กระแสวายของไทยในตลาดจีน

มาภาพ: https://www.gqthailand.com/culture/article/series-y-soft-power

 

วาย (Y) ย่อมาจาก YAOI จากภาษาญี่ปุ่น เป็นคำที่ใช้นิยามสื่อในวงการภาพยนตร์ นิยาย และการ์ตูน หมายถึง อยากจะชอบใคร หรือจับคู่ใครกับใครตามใจตัวเอง โดยไม่ต้องหาเหตุผลเพื่อมารองรับ ซึ่งเนื้อหาในซีรีส์จะเป็นเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย ที่มักเรียกกันว่าแนว Boy’s Love (BL)

 

ซีรีส์วายมักจะปรากฏองค์ประกอบคล้ายคลึงกับซีรีส์ทั่วไป เช่น ใช้ความรักในวัยเรียนหรือวัยทำงานเป็นเป็นฉากการดำเนินเรื่อง และวางโครงเรื่องที่อาศัยจุดเริ่มต้น การสร้างปมขัดแย้ง ก่อนจะส่งท้ายด้วยบทสรุปอันตราตรึง ซึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอกในซีรีส์นี้ก็เป็นต้นกำเนิดให้กับนิยามว่า “คู่จิ้น” มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า Imagine หมายถึงการจินตนาการถึง 2 บุคคลที่ดูสนิทสนม เมื่อใช้เวลาอยู่ร่วมกันก็ดูน่ารักและดูมีความสุขทำให้เหล่าแฟนคลับอยากให้ทั้งคู่คบกันจริง ๆ

 

โดยซีรีส์วายมักใช้ความรักระหว่างชายหนุ่มเป็นพื้นฐานในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะผู้ชายที่นิยามตัวเองว่าชอบเพศหญิง แต่กลับมาตกหลุมรักผู้ชายซึ่งเป็นเพศเดียวกัน และต้องเป็นผู้ชายคนนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะอีกฝ่ายเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำให้ต้องพยายามก้าวข้ามกรอบสังคมและรสนิยมทางเพศที่เคยชอบผู้หญิงมาตลอดชีวิต ทำให้ผู้อ่านและผู้ชมคอยเอาใจช่วยให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและกรอบความคิดของสังคมและรักกันได้

 

ซีรีส์วายมีจุดเริ่มต้นมาจากนิยายและการ์ตูนประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะขยายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยและประเทศจีน โดยเริ่มสู่ประเทศจีนในช่วงปี 90 มีชื่อเรียกเนื้อหาแนว Boy’s Love เป็นภาษาจีนว่าตันเหม่ย (耽美) ซึ่งนิยายวายเรื่องแรกที่ถูกตีพิมพ์ในจีนคือ Danmei Season ในปี 1999 จนกระทั่งอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามา จึงเกิดคอมมูนิตี้ออนไลน์ของสาววายชาวจีนในหลายกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันจีนมีสื่อบันเทิงแนวชายรักชายหลากหลายรูปแบบ ทั้งนิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน และซีรีส์

โดยในช่วงแรก ทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน นิยายและซีรีส์วายไม่เป็นที่ยอมรับ ถูกประนามว่าสื่อประเภทนี้ทำให้สังคมเสื่อมทราม และถูกห้ามวางขายหรือออกอากาศในสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ กลุ่มสาววายในช่วงแรกจึงต้องแอบซื้อขายนิยายและซีรีส์วายกันในที่ลับตา

 

การพัฒนาของการยอมรับเพศทางเลือกและซีรีส์วายไทย

แต่เมื่อสังคมไทยเริ่มเปิดกว้างและยอมรับรสนิยมทางเพศที่หลากหลายได้มากขึ้น ทำให้มีสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับวายเรื่องมีมากขึ้น เช่น แกงค์ชะนีกับอีแอบ รักแห่งสยาม อนธการ และมะนิลา เป็นต้น แม้ในช่วงแรกจะยังมีการไม่ยอมรับจากคนบางกลุ่ม มีทั้งกลุ่มคนที่ชื่นชอบและกลุ่มคนที่ไม่ชอบ ในยุคนั้นยังมีการแสดงความกดทับและแบ่งแยกกลุ่มชาว LGBTQ อยู่ แต่ชาวไทยเริ่มรู้จักและเข้าใจนิยามของเพศทางเลือกที่มากขึ้น

