ผู้นำเข้าชาวอียิปต์เชื่อว่า “เศรษฐกิจอียิปต์เริ่มปรับตัวดีขึ้น” พร้อมเร่งการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงไคโร ได้จัดทำแบบสำรวจการรับรู้ (Perception Survey) ต่อสภาวะเศรษฐกิจอียิปต์ในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เข้าใจเศรษฐกิจอียิปต์ สภาพการค้าระหว่างไทยและอียิปต์ และปัญหา/อุปสรรค จากมุมมองของผู้นำเข้าชาวอียิปต์ที่นำเข้าสินค้าจากไทยเป็นจำนวนมาก ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๖๗ รวม ๒๐ ราย จาก ๔ สาขา ได้แก่ อาหาร (๑๕ ราย) ส่วนประกอบยานยนต์ (๓ ราย) ไม้แปรรูป (๑ ราย) และยาและเครื่องมือแพทย์       (๑ ราย)  โดยผลการสำรวจดังกล่าวสรุปได้ ดังนี้

๑. ภาพรวมเศรษฐกิจอียิปต์และการค้าระหว่างประเทศ

๑.๑ การพิจารณาอนุมัติโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการชำระค่าสินค้านำเข้า ผู้นำเข้าอียิปต์ทั้งหมดเห็นว่า การพิจารณาอนุมัติโอนชำระค่าสินค้ามีความรวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนเกือบจะไม่มีความล่าช้า  ทั้งนี้ สคต. ณ กรุงไคโร ได้ประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์อียิปต์ทราบว่า ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์อียิปต์สามารถพิจารณาโอนเงินระหว่างประเทศได้เอง โดยไม่ต้องผ่านธนาคารกลางอียิปต์เหมือนในช่วง ๑-๒ ปี ที่ผ่านมา ทำให้สามารถพิจารณาโอนเงินได้ทันที

๑.๒ ภาวะเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า ผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่เห็นว่า เงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ ๔๕-๕๐ ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก ๓๐.๘๕ ปอนด์อียิปต์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนมกราคม ๒๕๖๗ ประกอบกับค่าขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้น (ผลกระทบจากเหตุการณ์ในทะเลแดง) ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น จึงต้องการนำเข้าสินค้าคุณภาพที่มีราคาค่อนข้างต่ำเพื่อให้สามารถแข่งขันกับสินค้าท้องถิ่นและสินค้านำเข้าจากยุโรปได้

๑.๓ นโยบายส่งเสริมการผลิตในประเทศของรัฐบาลอียิปต์ (ลดนำเข้า-เพิ่มส่งออก) ผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่เห็นว่า ในระยะสั้น นโยบายดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าของตน แต่จะต้องพิจารณาในระยะยาวต่อไปว่า จะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการนำเข้าสินค้าไปสู่สินค้าวัตถุดิบมากขึ้น หรือจำเป็นต้องตั้งฐานการผลิตภายในประเทศต่อไป หรือไม่  ทั้งนี้ รัฐบาลอียิปต์ได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนจากต่างประเทศลงและให้สิทธิเพิ่มขึ้น เช่น การยกเว้นภาษี การให้สิทธิถือครองที่ดิน และการจดทะเบียนเป็นบริษัทต่างด้าวได้ ๑๐๐% ในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้การส่งเสริม จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ในอนาคตจะมีสินค้าที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น

๒. การค้าระหว่างไทยและอียิปต์

๒.๑ ภาพรวม ผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่เห็นว่า ปัจจุบัน ปัญหาการพิจารณาอนุมัติโอนเงินระหว่างประเทศล่าช้า อันเกิดจากภาวะขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐอย่างรุนแรง ได้ปรับตัวดีขึ้นแล้ว และยังไม่พบปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศกับไทย โดยผู้นำเข้าอียิปต์ยังสนใจที่จะเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ในช่วง ๑-๓ เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะ (๑) สินค้าเดิมที่เป็นที่รู้จักในตลาดอียิปต์ แต่สต๊อกลดลงหรือขาดตลาด โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และสินค้าอาหาร และ (๒) สินค้าใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น  ทั้งนี้ สินค้าที่เหมาะสมจะต้องมีอายุอย่างน้อย ๑.๕ ปี เนื่องจากจะทำให้มีระยะเวลาในการขนส่งทั้งภายในและระหว่างประเทศและระยะเวลาในการวางจำหน่ายมากขึ้น

๒.๒ การชำระเงิน ผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่นิยมการชำระเงินค่าสินค้านำเข้าแบบ T/T และ Cash against Documents (CAD) เนื่องจากมีความสะดวกมากกว่าการเปิด L/C และปัจจุบัน อียิปต์ไม่มีข้อบังคับให้ต้องเปิด L/C เหมือนเมื่อปี ๒๕๖๕ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนดอลลาร์สหรัฐรุนแรง อีกแล้ว

๒.๓ รูปแบบการเจรจาธุรกิจ ผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วมการจับคู่เจรจาธุรกิจ
ในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching: OBM) เนื่องจากประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ยังพบอุปสรรคต่อ OBM อันเกิดจากปัจจัยภายในของอียิปต์ เช่น ไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง และสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร จึงเห็นควรจัดการเจรจาธุรกิจแบบกายภาพในโอกาสที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

๓. งานแสดงสินค้าที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัด ผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่สนใจงาน THAIFEX-Anuga มากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าเป้าหมาย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ได้พบกับผู้ส่งออกไทยและพัฒนาเครือข่ายธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังจะเดินทางไปเข้าร่วมทุกปี หากไม่ตรงกับงานแสดงสินค้าสำคัญในภูมิภาคและช่วงรอมฎอน

 

๔. ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น

๔.๑ สภาพเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของอียิปต์ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่
เกิดจากเม็ดเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไหลเข้าอียิปต์ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๗ ในรูปของเงินกู้ เงินช่วยเหลือ และกาขายกิจการภาครัฐ ซึ่งทำให้อียิปต์มีเงินเพียงพอสำหรับการโอนจ่ายค่าสินค้านำเข้าและปล่อยสินค้าที่ติดอยู่ที่ท่าเรือได้ทั้งหมด ประกาศลอยตัวค่าเงินปอนด์อียิปต์ตามสัญญาที่ให้ไว้กับ IMF และส่งคืนหนี้ที่ถึงกำหนดต้องชำระ

๔.๒ อย่างไรก็ดี สคต. ณ กรุงไคโร เห็นว่า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ของอียิปต์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในระยะกลางและระยะยาว ว่าอียิปต์จะสามารถฟื้นฟูรัฐอียิปต์ให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออียิปต์ทั้งโดยตรงและอ้อม เช่น ภาวะสงครามในอิสราเอลและสถานการณ์ในทะเลแดงส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านคลองสุเอซ สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคา wheat ที่อียิปต์นำเข้าในปริมาณสูง อัตราเงินเฟ้ออียิปต์ที่อยู่ในระดับสูง (มากกว่า ๓๐%) ค่าเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า และภาระหนี้สาธารณะสูง (กว่า ๙๐% ของจีดีพี) เป็นต้น  ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกไทยควรต้องพิจารณาทำการค้าด้วยความรอบคอบต่อไป โดยควรพิจารณาเปิด L/C เรียกเก็บค่ามัดจำเต็มจำนวนหรือมากที่สุด และทำประกันการส่งออก เพื่อประเมินสภาพคล่องของผู้นำเข้า หลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำของปัญหาการชำระเงินล่าช้า และรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

____________________________________

 

thThai