โครงสร้างประชากรของเยอรมนีจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดในอนาคต

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโครงสร้างประชากรเยอรมันจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลในหนังสือ “Wegweiser Kommunen (คู่มือแนะนำประจำเมือง)” ของมูลนิธิ Bertelsmann Stiftung ที่เพิ่งจะเผยแพร่ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงว่า จำนวนประชากรในบางรัฐของเยอรมนีจะขยายตัวขึ้น แต่บางรัฐประชากรอาจหดตัวจนน่ากังวล สำหรับจุดเริ่มต้นในการประมวลข้อมูลก็คือ เมืองที่มีประชากรอย่างน้อย 5,000 คน และทุกจังหวัดในเยอรมนี โดยมูลนิธิฯ ได้คาดการณ์ค่าการขยายตัวประชากรผ่านจากตัวเลขในอดีต นอกจากนี้ ยังได้นำการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัย เช่น ผู้ลี้ภัยอันเป็นผลมาจากสงครามในยูเครน ก็ถูกนำมาพิจารณาในสมมติฐานนี้ร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามการคาดการณ์ จะพบว่า “ในอีก 16 ปีข้างหน้า เยอรมนีจะมีประชากรจำนวน 83.67 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.6% จากปี 2020 หรือกล่าวได้ว่า เยอรมนีจะมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณครึ่งล้านคน ภายในปี 2040 นั่นเอง” นักวิจัยอธิบายว่า “จำนวนประชากรที่คาดการณ์ในปี 2040 นั้น ต่ำกว่าตัวเลขที่สำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ประมาณการไว้ในปี 2023” โดยกล่าวว่า การขยายตัวของประชากรโดยทั่วไปไม่ได้ดำเนินไปเป็นเส้นตรง ตามการคำนวณของมูลนิธิ Bertelsmann จำนวนทั้งหมดจะลดลงอีกครั้งหลังจากที่มีการเพิ่มขึ้นช่วงสั้น ๆ

 

ในปี 2040 ในบางภูมิภาคโดยเฉพาะในฝั่งเยอรมันตะวันออก จำนวนประชากรในภูมิภาคดังกล่าวจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่รัฐอย่างรัฐ Sachsen-Anhalt (-12.3%) และรัฐ Thüringen (-10.9%) เป็นรัฐที่ประชากรมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างหนัก แต่เบอร์ลิน (+5.8%) และฮัมบูร์ก (+3.5%) จะต้องเตรียมรับมือกับการเพิ่มขึ้นของประชากร เช่นเดียวกับรัฐ Baden-Württemberg (+4.6%) และรัฐ Bayern (+4%) ที่ต่างก็ต้องเตรียมตัวรับการเพิ่มขึ้นของประชากรเช่นกัน ในเวลาเดียวกันอายุโดยเฉลี่ยของประชากรเยอรมันก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงได้ ในรายงานกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ในหลาย ๆ เมืองจะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะการขยายตัวของประชากร” ซึ่งเยอรมันตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาดังกล่าวหนักเป็นพิเศษอยู่แล้ว เพราะมีการสูญเสียประชากรอย่างหนัก นักวิจัยของมูลนิธิ Bertelsmann ได้ยกตัวอย่างรัฐ Sachsen-Anhalt ที่น่าจะเป็นรัฐหลักที่สูญเสียประชากรจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในภูมิภาคดังกล่าวก็มีการลดตัวของประชากรแตกต่างกันไป เช่นในเมือง Magdeburg เมืองหลวงของรัฐ (-19%) และเมือง Halle/Saale (-2.5%) มีการลดตัวลงน้อยกว่าอัตราเฉลี่ย เป็นต้น แต่เรื่องที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าก็คือ ตัวเลขผู้ประกอบอาชีพในปี 2040 ที่มีจำนวนลดลงอย่างหนัก แม้ว่าจะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิ Bertelsmann คาดการณ์ว่า สังคมเยอรมันจะมีผู้สูงอายมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากการคำนวณพบว่า เมื่อปี 2022 มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็นสัดส่วนที่ 22% ของประชากรของประเทศ แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด แม้ว่าการขยายตัวจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วทั้งประเทศ โดยปัจจัยหลักก็คือ กลุ่ม Baby Boomer จำนวนมากจะทยอยเกษียณอายุตาม ๆ กัน และจากการคำนวณแสดงให้เห็นว่าในปี 2035 จะมีคนเกษียณอายุมากถึง 16.2 ล้านคน ซึ่งในปี 2020 เยอรมนีมีประชากรที่มีอายุระหว่าง 65 – 79 ปีอยู่ที่ 12.3 ล้านคน เท่านั้น นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้ที่มีอายุข้างต้นในปี 2020 อยู่ที่ 14.8% หรือจะเพิ่มขึ้นเป็น 19.3% ในปี 2035 นั่นเอง

 

โครงสร้างอายุของประชากรมีความแตกต่างกันมากอย่างไร สามารถดูได้จาก “อายุมัธยฐาน” (Median Age) คือ อายุกึ่งกลางที่แบ่งประชากรออกเป็นสองส่วนในจำนวนเท่ากัน โดยด้านหนึ่งมีอายุน้อยกว่าอายุมัธยฐาน และอีกด้านหนึ่งมีอายุมากกว่าอายุมัธยฐาน ซึ่งปรากฏว่า ในปี 2040 อายุมัธยฐานโดยเฉลี่ยทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น 1.2 ปี เป็น 47.1 แต่ค่าอายุมัธยฐานระหว่างรัฐต่อรัฐ จะมีความแตกต่างกันมาก คือ เกือบสิบปีเลยทีเดียว อย่างเช่นใน Hamburg และกรุงเบอร์ลิน ในอีก 16 ปีข้างหน้า อายุมัธยฐานอยู่ที่ 43 ปีโดยประมาณ แต่ใน 4 ใน 5 รัฐในภาคตะวันออกของประเทศอายุมัธยฐานอยู่ระหว่าง 52 ถึง 53 ปี นักวิจัยคาดการณ์ว่า การพัฒนาการในลักษณะนี้มีผลกระทบ “แบบมีนัยยะสำคัญ” โดยผลกระทบนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อจำนวนผู้ที่จะสามารถประกอบอาชีพในอนาคตเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับระบบบำนาญ และจำนวนประชากรที่ต้องการรับการดูแลอีกด้วย ด้านนาย Ralph Heck ซึ่งเป็น CEO ของมูลนิธิ Bertelsmann เรียกร้องให้ ภาคการเมืองออกมาดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยกล่าวว่า “ตอนนี้เราต้องการยุทธศาสตร์จากรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต และเพื่อเอาชนะความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน” โดยรัฐบาลกลางเยอรมันเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเริ่มหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวบ้างแล้ว เมื่อเร็ว ๆ นี้ นาย Hubertus Heil รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนาย Christian Lindner รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอแผนการปฏิรูปเพื่อรักษาระดับเงินบำนาญขั้นต่ำไว้ที่ 48% จากเงินเดือนสุดท้าย (หากชำระเบี้ยบำนาญครบตามจำนวนปีที่กำหนด) อย่างถาวร นาย Rainer Dulger ประธานสมาคมผู้จ้างงานเยอรมนี (BDA – Bundesvereinigung der Deutschen Arbeitgeberverbände) ได้วิจารณ์แผนการดังกล่าวว่า เป็น “การปฏิรูปกฎหมายทางสังคมที่มีราคาแพงที่สุดในศตวรรษ” และเรียกร้องให้ยุติโครงการนี้ “ทันที” ในระหว่างที่นาง Gundula Roßbach ประธานบริษัทประกันบำนาญเยอรมนี (DRV – Deutsche Rentenversicherung) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทภายใต้กฎหมายมหาชน (เยอรมนี) ผู้ดูแลเงินบำนาญของทุกรัฐทั่วประเทศมองว่า การบริหารจัดการเงินบำนาญในปัจจุบันมี “สถานะทางการเงินที่ดีมาก” จากมุมมองของนาง Roßbach ในปัจจุบันตลาดแรงงานที่ความมั่นคง และการอพยพของแรงงานมีปริมาณเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิสูจน์ว่า เงินบำนาญตามกฎหมายสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคตจะยังคงมีความมั่นคงอยู่

 

ในอนาคตจะเกิดการขาดแคลนแรงงานในเยอรมนีอย่างหนัก โดยในทุกรัฐของประเทศจำนวนผู้ที่มีแนวโน้มจะสามารถประกอบอาชีพได้จะลดลงเรื่อย ๆ นักวิจัยของมูลนิธิ Bertelsmann เขียนในรายงานว่า “ในกลุ่มแรงงานที่มีอายุสูงกว่าอัตรากลาง (45 ปี) เริ่มมีการลดตัวลงของแรงงานอย่างเห็นได้ชัดแล้ว” ในส่วนแรงงานที่มีอายุต่ำกว่าอัตรากลาง จะเริ่มลดตัวลงในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 โดยนักวิจัยคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2020 – 2040 อนาคตแรงงานที่มีอายุระหว่าง 25 – 44 ปี น่าจะลดลง 1.6 ล้านคน หรือเป็นการตัวลงถึง 7.7% ในขณะที่แรงงานในกลุ่มอายุระหว่าง 45 – 64 ปี น่าจะลดลง 3.2 ล้านคน หรือลดลง 13.3% เลยทีเดียว โดยภูมิภาคในแถบฝั่งตะวันออกของประเทศได้รับผลกระทบจากการพัฒนาตัวนี้มากที่สุด นักวิจัยคาดการณ์ว่า แรงงานในอนาคตที่มีอายุระหว่าง 25 – 64 ปี ในภูมิภาคดังกล่าวจะลดตัวลงถึง 23.6% ซึ่งในกรณีดังกล่าวค่าประมาณการณ์ของมูลนิธิ Bertelsmann มีความสอดคล้องกับค่าประมาณการของสำนักงานสถิติฯ โดยในรายงานของสำนักงานสถิติฯ ในปี 2023 แจ้งว่า ภาคตะวันออกของประเทศจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักแม้ว่าจะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นก็ตาม สำนักงานสถิติฯ ให้เหตุผลที่แรงงานจะหดตัวลงขนาดนี้เกิดจาก ปัญหาโครงสร้างอายุแรงงานในฝั่งตะวันออกในปัจจุบัน โดยหลังจากที่มีการรวมประเทศ (1989) จำนวนประชากรที่เกิดใหม่ในภูมิภาคดังกล่าวลดตัวลงอย่างกระทันหัน นอกจากนี้ก็มีการย้ายถิ่นฐานออกจากภูมิภาคดังกล่าวเป็นจำนวนมากเป็นเวลาติดต่อกันมากกว่าสิบปี นาง Bettina Sommer ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานสถิติฯ ที่ตั้งอยู่ในเมือง Wiesbaden กล่าวว่า “แม้ว่าในอนาคตอาจจะมีจำนวนผู้อพยพสูงคงที่อย่างเช่นในปัจจุบันแต่จำนวนดังกล่าวก็ไม่น่าจะเพียงพอกับความต้องการแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้”

 

นักวิจัยของ Bertelsmann ยังคาดการณ์ว่า ปัญหาประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับจำนวนแรงงานที่มีศักยภาพที่ลดลง จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้นโดยอัตโนมัติ การขาดแคลนแรงงาน และแรงงานมีฝีมือหลายล้านคนจะกลายเป็นภาระหนักต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี จากรายงานเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในภาคดิจิทัลของสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี (IW – das Institut der deutschen Wirtschaft) แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวรุนแรงเพียงใด ภายในปี 2027 เยอรมนีอาจเกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับธุรกิจดิจิทัลจำนวน 128,000 คนโดยประมาณ ซึ่งตัวเลขนี้จะสูงกว่าระดับสูงสุดในปี 2022 ที่ขาดแคลนแรงงานดังกล่าวที่ 123,000 คน ซึ่งในเวลานั้นภาคเอกชนไม่สามารถหาพนักงานมาทำงานในตำแหน่งที่ประกาศรับสมัครงานถึง 2 ใน 3 ตำแหน่ง ล่าสุดรัฐบาลกลางเยอรมันได้ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อดึงดูดพลเมืองนอกสหภาพยุโรปเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ได้ประกาสใช้บังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองของแรงงานที่มีทักษะเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตผู้คนจากประเทศที่สาม (นอกสหภาพยุโรป) จะสามารถทำงานในประเทศเยอรมนีได้ง่ายขึ้น หากพวกเขามีประสบการณ์วิชาชีพอย่างน้อย 2 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับวิชาชีพหรือมหาวิทยาลัยที่รัฐในประเทศต้นทางยอมรับ โดยไม่จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมใด ๆ ที่เป็นที่ยอมรับในประเทศเยอรมนีเพิ่มเติม

 

จาก Handelsblatt 29 เมษายน 2567

thThai