1. ภาพรวมตลาดสินค้าน้ำผลไม้ในสิงคโปร์ปี 2566

ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าน้ำผลไม้ในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 2,750 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 3.4% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้าน้ำผลไม้ (ที่มีปริมาณน้ำผลไม้ 25-99%) อยู่ที่ 22.6 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลดลง -3.2% (YoY) น้ำผลไม้(ที่มีปริมาณน้ำผลไม้ไม่เกิน 24%) อยู่ที่ 16 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลดลง -3.5% (YoY) และน้ำผลไม้ 100% มูลค่าอยู่ที่ 13.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ลดลง -2.4% (YoY)  ในขณะที่ สินค้าน้ำมะพร้าวและน้ำจากพืชต่างๆ เพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มสินค้าน้ำผลไม้ โดยมีมูลค่า 7.2 เหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 0.7% (YoY)

  • แนวโน้มยอดขายน้ำผลไม้ยังคงติดลบ

ยอดขายสินค้าน้ำผลไม้ในตลาด Off-Trade[1] ลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากความกังวลระดับน้ำตาลในน้ำผลไม้ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นอย่าง Functional Drinks[2] และเครื่องดื่มพร้อมดื่มแบบน้ำตาลต่ำ

การติดฉลาก Nutri-Grade ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ซึ่งระบุปริมาณน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวต่อปริมาณเครื่องดื่มพร้อมดื่ม ซึ่งแต่ละแบรนด์ต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสของการแสดงค่าสารอาหาร และก่อให้เกิดมาตรฐานในอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีค่าน้ำตาลอยู่ที่ C และ D เนื่องจากปริมาณน้ำตาลสูงตามธรรมชาติในผลไม้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม ฉลาก Nutri-Grade สร้างความกังวลในกลุ่มผู้ปกครองเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพของบุตรหลานจากการบริโภคน้ำผลไม้ ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำผลไม้ลงอีก อย่างไรก็ดี มุมมองผู้บริโภคต่อน้ำผลไม้แบบ 100% ค่อนข้างดี และเป็นแง่บวก เพราะมีส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพ และมาจากธรรมชาติ ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการซื้อน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงแบบเดิมมาเป็นน้ำผลไม้ 100%

 

  • ราคาขายน้ำผลไม้ต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น จากการขาดแคลนผลไม้ทั่วโลก

ในปี 2566 ปัญหาขาดแคลนผลไม้ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะส้ม และปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ต้นทุนและภาพรวมราคาขายน้ำผลไม้สูงขึ้นต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้นในประวัติการณ์ที่ 5% ประเทศผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ต่างเผชิญความท้าทายในสภาพภูมิอากาศ เช่น สหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาโรคระบาด และพายุเฮอร์ริเคนที่ส่งผลต่อรัฐผู้ผลิตชั้นนำอย่างฟลอริดา บราซิล ที่มีปริมาณเก็บเกี่ยวลดลง และสเปน ที่เผชิญกับปัญหาซ้ำๆ อย่างภัยแล้ง น้ำท่วม และไฟป่าเป็นครั้งคราว สิงคโปร์พึ่งพาการนำเข้าน้ำผลไม้จากประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เช่น เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย จึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำส้ม แต่แนวโน้มจากทั่วโลกส่งผลกระทบในทางลบต่อการผลิตน้ำผลไม้ ส่งผลให้ผู้ผลิตจะต้องขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าปริมาณยอดขายสินค้าในตลาด Off-Trade ที่คาดว่าจะลดลงในปี 2566 แต่ปริมาณยอดขายสินค้าในตลาด On-Trade[3] ในการขายน้ำผลไม้ 100% และน้ำมะพร้าว/น้ำจากพืชต่างๆ ได้รับแรงส่งจากกระแสการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเพิ่มขึ้น จากการที่น้ำผลไม้ราคาสูงขึ้น ผู้ค้าปลีกของชำสิงคโปร์ได้ผลิตน้ำผลไม้กลุ่ม Private Label ในราคาที่ย่อมเยากว่า เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ได้เปิดตัวน้ำแอปเปิ้ลและน้ำส้ม 100% เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดจากการรับรู้เชิงบวกของผู้บริโภคต่อน้ำผลไม้100% โดยราคาขายปลีกของ FairPrice อยู่ที่ 2.40 เหรียญสิงคโปร์/ลิตร ในขณะที่ น้ำส้มของแบรนด์ Marigold อยู่ที่ 2.72 เหรียญสิงคโปร์/ลิตร และแบรนด์ Ceres อยู่ที่ 2.68 เหรียญสิงคโปร์/ลิตร