 

และเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป  สื่อบันเทิงแนว Boy’s love ก็กลายเป็นหนึ่งในกระแสหลัก นิยายวายสามารถวางขายได้ตามอินเทอร์เน็ตและร้านหนังสือ และซีรีส์วายสามารถฉายได้อย่างเปิดเผย ช่องโทรทัศน์รายใหญ่หันมาผลิตซีรีส์วายเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคในตลาดวายซึ่งเป็นตลาดใหญ่อีกตลาดหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิง ยกตัวอย่างในปี 2563 ซีรีส์วายเรื่อง “เพราะเราคู่กัน” สร้างปรากฏการณ์กวาดรายได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ไปมากกว่า 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าซีรีส์วายไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งกลุ่มผู้ชมชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ ผู้ชมจากประเทศจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีส์วาย และนอกจากนี้ “เพราะเราคู่กัน” และ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ยังได้รับรางวัล Weibo TV Series Awards 2020 สาขา “ซีรีส์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูงสุด” อีกด้วย

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.gqthailand.com/culture/movie/article/series-y-soft-power

 

 

ซีรีส์วายของไทยที่ดัง

ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์ซีรีส์วาย โดยกระแสซีรีส์วายของไทยในประเทศจีนเริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง “รักแห่งสยาม” ในปี 2550 ซึ่งโด่งดังและถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก และเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนที่ชอบรับชมแนว Boy’s Love ในระดับนานาชาติ รวมทั้งในประเทศจีนด้วย ผู้ชมชาวจีนบางส่วนจึงเริ่มเปิดใจให้กับภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้นักแสดงนำและวงดนตรีประกอบมีชื่อเสียง และได้ร่วมงานภายในประเทศจีนมากมาย ทว่ากระแสก็ค่อย ๆ ซาลงเนื่องจากในช่วงนั้นเองภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยไม่ได้มีจำนวนมากนัก จนกระทั่งในปี 2556 ซีรีส์เรื่อง “Hormones วัยว้าวุ้น” เป็นที่พูดถึงในกลุ่มผู้ชมชาวจีน จุดกระแสความชื่นชอบซีรีส์ของไทยและคู่จิ้นชาย-ชายให้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง เช่น คู่ชายรักชายของภูและธีร์ซึ่งเป็นคู่รองในซีรีส์เรื่องนี้

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://thestandard.co/love-of-siam/

 

Hormones จึงเป็นซีรีส์อีกหนึ่งเรื่องที่สร้างแรงกระตุ้นครั้งสำคัญให้กับวงการบันเทิงไทย เพราะนอกจากมีคู่ชายรักชายของภูและธีร์แล้ว ก็ยังมีคู่หญิงรักหญิงอย่างดาวกับก้อยอีกด้วย ดังนั้นซีรีส์เรื่องนี้จึงเป็นซีรีส์เรื่องแรก ๆ ที่นำเสนอมุมความรักของชาว LGBTQ+ ในมุมมองใหม่ ๆ ที่ในวงการบันเทิงไทยไม่ค่อยได้นำเสนอ เช่นความสับสน การยอมรับในตัวเอง การเปิดเผยกับคนรอบข้าง การถูกต่อต้าน เป็นต้น

 

หลังจากที่เริ่มมีประแสคู่จิ้นชายรักชายแล้ว ทางผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์เล็งเห็นช่องทางในการสร้างกำไรจากกระแสดังกล่าว ทำให้ละครและซีรีส์ของไทยเริ่มผลักดันคู่ชายรักชายที่เป็นเพียงคู่รองในเรื่อง ให้กลายเป็นคู่หลัก โดยซีรีส์วายไทยเรื่องแรกที่ตีตลาดจีนสำเร็จ คือเรื่อง “Love sick the series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ (为爱所困)” ในปี 2557 เป็นการเปิดตลาดกลุ่มสาวชาวจีนที่ชื่นชอบซีรีส์วายของไทย และส่งผลให้ซีรีส์เรื่องต่อ ๆ มาได้รับความนิยมไปตาม ๆ กัน ซึ่งซีรีส์วายที่เป็นกระแสโด่งดังและถูกพูดถึงในกลุ่มชาวจีน ได้แก่ “Make it right the series รักออกเดิน (爱来了别错过)” “Sotus พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (一年生)” “2Moons The Series เดือนเกี้ยวเดือน (逐月之月)” “TharnType เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ (与爱同居)” “Love by Chance (不期而爱)” และ “อกหักมารักกับผม (醉后爱上你)”เป็นต้น

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.gqthailand.com/culture/movie/article/series-y-soft-power

 

อุตสาหกรรมวายช่วยให้คนในสังคมเริ่มคุ้นชินกับกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกกระบอกเสียงในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ทว่าการผลิตซีรีส์วายในช่วงแรกต้องประสบกับอุปสรรคหลากหลาย ยกตัวอย่างจากซีรีส์วายที่กล่าวในข้างต้น จะพบว่าซีรีส์วายในช่วงแรกมักถูกสร้างด้วยงบจำกัดเนื่องจากตลาดกลุ่มผู้ชมยังไม่มากเท่าปัจจุบัน แม้นักแสดงจะหน้าตาดี แต่ก็ยังเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่มีประสบการณ์การแสดงไม่มากนัก อีกทั้งเนื้อเรื่องยังเน้นรักในวัยเรียนหรือรักในมหาวิทยาลัย ยังมีเนื้อเรื่องไม่หลากหลาย ทางผู้ผลิตจึงมีการปรับตัว เริ่มสรรหาเนื้อเรื่องที่แปลกใหม่ และใช้งบลงทุนที่มากขึ้นเนื่องจากได้รับความร่วมมือจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ และสามารถขายลิขสิทธิ์ให้ต่างประเทศได้ ทำให้ซีรีส์วายของไทยมี Production ที่ดี มีเนื้อหาที่หลากหลาย สามารถเพิ่มฐานคนดู และสร้างกระแสซีรีส์วายให้กลับมาได้อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น “ด้ายแดง (待到重逢时)” ที่เล่าเรื่องความรักข้ามชาติ “ทฤษฎีจีบเธอ (爱情理论)” เล่าชีวิตของเด็กมหาลัยที่กำลังศึกษาในสาขาเอกภาพยนตร์ “เพราะเราคู่กัน (假偶天成)” เป็นเรื่องราวคนหนุ่มป็อบนักดนตรีในรั้วมหาลัย ผ่านมุมมองแนวสนุกสนานแบบ surreal “แปลรักฉันด้วยใจเธอ (以你的心诠释我的爱)” เล่าเรื่องเด็กเชื้อสายจีนวัยม.6 ในเมืองภูเก็ต ที่ต้องต่อสู้กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อค้นหาตัวเอง “พฤติการณ์ที่ตาย (亡者之谜)” แพทย์นิติเวชที่พยายามหาตัวฆาตกรฆ่าเพื่อนของตนเอง “นิทานพันดาว (千星传说)” เป็นเรื่องราวของคนที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจและใช้ชีวิตแทนเจ้าของหัวใจที่มอบให้ตนเอง และ “คุณหมีปาฏิหาริย์ (奇迹熊先生)” หมีที่กลายมาเป็นคนและต้องผจญภัยในโลกใหม่ที่ตนเองไม่เคยเจอ เป็นต้น อีกทั้ง ซีรีส์ต่าง ๆ เริ่มพูดถึงประเด็นในสังคมเกี่ยวกับ LGBTQ+ มากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่เปิดกว้าง เช่น เรื่อง “Not Me เขา…ไม่ใช่ผม (他…不是我)” ที่กล่าวถึงประเด็นการเรียกร้องสมรสเท่าเทียม เป็นต้น

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://drama.kapook.com/view234333.html

 

