่ในขอบเขตปริมาณที่เหมาะสม จะได้รับการยกเว้นภาษี เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง อีกทั้ง สัมภาระที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งของที่กฎหมายและระเบียบการปกครองกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้รับการยกเว้นภาษี จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรอีกด้วย
ตารางที่ 1 ตารางแสดงโควตาการยกเว้นภาษีผู้เดินทางแต่ละประเภท
สถานะ | ความถี่ | โควตาการยกเว้นภาษี |
ผู้เดินทาง
(เช่น พลเมืองแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊าที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่) |
เข้าออกเขตพื้นที่ครั้งแรกภายใน 15 วัน | 8,000 หยวน |
เข้าออกเขตพื้นที่หลายครั้งภายใน 15 วัน | ของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางเท่านั้น | |
ผู้เดินทางที่มิใช่พลเมือง
(เช่น พลเมืองฮ่องกงและมาเก๊า ที่อาศัยอยู่นอกพรมแดน) |
เข้าออกเขตพื้นที่ครั้งแรกภายใน 15 วัน | 2,000 หยวน |
เข้าออกเขตพื้นที่หลายครั้งภายใน 15 วัน | ของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเดินทางเท่านั้น |
หากผู้เดินทางซึ่งเป็นพลเมืองแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊าที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่ เข้าออกเขตพื้นที่ครั้งแรกภายใน 15 วัน สามารถยกเว้นภาษีของปลอดภาษีซึ่งพกมาใช้สอยเอง ไม่เกิน 8,000 หยวน หากเกินจำนวนดังกล่าว จำเป็นต้องจ่ายภาษี ในทางกลับกัน หากผู้เดินทางซึ่งเป็นพลเมืองฯ เข้าออกเขตพื้นที่หลายครั้งภายใน 15 วัน ศุลกากรจะอนุญาตแค่ของจำเป็นสำหรับการเดินทางเท่านั้น ส่วนที่นอกเหนือจากความจำเป็นจะมีการเรียกเก็บภาษี
หากผู้เดินทางที่มิใช่พลเมืองเข้าออกเขตพื้นที่ครั้งแรกภายใน 15 วัน สามารถนำของปลอดภาษีที่พกมาใช้สอยเองไม่เกิน 2,000 หยวนเข้ามาได้ หากเกินจำนวนดังกล่าว จำเป็นต้องจ่ายภาษี ในทางกลับกัน หากผู้เดินทางที่มิใช่พลเมืองเข้าออกเขตพื้นที่หลายครั้งภายใน 15 วัน ของจำเป็นสำหรับการเดินทางเท่านั้นที่ไม่ต้องจ่ายภาษี นอกเหนือจากนั้นจะมีการเรียกเก็บภาษี
อย่างไรก็ตาม แม้มาเก๊าจะเป็นเมืองท่าปลอดภาษี แต่พื้นที่ภายในเขตความร่วมมือฯ นั้น ยังไม่มีการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี จะมีเพียงร้านค้าปลอดภาษีขาออกเท่านั้น ดังนั้น สิ่งของที่ซื้อขายอย่างถูกกฎหมายภายในเขตความร่วมมือฯ จะเป็นสินค้าที่จ่ายภาษีแล้ว ไม่รวมอยู่ในโควตายกเว้นภาษี 8,000 หรือ 2,000 หยวนดังกล่าว
หลังจากปิดด่านศุลกากร จะอนุญาตให้พลเมืองมาเก๊าที่เรียน ทำงาน ทำธุรกิจ และอาศัยอยู่ในเขตความร่วมมือฯ นำผลิตภัณฑ์จากสัตว์และพืชเข้ามาในเขตความร่วมมือฯ ได้ มีทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสุก น้ำนมจากสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ไข่สุกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไข่ ผักสด ผลไม้ เห็ดที่รับประทานได้ และไม้ตัดดอก ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนดสำหรับจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
ตารางที่ 2 ตารางแสดงขอบเขตและการจำกัดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จากสัตว์และพืช
ที่สามารถนำผ่านแดนโดยได้รับการยกเว้นภาษี
ประเภทผลิตภัณฑ์ | การจำกัดน้ำหนักผลิตภัณฑ์ต่อหนึ่งประเภท | การจำกัดน้ำหนักผลิตภัณฑ์โดยรวม | การจำกัดความถี่ | |
ผลิตภัณฑ์ประเภทสัตว์ | ประเภทเนื้อสุก (รวมเครื่องใน)
และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสุกอื่น ๆ |
ไม่เกิน 1 ก.ก. | ไม่เกิน 5 ก.ก. | จำกัด 1 ครั้ง/วัน/คน |
น้ำนมจากสัตว์และผลิตภัณฑ์นม
ที่มีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย |
ไม่เกิน 3 ก.ก. | |||
ไข่สุกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไข่อื่น ๆ | ไม่เกิน 1 ก.ก. | |||
ผลิตภัณฑ์ประเภทพืช | ผลไม้สด รวมถึงสลัดผลไม้สดที่ผ่านการแปรรูป
และมีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย |
ไม่เกิน 1 ก.ก. | ||
ผักสด รวมถึงสลัดผักสดที่ผ่านการแปรรูป
และมีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย |
ไม่เกิน 1 ก.ก. | |||