สินค้าน้ำผลไม้ในสิงคโปร์

  1. โอกาสทางการตลาดของสินค้าน้ำผลไม้ในสิงคโปร์
  • เทรนด์การดูแลสุขภาพได้ขับเคลื่อนนวัตกรรมในน้ำผลไม้

ในขณะที่แบรนด์น้ำผลไม้แบบดั้งเดิมมีผลประกอบการที่ลดลง จากความกังวลในเรื่องน้ำตาลของผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตน้ำผลไม้แบบฟังก์ชั่น (Function Juice)[4] มองเห็นโอกาสในการขยายกลุ่มสินค้าเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่องหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมวิตามิน  น้ำมะนาวของแบรนด์ New Moon ซึ่งมีวิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับมะนาว 47 ผล ได้วางจำหน่ายในร้าน 7-Eleven บางสาขา ซึ่งคล้ายกับเครื่องดื่มวิตามินเพื่อสุขภาพ YOU C1000 และ C-Vitt ซึ่งเน้นคุณค่าทางโภชนาการว่าให้วิตามินซีสูงถึง 200% ของปริมาณวิตามินซีที่แนะนำต่อวันเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ที่คุ้นเคยและดึงดูดผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง

น้ำมะพร้าวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพในการให้ความชุ่มชื้น แบรนด์ Cocomax ได้เปิดตัวน้ำมะพร้าวชนิดใหม่ปราศจากน้ำตาลและสารกันบูดผสมสีธรรมชาติจากดอกอัญชัน นอกจากนี้ สารสกัดจากเกาหลีได้รับความสนใจมากขึ้น เครื่องดื่มสกัดจาก Omija ซึ่งเป็นชาเกาหลีแบบดั้งเดิมที่ทำจากผลเบอร์รี่
แมกโนเลียแห้ง ซึ่งมีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระและชะลอวัย และสะท้อนถึงความสนใจของผู้บริโภคในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น

  • การใช้นวัตกรรมในสินค้าและขยายความร่วมมือของแบรนด์เพื่อปรับภาพลักษณ์ที่ทันสมัย

เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และมองหาวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ลดลงไป ถึงแม้ว่าหลายๆ แบรนด์จะมีการปรับเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆ ที่มีน้ำตาลลดลง หรือปราศจากน้ำตาล แต่แบรนด์ต้องมองหาวิธีอื่นในการเอาชนะใจผู้บริโภค เช่น การนำแบรนด์ไปร่วมกับสถานประกอบการด้านอาหาร เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้แบรนด์ในตลาด และสร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้น เช่น แบรนด์ Ribena ร่วมมือกับสถานประกอบการชานมไข่มุก KOI ในเดือนธันวาคม 2566 ในการร่วมสร้างสรรค์เครื่องดื่มอันเป็นเอกลักษณ์อย่าง ชาเขียวนม Ribena ชาดำ Ribena และชาเขียว Ribena มัคคิอาโต้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์กับคนรุ่นใหม่ และปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมชานมไข่มุก นอกจากนี้ Ribena ยังได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์นอกเหนือจากเครื่องดื่มน้ำผลไม้อีกด้วยการเข้าสู่ตลาดของว่างเพื่อสุขภาพ โดยในเดือนสิงหาคม 2565 บริษัทได้นำเสนอนวัตกรรมเครื่องดื่มเยลลี่ (Ribena Jelly Drink) เครื่องดื่มเยลลี่รสแบล็คเคอแรนท์ผสมวิตามินซีที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน 100% และได้ขยายสินค้าเพิ่มออกมาเป็นเครื่องดื่มเยลลี่รสน้ำแบล็คเคอแรนท์และรสพีช ในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้บริโภคอายุน้อย ด้วยเนื้อสัมผัสที่เคี้ยวหนึบ นอกจากนี้ แบรนด์ Sunkist ได้เปิดตัวไอศกรีมส้มตัวใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีวิตามินซี 39.6 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพื่อดึงดูดผู้บริโภคสามารถรับประทานของหวานกลุ่มไอศกรีม พร้อมกับได้รับวิตามิน

  • การมุ่งเน้นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มการเติบโตในเชิงปริมาณ

ถึงแม้ว่าน้ำส้มจะเป็นน้ำผลไม้ที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด แต่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์เริ่มสนใจน้ำผลไม้รสชาติแปลกใหม่มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมน้ำผลไม้ต่างๆ แนวโน้มดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดทั้งช่องทาง Off-Trade และ On-Trade เช่น แบรนด์น้ำผลไม้ออร์แกนิกของสิงคโปร์ WOLF+WALD ได้เปิดตัวน้ำผลไม้แบบอัดแก๊ส และไม่อัดแก๊ส กลิ่นทาร์ตเชอร์รี่ รสชาติ Aronia และ Elderberry จากเยอรมัน รสชาติเฉพาะเหล่านี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับการใช้เป็นเครื่องดื่มผสมค็อกเทลแบบไม่มีแอลกอฮอล์ในบาร์หรู จึงเป็นการขยายโอกาสตลาดการบริโภคน้ำผลไม้ให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากการบริโภคในตอนเช้า หรือสำหรับล้างพิษแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การพัฒนาและการออกแบบบรรจุภัณฑ์สีสดใส ที่มีลักษณะคล้ายขวดไวน์ ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการให้เป็นของขวัญ และยังเป็นทางเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ นอกเหนือจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แบรนด์สมูธตี้ชื่อดังของสหรัฐฯ Jamba Juice ได้เข้ามาเปิดตัวในสิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน 2566 โดยเครื่องดื่มสมูธตี้แต่ละแก้วสามารถปรับแต่งเลือกเพิ่มได้ตามแต่ผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็น วิตามิน เมล็ดเจีย โปรตีนถั่วเหลือง คอลลาเจน หรือผงเคล ได้ในราคา 1 เหรียญสิงคโปร์

 

  1. แบรนด์น้ำผลไม้ในสิงคโปร์

ในปี 2565 Peel Fresh ยังคงครองส่วนแบ่งหลักในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 20.8% ตามมาด้วย Fruit Tree Fresh (9.4%) Pokka, Marigold (ประมาณ 7%) และ Sunkist,Ribena (5%)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

          ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำผลไม้รายใหญ่ของโลก การส่งออกน้ำผลไม้เป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะส่งสินค้าเข้ามายังสิงคโปร์ควรศึกษาแนวโน้มตลาด เช่น ชาวสิงคโปร์เริ่มนิยมน้ำผลไม้ 100% น้ำมะพร้าว หรือน้ำที่มีการเพิ่มส่วนผสมของวิตามินและพรีไบโอติก (Functional Drinks) เพื่อดูแลสุขภาพ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ฉลาก Nutri-Grade เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งศึกษากฎระเบียบ/ข้อบังคับต่างๆ ของประเทศนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ //มีนาคม 2567

 

ที่มาข้อมูล : Euromonitor

 

[1] ตลาด Off-Trade  คือการจำหน่ายเครื่องดื่มในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ  ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ไม่สามารถบริโภคได้ในทันที

[2] Functional Drinks คือเครื่องดื่มที่มีการเติมส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น สารทดแทนน้ำตาล/พรีไบโอติก/เส้นใยอาหาร เป็นต้น

[3] ตลาด On trade คือการจําหน่ายสินค้าผ่านธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม ร้านกาแฟและบาร์ เป็นต้น

[4] เครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drinks) คือ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีการเติมสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเพิ่มเติมเข้าไปจากการกินดื่มในแต่ละวัน

thThai