แม้ว่าจะซีรีส์วายของไทยจะได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมชาวจีนเป็นอย่างมากบนช่องทางออนไลน์ แต่เนื่องจากการแปลบทพูดเป็นคำบรรยายในช่องทางที่ถูกลิขสิทธิ์ต้องอาศัยเวลา ผู้ชมส่วนมากจึงเลือกรับชมซีรีส์อย่างผิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มของกลุ่มแปลซับ ซึ่งเป็นกลุ่มที่แปลบทพูดต้นฉบับของซีรีส์เป็นคำบรรยายภาษาของแต่ละท้องถิ่นนั้น ๆ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาต ค่ายผู้สร้างซีรีส์ของไทยจึงไม่ได้รับผลประกอบตามที่สมควรได้ จนกระทั่งเกิดการปรับปรุงในกลยุทธ์ทางการตลาด โดยใช้วิธีการขายลิขสิทธิ์แบบ Simulcast เป็นการนำซีรีส์ออกกาศผ่านช่องทางโทรทัศน์ควบคู่กับฉายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว หรืออัพโหลดซีรีส์บนแพลตฟอร์ม YouTube ผ่านช่องที่ผู้สร้างตั้งขึ้น ซึ่งทุกช่องทางจะเพิ่มคำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้ชมชาวต่างชาติเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์และจุดกระแสบนโซเชี่ยลมีเดียให้เป็นที่พูดถึง ทำให้กลุ่มแปลซับต่าง ๆ ค่อย ๆ หายไปตามลำดับ ทว่าวิธีนี้จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการเตรียมตัวหากขายสำหรับบริษัทจีนที่ถือลิขสิทธิ์ เพราะต้องเผื่อเวลา 3 เดือนเพื่อขอการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์ประเทศจีน

 

กระแสคู่จิ้น

ความนิยมของภาพยนตร์หรือซีรีส์วาย ยังได้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่นักแสดงหลักทั้งสองคนในเรื่องนั้น ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยผู้ชมจะเรียกนักแสดงทั้งสองว่า “คู่จิ้น” ซึ่งมีคู่จิ้นไทยมากมายที่โด่งดังออกไปต่างประเทศ รวมถึงที่ประเทศจีนด้วย เช่น บิ้วกิ้น-พีพี ไบร์ท-วิน หยิ่น-วอร์ มิว-กลัฟ ออฟ-กัน คริส-สิงโต เป็นต้น นอกจากนี้ ชื่อเสียงของคู่จิ้นที่กล่าวมาข้างต้น ก็ช่วยให้นักแสดงได้ออกงานในต่างประเทศอยู่หลายครั้ง อาทิ คู่ ‘คริสกับสิงโต ปราชญา’ จากเรื่อง ‘พี่ว๊ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง’ ที่มีการจัดงานมีตติ้งในประเทศจีนถึง 6 ครั้ง นอกจากนี้ แฟนคลับชาวจีนของสิงโตยังได้ซื้อดาวและตั้งชื่อว่า ‘Singto Prachaya Ruangroj’  หรืออีกคู่หนึ่ง คือ ‘บิวกิ้น-พีพี’ ที่ได้ขึ้นโชว์เวที ซัมเมอร์ โซนิก เทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ในต่างประเทศ รวมถึงเป็นพรีเซนเตอร์ให้แบรนด์ต่างๆจำนวนมาก

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://www.sanook.com/movie/112445/gallery/931209/

 

สาเหตุที่ซีรีส์วายโด่งดังในประเทศจีนนั้นเกิดจากหลายปัจจัย

  1. มีเนื้อหาที่ไม่รุนแรง โดยซีรีส์ส่วนใหญ่เน้นเล่าเรื่องในวัยเรียน ทำให้เรื่องราวมีความสดใสแบบเด็กวัยรุ่น
  2. เนื้อเรื่องมักสะท้อนถึงปัญหาความรักของชายรักชายที่ต้องก้าวข้ามผ่านการยอมรับจากครอบครัวและสังคมไทย ซึ่งคล้ายกับปัญหาของกลุ่มคนรักร่วมเพศในประเทศจีน ทำให้ชาวจีนที่ประสบปัญหาเดียวกันเกิดความเข้าใจและเห็นใจตัวละคร แม้ว่าปัญหาที่เกิดในไทยยังคงไม่หนักและรุนแรงเท่าในประเทศจีน แต่บทสรุปที่ดีในซีรีส์แต่ละก็ช่วยให้ผู้ชมรู้สึกเอิบอิ่มใจ และเพลิดเพลินไปกับเรื่องราว
  3. เนื้อเรื่องมักเล่าเรื่องตัวละครในวัยมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ผู้ชมในวัยเรียนซึ่งเป็นแฟนคลับฐานหลัก จึงสามารถเข้าถึงตัวละครได้ง่าย
  4. เนื้อเรื่องมีความหลากหลาย และมีประเด็นที่ไม่สามารถพบเจอได้ในสังคมหรือซีรีส์ของจีน เช่น การรับน้อง คนเชื้อสายจีน การรักข้ามภพข้ามชาติ เป็นต้น
  5. นักแสดงหน้าตาดี เนื่องจากละครและซีรีส์ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องรูปลักษณ์ของนักแสดง รวมไปถึงบุคลิกที่ร่าเริง สดใส และเข้าถึงง่าย ทำให้สามารถซื้อใจแฟนคลับจากต่างประเทศได้ไม่ยาก
  6. ผู้ผลิตซีรีส์ให้ความสำคัญกับการต่อยอดการตลาด แฟนเซอร์วิส และการรักษากระแสคู่จิ้น ผ่านการจัดงานแฟนมีต การจัดคอนเสิร์ต และประชาสัมพันธ์บนโลกโซเชียลในหลากหลายช่องทาง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แฟนคลับชาวจีนสามารถติดตามทั้งซีรีส์เรื่องต่อ ๆ ไปของทางค่าย หรือคอยติดตามนักแสดงที่ตนเองชื่นชอบต่อไป โดยที่กระแสคู่จิ้นยังคงอยู่
  7. แม้ซีรีส์วายจะยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลของจีนยังคงมีมาตราการที่คุมเข้ม แต่ซีรีส์วายของไทยก็ช่วยให้สาววายชาวจีนได้รับอิสระในการรับชม

 

ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่า ตลาด Content “ซีรีส์วาย” จะกลายเป็น Mass market ที่สามารถครองใจสาววายได้ และช่วยให้ผู้คนจากทุกเพศทุกวัยเปิดใจยอมรับซีรีส์วายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งตลาดของซีรีส์วายจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญในยุคที่สื่อดิจิทัลแข่งขันกันอย่างเข้มข้น

 

สถานการณ์ซีรีส์วายในประเทศจีน

ในฝั่งประเทศจีน ถึงแม้จะมีซีรีส์วายของประเทศจีนจะมีชื่อเสียงหลายเรื่อง และยังมีกลุ่มสาววายกลุ่มใหญ่ในจีน แต่การรักร่วมเพศยังคงขัดต่อค่านิยมเรื่องการแต่งงานและการมีครอบครัวในสังคมจีนที่ยังมีแนวคิดอนุรักษนิยมอยู่มาก รวมทั้งนโยบายหน่วยงานกำกับดูแลของทางการจีนไม่สนับสนุนผลงานแนวนี้ ผู้ผลิตละครในจีนจึงไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานแนวนี้ออกมาได้อย่างโจ่งแจ้ง เช่นเดียวกับซีรีส์วายจากต่างประเทศก็ถูกควบคุมการนำเข้าไปฉายในประเทศจีน

 

ถึงแม้ซีรีส์วายจะถือเป็น Soft power ให้ประเทศจีนได้ ทั้งเผยแพร่เรื่องราวทางวัฒนธรรมจีน เครื่องแต่งกาย บทกวีและเพลง อาหาร และสถานที่ทางเที่ยวตามเองต่าง ๆ แต่รัฐบาลยังคงมีการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดหากเนื้อหาขัดต่อภาพลักษณ์ที่จีนต้องการนำเสนอ เช่น เนื้อหาที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ หรือมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งผู้คุมกฎสื่อของจีนยังคงทำหน้าที่ควบคุมและสั่งแบนละครแนวผีวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ ความเชื่องมงาย รวมถึงละครวายต่าง ๆ

 

สำนักงานบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศจีน มีหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหารายการที่จะออกอากาศในแต่ละช่องทาง รวมถึงการออกอากาศผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็ยังจำเป็นต้องขออนุญาตและใช้ข้อกำหนดเดียวกันกับละครโทรทัศน์ทั่วไป

 

แม้ว่าในปี 2544 จีนจะถอดถอนพฤติกรรมรักร่วมเพศออกจากอาการจิตเภท และในปี 2540 จีนได้ถอดการกำหนดโทษแก่ผู้มีพฤติกรรมรักร่วมเพศออกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว แต่แนวคิดนี้ยังคงฝังอยู่ในความคิดของคนจีนรุ่นเก่า อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้นตรงกันข้าม กลุ่ม LGBTQ+ ชาวจีนบางส่วนเลือกที่จะเปิดเผยตัวตนเฉพาะบนโลกออนไลน์ และบางคนก็เลือกที่จะออกไปใช้ชีวิตที่ประเทศอื่น

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://mydramalist.com/16549-addicted-heroin

 

การควบคุมซีรีส์วายของจีน

รัฐยังคงปิดกั้นและแบนเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรักของคู่ชายรักชาย รัฐบาลจีนพยายามกวาดล้างซีรีส์ ภาพยนตร์ การ์ตูน และนิยายวาย แม้ว่าตลาดภาพยนตร์และซีรีส์วายจะเติบโตพร้อมทั้งทำรายได้อย่างมหาศาลก็ตาม เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นว่าจีนยังคงไม่เปิดรับ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Call Me by Your Name (以你的名字呼喚我)” ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและคว้ารางวัลมาหลายเวที กลับถูกสั่งห้ามฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปักกิ่ง หรือเว็บซีรีส์อย่างเรื่อง “Addicted (上瘾)” ที่ออกฉายในปี 2016 ด้วยกระแสที่มาแรง ทำให้นักแสดงนำหน้าใหม่กลายเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในวงการบันเทิงของจีนถึงปัจจุบัน ทว่าซีรีส์เรื่องนี้กลับถูกแบนกลางคันใน 3 ตอนสุดท้าย แม้จะให้ฉายในช่องทางออนไลน์ต่อได้ แต่รัฐก็สั่งตัดบางฉาก และสั่งแบนไม่ให้นักแสดงทั้งสองคนร่วมงานกันอีกต่อไป

 

แม้ว่าทางรัฐบาลจีนจะมีมาตรการที่คุมเข้ม แต่เนื่องจากฐานกลุ่มผู้ชมในตลาดมีเป็นจำนวนมาก ผู้สร้างจีนได้ปรับตัวและสร้างผลงานที่จะสามารถผ่านกองเซ็นเซอร์ของรัฐบาลได้ โดยคงเนื้อหาที่สร้างความเอิบอิ่มใจแก่สาววายไว้ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร (陈情令 The Untamed)” ซีรีส์ดังที่ดัดแปลงเนื้อหามาจากนิยายวาย ได้แก้ไขฉากต่าง ๆ  จากคู่รักชายชายให้เหลือเพียงมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชาย ทำให้สามารถเข้าฉายในประเทศจีนได้ แต่ก็ยังทำให้สาววายจิ้นและฟินไปตาม ๆ กัน และสร้างชื่อเสียงโด่งดังออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย

 

รับชมสื่อแนวนี้ในประเทศจีนยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม สาววายบางกลุ่มต้องรับชมสื่ออย่างหลบซ่อน แม้ว่าทางผู้สร้างจะพยายามปรับตัวในการสร้างผลงานแนววายออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดในการเสพสื่อในประเทศจีน ผู้ชมชาวจีนจึงหันมาติดตามชมซีรีส์วายของไทยเป็นจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีของซีรีส์วายของไทยในการตีตลาดกลุ่มสาววายชาวจีน

 

กระแสวายของไทยในตลาดจีน

ที่มาภาพ: https://twitter.com/9_mcot/status/1610185965246775297

 

การส่งออก Soft power และการต่อยอด

จากกระแสอันโด่งดังของซีรีส์วายที่ผ่านมา ช่วยให้ประเทศไทยสามารถส่งออก Soft power ได้หลายประการ ชาวต่างชาติหลาย ๆ คนก็รู้จักวัฒนธรรม อาหาร และวัฒนธรรมต่าง ๆ ผ่านการรับชมซีรีส์วาย เช่น นมสีชมพู ที่ปรากฎในเรื่อง ‘พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง’ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเกิดกระแสตามรอยกินร้านและเมนูต่าง ๆ ตามในซีรีส์ รวมถึงการไปตามรอยสถานที่ที่ซีรีส์ใช้ถ่ายทำ ถือเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย

 

แม้เอกลักษณ์ของซีรีส์วายไทยอาจจะปรากฎออกมาซ้ำ ๆ กันอย่างเรื่องราวความรักในรั้วโรงเรียนนักเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่องค์ประกอบเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนและปลุกกระแสนิยมชุดนักเรียนของไทย รวมถึงชาวจีนที่เริ่มเรียนภาษาไทย หรือเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น หากปรากฏการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยจะกลายเป็นหนึ่งช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จักเพิ่มขึ้น