เห็ดสดที่รับประทานได้ รวมถึงสลัดเห็ดสดที่ผ่านการแปรรูปและมีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย | ไม่เกิน 1 ก.ก. | |||
กลุ่มไม้ตัดดอก | ไม่เกิน 1 ก.ก. |
นอกจากนี้ เมื่อนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในอาณาเขต (จำกัดเฉพาะแมวและสุนัข อนุญาตให้ 1 ตัว/ต่อ/ครั้ง) จำเป็นต้องสำแดงต่อศุลกากรและแสดงใบรับรองการตรวจโรคและใบรับรองการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ยังไม่หมดอายุซึ่งออกโดยองค์กรภาครัฐของมาเก๊า สัตว์เลี้ยงควรได้รับการฝังชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่หมดอายุการใช้งาน และหลังจากผ่านเกณฑ์การตรวจโรคของศุลกากรแล้ว สัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นการกักกันและอนุญาตให้เข้าอาณาเขตได้
ที่ปลายสะพานเหิงฉิน เมื่อรถยนต์ขนาดเล็กแล่นออกจากเขตความร่วมมือฯ ผ่านประตูด่านแรกของช่องทาง “แนวที่สอง” บนหน้าจอเหนือประตูจะแสดงข้อความ “โปรดไปยังสถานที่ตรวจสอบ” ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่เขตความร่วมมือฯ ดำเนินการเพื่อควบคุมดูแล “แนวที่สอง” ซึ่งไม่มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลที่เข้าออก ในส่วนของสัมภาระและสิ่งของจากเขตความร่วมมือที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านด่านโดยยกเว้นภาษี (สินค้าปลอดภาษี) ทางศุลกากรจะควบคุมดูแลและยกเว้นการเก็บภาษีตามระเบียบข้อบังคับ สำหรับสินค้าที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี จะไม่มีการควบคุมดูแล ดังนั้นผู้เดินทางที่ไม่ได้นำสินค้าปลอดภาษีออกจากพื้นที่ผ่าน “แนวที่สอง” ไม่จำเป็นต้องสำแดงต่อศุลกากร
ทั้งนี้ เขตความร่วมมือมีนโยบายยกเว้นภาษีสำหรับผู้ประกอบการ เช่น สินค้าที่ผ่านกระบวนการเพิ่มมูลค่า 30% ขึ้นไป ซึ่งประกอบด้วยวัสดุนำเข้า จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า เมื่อเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ผ่าน “แนวที่สอง” ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจการแปรรูปอัญมณี ซึ่งสามารถขยายการผลิตและแปรรูปไปยังเขตความร่วมมือ เพื่อลดต้นทุนด้านภาษีสำหรับการกระจายสินค้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ได้
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
การปิดด่านศุลกากรของเขตความร่วมมือเหิงฉินอย่างเป็นทางการ จะเอื้อประโยชน์ต่อหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนและความร่วมมือทางการค้า เช่น เขตความร่วมมือเหิงฉิน ได้ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสุก น้ำนมจากสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ไข่สุกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไข่ ผักสด ผลไม้ เห็ดที่รับประทานได้ และไม้ตัดดอก ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้สามารถพิจารณาหาคู่ค้าเพื่อกระจายสินค้าส่งออกเข้าสู่ตลาดในเขตความร่วมมือเหิงฉินและในมาเก๊าได้ จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในด้านภาษี และมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตก็สามารถส่งออกไปยังองค์กรธุรกิจที่มีแหล่งผลิตในเขตความร่วมมือเหิงฉินได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การปิดด่าศุลกากรของเขตความร่วมมือเหิงฉินนี้อาจดึงดูดผู้ประกอบการและนักลงทุนจากหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในสินค้าของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านคุณภาพ การตลาด หรือการสร้างเครือข่าย รวมถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรศึกษาความร่วมมือทางการค้าในเขตความร่วมมือเหิงฉิน เพื่อพัฒนาและต่อยอดความร่วมมือทางการค้า และขยายช่องทางการตลาดให้แก่สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน
ที่มา:
https://mp.weixin.qq.com/s/gvlYIHQGeI4K5YOWlZg6XQ (中国经济网)
https://mp.weixin.qq.com/s/PuHg6EwQDZp13UFAA3O5jg (南方新闻网)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1791302616272229068&wfr=spider&for=pc
ภาพ : https://www.southcn.com/
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว