จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้าบรั่นดีพื้นเมือง (Pisco) และยาสูบในประเทศเปรู ทำให้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) บังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในส่วนของภาษีเพื่อการบริโภคเฉพาะอย่าง (Selective Consumption Tax: ISC) ในสินค้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567    เพื่อป้องกันและลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบในกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติและการศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารและภาวะความอ้วนและน้ำหนักเกินมาตรฐานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) พบว่าอัตราการบริโภคสินค้าดังกล่าวในกลุ่มเยาวชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ อัตราภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ 030-2024-EF/15 ซึ่งมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น El Peruano ที่เห็นว่าการปรับเพิ่มอัตราภาษี ISC ต่อสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบของรัฐบาลเปรู เป็นการป้องกันผลกระทบด้านลบของการบริโภคสินค้าดังกล่าวในกลุ่มเยาวชน

 

อัตราภาษี ISC ของสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 และทยอยเพิ่มขึ้นจนถึงระดับภาษี ISC สูงสุดที่รัฐบาลกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับอัตราภาษี  ISC พิจารณาควบคู่กับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ระหว่างร้อยละ 8.56 ในปี 2565 และร้อยละ 3.41 ในปี 2566 อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวภายในประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องชะลอการบังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดี การปรับปรุงรายการสินค้าเพื่อปรับเพิ่มอัตราภาษีเพื่อการบริโภค มิได้ดำเนินการเป็นประจำทุกปี โดยการปรับปรุงรายการสินค้าจะต้องพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 1 (ราคาของสินค้าที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่เกี่ยวข้องที่มีการเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 1 ในปีก่อนการปรับปรุงรายการ) ทั้งนี้ รายการสินค้าเครื่องดื่มเบียร์มีการจัดเก็บภาษี ISC คงที่ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2564 ส่วนสินค้ายาสูบและเหล้าบรั่นดีพื้นเมือง (Pisco) มีการจัดเก็บภาษี ISC คงที่ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2565[1] โดยภาษี ISC จะถูกจัดเก็บกับบุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขายหรือนำเข้าสินค้าและบริการ ซึ่งผู้เสียภาษีดังกล่าวจะต้องชำระให้กับหน่วยงานศุลกากรและหน่วยบริหารการภาษี (National Superintendence of Customs and Tax Administration: SUNAT) เป็นรายเดือน

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ภูมิภาคลาตินอเมริกามีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุดในโลก เมื่อพิจารณาจากอัตราการบริโภคต่อคน โดยผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ 7.5 ลิตรต่อคนต่อปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการบริโภคแอลกอฮอล์ทั่วโลกอยู่ที่ 5.55 ลิตรต่อคนต่อปี

ประเทศในภูมิกาคลาตินอเมริกามีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่าค่าเฉลี่ยการบริโภคของโลก โดยประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาร์เจนตินา (8 ลิตรต่อคนต่อปี) บราซิล (7.7 ลิตรต่อคนต่อปี) และเปรู (7.5 ลิตรต่อคนต่อปี) ตามลำดับ ทั้งนี้ เบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีการบริโภคสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา และในประเทศเปรู โดยจากข้อมูลของสมาคมผู้ขายและจัดจำหน่ายเบียร์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของเปรู พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มเบียร์ในเปรูมีปริมาณ 47 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเทียบเท่าปริมาณเบียร์ขนาด 335 มิลลิลิตร จำนวน 129 กระป๋อง หรือเบียร์บรรจุขวดในปริมาณมาตรฐาน จำนวน 73 ขวด โดยแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด ได้แก่  Cristal, Pilsen and Cusqueña ตามลำดับ ซึ่งผู้บริโภคชาวเปรูนิยมบริโภคเบียร์ที่ให้ความสดชื่นและมีรสชาติขมในปริมาณปานกลาง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเบียร์ของเปรู โดยในช่วงระหว่างปี 2564 – 2565 เปรูนำเข้าเบียร์ลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -4.6 และในช่วงปี 2565 – 2566 นำเข้าเบียร์ลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -6.2 รวมทั้งการผลิตเบียร์ภายในประเทศมีปริมาณลดลง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.1 ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2566 อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเปรูจากปรากฏการณ์เอลนิญโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น และคลื่นความร้อนที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายเบียร์เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 – 50 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเพิ่มปริมาณการจัดเก็บภาษี ISC อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศของเปรูให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเดิมหรือลดลง โดยในส่วนของราคาขายปลีกจะเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินกว่าร้อยละ 3 ของราคาขายปลีกเดิม ซึ่งเป็นราคาที่ผู้จัดจำหน่ายยังคงรับได้ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษี ISC เพิ่มขึ้นส่งให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ดีของประชาชน โดยการจัดเป็บภาษีเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นมาตรการทางการคลังและเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสาธารณะที่สามารถพบเห็นได้ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านสถานะทางการเงินของรัฐบาล

จากการอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเปรู แม้รัฐบาลจะมีดำเนินมาตรการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม แต่ สคต.ฯ คาดว่าสินค้าเครื่องดื่มเบียร์ยังคงมีโอกาสที่ดีในตลาดเปรู เนื่องจากอัตราเฉลี่ยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเปรูอยู่ที่ 7.5 ลิตรต่อคนต่อปี สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคลาตินอเมริกา และจำนวนประชากร 33 ล้านคน จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ผลิตเบียร์ของไทยในการขยายตลาดไปยังเปรู ซึ่งผู้บริโภคชาวเปรูส่วนใหญ่นิยมสังสรรค์ระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดต่าง ๆ ตลอดปี รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างวันธรรมดาหลังเลิกงานด้วย โดยเครื่องดื่มเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทหนึ่งที่ดื่มง่าย และมีราคาถูก ทำให้ชาวเปรูนิยมดื่มเบียร์ในโอกาสต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาถึงการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเบียร์ นำเสนอเบียร์ที่มีรสชาติแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้ในตลาดเปรู และควรมีการกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเบียร์ที่จำหน่ายในตลาดเปรูมีความหลากหลายทั้งเบียร์ที่ผลิตในประเทศและเบียร์ที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งจากยุโรปและเอเชีย เช่น แบรนด์ Orion, Karuizama, Supporo, Asahi, Kooksoon เป็นต้น และในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้ประกอบการไทยสามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางของร้านอาหารไทย เพื่อให้ผู้บริโภคชาวชิลีที่ชื่นชอบอาหารไทยได้มีประสบการณ์ดื่มเบียร์จากประเทศไทยด้วย รวมทั้ง ช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ หรือ e-Commerce

____________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

เมษายน 2567

[1] An international Argentine online newspaper – https://www.infobae.com/peru/2024/01/31/precios-de-cerveza-y-cigarrillos-subiran-por-aumento-de-impuestos-a-partir-de-marzo-esto-es-lo-que-le-costaran/

Pan American Health Organization – https://www.paho.org/es/node/78227

thThai