 

ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐเองได้มองเห็นโอกาสและเข้ามาส่งเสริมอุตสาหกรรมซีรีส์ให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้านสื่อบันเทิง

 

ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้

กระแสซีรีส์วายของจีนได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงมาหลายปี และเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง จากการผลิตด้วยต้นทุนต่ำและผู้สร้างมือใหม่ ได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ผู้สร้างทั้งรายใหญ่และรายเล็กต่างต้องการแย่งชิงพื้นที่ทางการตลาดนี้ เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น และขนาดของตลาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้การผลิตซีรีส์วายของไทยดีมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีเนื้อหาที่แปลกใหม่และหลากหลาย จึงทำให้เป็นที่ชื่นชอบและขยายฐานกลุ่มผู้ชมออกไปเพิ่มขึ้น ไม่เน้นเฉพาะกลุ่มสาววายเพียงเท่านั้น และจากความนิยมส่งผลให้ซีรีส์วายได้ส่งเสริม Soft Power ของไทยออกไปให้ชาวต่างชาติได้รู้จักเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแต่เอกชนเท่านั้นที่มองเห็นโอกาสและมัก Tie-In สินค้าในซีรีส์ การจ้างคู่จิ้นให้ไปออก หรือการจ้างให้เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่าง ๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้หญิงวัยรุ่นเพียงเท่านั้น แต่รัฐบาลเองก็เล็งเห็นโอกาสและวางแผนให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายเป็นสื่อกลางในการช่วยผลักดัน Soft Power ของประเทศไทย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย ซึ่งหากทางผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถนำกระแสของซีรีส์วายนี้มาเป็นการตลาดได้เช่นกัน ทั้งการนำผลิตภัณฑ์ของไทยในซีรีส์วายที่กำลังเป็นที่ต้องการจากผู้ชมเข้ามาจำหน่ายยังประเทศจีน หรือสินค้าที่ทางคู่จิ้นต่าง ๆ ได้ถือหรือประชาสัมพันธ์เข้ามาจำหน่าย หรือการทำธุรกิจต้อนรับชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ไทย ที่ต้องการไปเที่ยวตามรอยสถานที่ในซีรีส์ ซื้อสินค้า หรือลองทานอาหารตามที่พบเจอในซีรีส์ ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถใช้โอกาสจากกระแสวายนี้ได้เช่นกัน

________________________________________________________________________________

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้

วันที่ 5 เมษายน 2567

 

แหล่งที่มา

https://brandinside.asia/china-to-ban-dangai-boylove-series-because-of-fandom-culture/

https://mgronline.com/china/detail/9650000094668

https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/102112

https://thematter.co/social/gender/y-drama-china/91439

https://thematter.co/thinkers/y-culture-and-lgbtq/147689

https://thestandard.co/explore-thai-series-and-dramas-famous-in-abroad/

https://thestandard.co/love-of-siam-to-trending-y-series/

https://today.line.me/th/v2/article/nXv3jNM

https://urbancreature.co/china-ban-y/

https://urbancreature.co/series-y-softpower-or-ruin-entertainment/

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/127987

https://www.bangkokbiznews.com/columnist/987227

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1016063

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/884818

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertainment/1062305

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884794

https://www.dailynews.co.th/articles/3273887/

https://www.douban.com/doulist/19387465/

https://www.gqthailand.com/culture/movie/article/tom-blyth-ready-to-conquer-the-hollywood-sign

https://www.kawebook.com/blog/get-to-know-chinese-yaoi-novel

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/series-y-from-novel

https://www.marketingoops.com/exclusive/insider-exclusive/china-dispose-culture-romantic-delusion/

https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3578334

https://www.ryt9.com/s/prg/3274043

https://www.sanook.com/movie/93041/

https://www.tcjapress.com/2023/03/01/thai-drama/

https://www.thairath.co.th/entertain/news/2530016

https://www.voicetv.co.th/read/65472#google_vignette

Shi, Y. (2020). An analysis of the popularity of Thai television drama in China, 2014–2019. Proceedings of the 2020 3rd International Conference on Humanities Education and Social Sciences (ICHESS 2020). https://doi.org/10.2991/assehr.k.201214.587

thThai